‘ลาว’ เปิด ‘ธนาคารทองคำ’ พ.ย.นี้ สู้วิกฤติเงินเฟ้อ พยุงเงินกีบอ่อนค่า

‘ลาว’ เปิด ‘ธนาคารทองคำ’ พ.ย.นี้ สู้วิกฤติเงินเฟ้อ พยุงเงินกีบอ่อนค่า

‘ลาว’ ตั้ง ‘ธนาคารทองคำ’ แห่งแรกในอาเซียน ธนาคารลาวบูลเลี่ยน เปิดทำการเต็มรูปแบบพ.ย.นี้ สู้วิกฤติเงินเฟ้อ เงินกีบอ่อนค่า หนุน GDP โต 15% ต่อปี

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า สปป.ลาว ได้เปิดตัว “ธนาคารลาวบูลเลี่ยน” (LBB) ธนาคารทองคำแท่ง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหา “เงินกีบอ่อนค่า” เปิดทางให้บุคคล และนิติบุคคลสามารถนำทองคำมาฝาก และใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินอื่นๆ เต็มรูปแบบเดือน พ.ย.นี้

LBB ณ เมืองเวียงจันทน์ เป็นธนาคารทองคำแห่งแรกในอาเซียนตามการอ้างของสมาคมตลาดค้าทองคำ (Bullion Market Association) ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเกิดขึ้นจากกระทรวงการคลังของประเทศลาวและบริษัทพีทีแอล โฮลดิงส์ จำกัด (PTL Holding) สัญชาติลาว

 

วัดทะนา ดาลาลอย” รองผู้ว่าการธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (BOL) ได้เปิดเผยถึงการจัดตั้ง LBB  ขึ้นเพื่อใช้ทองคำสำรองของประเทศที่มีปริมาณมากถึง 500-1,000 ตัน ในการเพิ่มปริมาณสำรองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบการเงินการคลังของประเทศและยกระดับเศรษฐกิจของลาวให้เติบโตอย่างยั่งยืน

‘ลาว’ เปิด ‘ธนาคารทองคำ’ พ.ย.นี้ สู้วิกฤติเงินเฟ้อ พยุงเงินกีบอ่อนค่า

หวังดัน GDP ลาวโต 15% ต่อปี

จันทร สิทธิชัย ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัดเผยว่า BBL จัดตั้งเพื่อประคับประคองค่าเงินกีบให้แข็งค่ามากขึ้น และยกระดับเศรษฐกิจของสปป.ลาว  ซึ่งแท้จริงแล้วจีดีพีของ สปป.ลาว ควรมีขนาดใหญ่มากกว่านี้ เนื่องจากยังมี “เศรษฐกิจนอกระบบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าทองคำของประชาชนที่อยู่ตามบ้านของประชาชนชาว สปป.ลาวนั้นสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น เมื่อนำมูลค่าทองคำของประชาชนทั้งหมดในประเทศจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์ รวมเข้ากับจำนวนเงินฝากทั้งหมดในประเทศซึ่งอยู่ที่ 18,000 – 20,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้เกิดสภาพคล่องในประเทศมหาศาลและดันให้เศรษฐกิจ สปป.ลาว มีโอกาสโต 10-15% ต่อปี

‘ลาว’ เปิด ‘ธนาคารทองคำ’ พ.ย.นี้ สู้วิกฤติเงินเฟ้อ พยุงเงินกีบอ่อนค่า

ทั้งนี้ LBB มีเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ London Bullion Market Association (LBMA) ซึ่งเป็นสมาคมมาตรฐานระดับโลกในอุตสาหกรรมทองคำ  ซึ่งการได้รับการรับรองจาก LBMA จะเป็นการตอกย้ำคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ทองคำของ LBB ในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก

‘เงินเฟ้อ-กีบอ่อน’ กดดันเศรษฐกิจ

ความตรึงเครียดระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.2567 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงและอาหาร เนื่องจากลาวพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเหล่านี้เป็นหลัก ทำให้ราคาน้ำมันและธัญพืชในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย พบว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของลาว ณ เดือนมิ.ย.อยู่ที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้จะสามารถครอบคลุมการนำเข้าได้ประมาณ 2 เดือน แต่ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะอยู่ที่ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

เคนิชิโร ยามาดะ จากสำนักงานองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นในเวียงจันทน์มองว่า การที่รัฐบาลลาวให้การสนับสนุน LBB ในการประเมินราคาทองคำ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดทองคำของลาวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ LBB สามารถดึงดูดลูกค้าทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาใช้บริการและบริหารจัดการสินทรัพย์ทองคำได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากในลาวแห่ซื้อทองคำเพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนที่ปลอดภัยกว่าสกุลเงินกีบที่อ่อนค่าลงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับเงินบาทของไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางราคาทองคำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 

ชายวัย 34 ปี เจ้าของร้านขายอาหารว่างเลือกเปลี่ยนเงินเป็นทองคำเพราะความต้องการทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นต่างจากเงินกีบ

ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าส่งผลให้ราคาสินค้าที่นำเข้าสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในลาวพุ่งสูงถึง 31.2% ในปี 2566 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หญิงวัย 22 ปีที่ขายอาหารและของใช้ในตลาดเวียงจันทน์เผยว่า ได้ขึ้นราคาไข่ไก่มาแล้ว 4 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2566 ทำให้ราคาไข่ไก่แพงขึ้น 2 เท่า เนื่องจากราคาอาหารสัตว์นำเข้าจากประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น