ประเด็นตัดสินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ประเด็นตัดสินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

อีกสองสัปดาห์ข้างหน้าคือ วันที่ 5 พฤศจิกายน 67 จะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่คนทั้งโลกกําลังติดตาม

ล่าสุดคะแนนนิยมของสองผู้สมัครคือ คามาลา แฮร์ริส (Kamela Harris) พรรคเดโมแครต กับ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) พรรครีพับลิกัน สูสีกันมาก คือร้อยละ 48 กับร้อยละ 48

รายงานโดยสํานักข่าว NBC สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นของคนอเมริกัน ที่ขณะนี้ดูจะต่างกันแบบครึ่งๆ ในเกือบทุกเรื่อง 

สําหรับการเลือกตั้งคราวนี้ในความเห็นของผม ประเด็นที่น่าจะเป็นปัจจัยตัดสินผลการเลือกตั้งในที่สุดก็คือเรื่องเศรษฐกิจ และนี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

วันที่ 5 พฤศจิกายน ประชาชนสหรัฐอเมริกาประมาณ 240 ล้านคนใน 50 รัฐ จะลงคะเเนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศคนใหม่ ซึ่งล่าสุดคะแนนนิยมของผู้สมัครหลัก คือ คามาลา แฮร์ริส กับ โดนัลด์ ทรัมป์ จากผลสํารวจของหลายๆ สำนักสูสีกันมาก

เช่น ผลสำรวจที่รายงานโดยสํานักข่าว NBC เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ให้ตัวเลขผู้สนับสนุน คามาลา แฮร์ริส ที่ร้อยละ 48 และ โดนัลด์ ทรัมป์ ร้อยละ 48 ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตามในระบบเลือกตั้งสหรัฐ คะแนนนิยมสูงสุดที่ผู้สมัครได้รับจากประชาชนหรือ Popular vote ไม่ใช่ตัวตัดสินการเข้ารับตําแหน่งประธานาธิบดี

แต่ตัวตัดสินคือ จํานวนคณะเลือกตั้งหรือ Electoral College ที่ผู้สมัครได้จากการลงคะแนนเสียงของประชาชนในแต่ละรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐจะมีจํานวนคณะเลือกตั้งต่างกันตามขนาดของประชากร ในทั้ง 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา คณะเลือกตั้งทั้งหมดมี 538 คน และผู้ชนะจะต้องได้จํานวนคณะเลือกตั้งอย่างน้อย 270 คน คือเกินครึ่ง

ที่ผ่านมา คะแนนสนับสนุนที่ประชาชนลงให้กับผู้สมัครพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันใน 43 รัฐของประเทศ ถือว่าค่อนข้างแน่นอน ทําให้ตัวตัดสินตำแหน่งประธานาธิบดีจะมาจากการลงคะแนนในอีก 7 รัฐ ที่ถือว่าเป็นรัฐตัวแปร

เพราะคะแนนสนับสนุนที่ทั้งสองพรรคใหญ่ได้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะไม่แน่นอน กลับไปกลับมาได้ เป็นผลส่วนหนึ่งจากการลงคะแนนของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจใน 7 รัฐนี้

 นี่คือ Swing States หรือรัฐผันแปร ได้แก่ Arizona, Nevada, Pennsylvania, Michigan, Wisconsin, North Carolina และ Georgia ทั้ง 7 รัฐมีจํานวนคณะเลือกตั้งรวมกัน 93 คน เท่ากับ 17 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ถือเป็นสนามรบที่แท้จริงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 

ตัวอย่างเช่นปี 2559 ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ก็มาจากชัยชนะใน 6 รัฐผันแปรจากทั้งหมด 7 รัฐ และในการเลือกตั้งปี 2563 ที่โจ ไบเดน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีก็มาจากชัยชนะในรัฐผันแปร 6 รัฐจาก 7 รัฐเช่นกัน

คราวนี้ในการเลือกตั้งวันที่ 5 พฤศจิกายนก็คงจะเช่นกัน คําถามคือ อะไรคือปัจจัยที่คนอเมริกันให้ความสําคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งคราวนี้ในที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจในรัฐผันแปรทั้ง 7 รัฐที่กล่าว

ในเรื่องนี้ต้องตระหนักว่า แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศมหาอํานาจที่มีบทบาทสูงในสังคมเศรษฐกิจโลก

แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนอเมริกันในการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีแทบทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยหรือเรื่องภายในประเทศเป็นหลัก จะยกเว้นก็เฉพาะถ้าเรื่องนั้นกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนอเมริกันโดยตรง

