IMF เตือนเสี่ยงสงครามการค้าโลก ขณะทรัมป์หาเสียงขึ้นภาษี
ผู้บริหาร IMF ให้สัมภาษณ์บีบีซี เศรษฐกิจโลกเสี่ยงหดตัวเท่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสกับเยอรมนีรวมกัน หากเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้สัมภาษณ์ว่าหาก เกิดสงครามการค้าระหว่างเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก เศรษฐกิจโลกอาจจะหดหายไปประมาณ 7% หรือเทียบเท่ากับเศรษฐกิจฝรั่งเศสและเยอรมนีหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจโลก
ขณะที่มีความกังวลกันว่า สงครามการค้าดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้น หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2
ทรัมป์กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าหรือภาษีศุลกากรสูงถึง 20% สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาในสหรัฐทั้งหมด ขณะที่สหภาพยุโรปก็กำลังวางแผนขึ้นภาษีตอบโต้หากวอชิงตันเดินหน้าจัดเก็บภาษีใหม่จริง
สัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์กล่าวว่า “ภาษีศุลกากรเป็นคำที่ไพเราะ ที่สุดในพจนานุกรม” และขณะนี้ตลาดโลกและบรรดารัฐมนตรีกระทรวงการคลังทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดดังกล่าวอย่างจริงจัง
กิตา โกปินาถ รองกรรมการผู้จัดการ IMF กล่าวว่า กองทุน IMF ยังไม่สามารถประเมินรายละเอียดแผนการค้าของทรัมป์ได้ แต่คิดว่า “หากมีการแบ่งขั้วการค้ากันอย่างจริงจังและขึ้นภาษีศุลกากรในวงกว้าง อาจทำให้จีดีพีของโลกลดลง เกือบ 7%”
“ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมาก โดย 7% หมายถึงเศรษฐกิจของฝรั่งเศสและเยอรมนีหายไปจากระบบเศรษฐกิจโลก” นั่นคือขนาดของความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น" เธอกล่าวและว่าภาษีศุลกากรที่มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ “นั้นแตกต่างอย่างมากจากโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ ตลอดสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา”
รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวเสริมว่า เรื่องหลักอีกประการหนึ่งในการประชุมประจำปีของ IMF คือการเตือนเกี่ยวกับระดับหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นมาก ช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงในปัจจุบันเป็น “ช่วงเวลาในการสร้างแนวกันชนด้านการคลังใหม่” เนื่องจาก “นี่จะไม่ใช่วิกฤติครั้งสุดท้าย แต่จะมีแรงกระแทกเพิ่มเติม คุณจะต้องมีพื้นที่ทางการคลังเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติ และตอนนี้ เป็นเวลาที่จะต้องทำ”
แต่นางโกปินาถกล่าวว่าจำเป็นต้อง “มองในแง่ดี” ด้วยว่า เศรษฐกิจโลกนั้นแข็งแกร่งและยืดหยุ่นหลังจากต้อง “เผชิญปัญหาหนักหนาสาหัสหลายครั้ง”
เธอ ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวลจากวิกฤติหลายครั้ง
“ประสบการณ์ในอดีตในการลดอัตราเงินเฟ้อ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวลงอย่างนุ่มนวล แต่ทำให้การว่างงานพุ่งขึ้นมาก ดังนั้นจึงมีผลกระทบรุนแรงมากในอดีต ส่วนครั้งนี้ ผลออกมาดีกว่าที่หลายคนกลัวกันมาก”
นางโกปินาถกล่าวด้วยว่า “ถือเป็นชัยชนะที่สำคัญ” สำหรับธนาคารกลางทั่วโลกที่สามารถดึงอัตราเงินเฟ้อลงโดยไม่มีการว่างงานสูง แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่จะสร้างความแข็งแกร่งขึ้นใหม่ในโลกที่เปราะบาง