เช่น กรณีสงครามเวียดนาม ที่สมัยนั้นรัฐบาลสหรัฐส่งเยาวชนของตนไปรบในเวียดนาม แต่นอกจากกรณีนี้ปัจจัยภายในประเทศจะเป็นตัวตัดสินหลักเสมอ

คราวนี้ก็เช่นกัน ผลสำรวจ Gallop poll เมื่อวันที่ 16-28 กันยายนชี้ว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลงทะเบียนลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและท่าทีของผู้สมัครในเรื่องเศรษฐกิจในการเลือกตั้งคราวนี้ในระดับมากสุดๆ คือ Extremely important และอีก 38 เปอร์เซ็นต์ให้ความสำคัญในระดับสําคัญมาก หรือ Very important 

รวมแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลงทะเบียนลงคะเเนนเลือกตั้งให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาก็เรื่องประชาธิปไตยในสหรัฐ (49%) การก่อการร้ายและความมั่นคงของประเทศ (42%) จึงชัดเจนว่าเรื่องเศรษฐกิจอยู่ในใจของคนอเมริกันมากสุดในการเลือกตั้งคราวนี้

เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจ ใครที่ติดตามเศรษฐกิจสหรัฐและสนับสนุนผู้สมัครพรรคเดโมแครตคงรู้สึกสบายใจ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ดูเข้มแข็ง เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อลดลง อัตราดอกเบี้ยลดลง และอัตราการว่างงานตํ่าที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งภาวะเช่นนี้ดูจะเป็นประโยชน์ต่อ คามาลา แฮร์ลิส ผู้สมัครพรรคเดโมแครต

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจเดียวกันในคําถามเรื่องเศรษฐกิจ ร้อยละ 59 รู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่ลง และมีเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนร้อยละ 51 มองว่าวันดีๆของเศรษฐกิจสหรัฐกําลังจะมา คือเศรษฐกิจจะยิ่งดีขึ้น

ขณะที่ ร้อยละ 47 มองว่าวันดีๆ ของเศรษฐกิจได้ผ่านไปแล้ว คือ เศรษฐกิจจะมีแต่แย่ลง และร้อยละ 46 มองว่าทรัมป์จะดูแลเรื่องเศรษฐกิจได้ดีกว่า ขณะที่ตัวเลขของแฮร์ริสอยู่ที่ 36 เปอร์เซ็นต์ นี่คือความเห็นของคนอเมริกันขณะนี้ในเรื่องเศรษฐกิจ

จึงชัดเจนว่ายังมีความไม่แน่นอนในผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาอย่างไร เพราะความเห็นที่แตกต่างเรื่องเศรษฐกิจ และประเด็นที่ทําให้คะแนนนิยมของสองผู้สมัครขณะนี้สูสีกันมากก็คือความรู้สึกของคนอเมริกันว่า เศรษฐกิจขณะนี้ไม่ดีทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นทุกด้าน 

 และที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะความเหลื่อมลํ้าที่มีในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจให้ผลกับคนอเมริกันไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่มาตรฐานความเป็นอยู่ถูกกระทบมากช่วงสองปีที่ผ่านมา จากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ทําให้รายได้แท้จริงลดลง ภาระผ่อนบ้านผ่อนรถมีมากขึ้น ความเป็นอยู่ลําบากขึ้นจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น จึงไม่รู้สึกดีขึ้นเหมือนตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม

ในความเห็นของผม นี่คือประเด็นที่จะมีผลอย่างสําคัญต่อการเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน และผู้ที่จะตัดสินเรื่องนี้ก็คือผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนเลือกใครใน 7 รัฐผันแปรที่พูดถึงว่า รู้สึกอย่างไรกับภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ 

ซึ่งแต่ละคนคําตอบคงต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคนว่าเป็นใคร เป็นเจ้าของธุรกิจหรือลูกจ้างและเป็นลูกจ้างแบบไหน แบบเสื้อเชิ้ตขาวมีการศึกษาหรือแบบเสื้อนํ้าเงินที่การศึกษาน้อย และอยู่ในวัยไหน รวมถึงมีประเด็นเฉพาะตัวเฉพาะพื้นที่หรือไม่ เช่น เรื่องผู้อพยพ การทําแท้ง ที่จะมีผลหรือกระทบการตัดสินใจ

เหล่านี้คือความลึกซึ้งและความแตกต่าง ที่ทําให้การเลือกตั้งในสหรัฐคราวนี้คาดเดาผลยาก แต่อย่างน้อยข้อมูลและสิ่งที่วิเคราะห์ในบทความนี้น่าจะช่วยให้เราติดตามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าได้อย่างมีหลักมากขึ้น.

ประเด็นตัดสินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]