ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน ‘อาเซียน’ ส่งออกไป ‘สหรัฐ’ มากกว่าจีน

ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน ‘อาเซียน’ ส่งออกไป ‘สหรัฐ’ มากกว่าจีน

มาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าจีนของรัฐบาลวอชิงตัน โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัยที่บังคับใช้ช่วง ต.ค. 2565 ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่หันไปลดการพึ่งพาจีน มีส่วนทำให้อาเซียนส่งออกไปสหรัฐมากกว่าจีนสองไตรมาสติดต่อกัน

มูลค่าการส่งออกของอาเซียนไปยังสหรัฐแซงหน้ามูลค่าการส่งออกไปยังจีนเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ในช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. ตอกย้ำถึงความสำคัญของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค เนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนทวีความรุนแรงมากขึ้น และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก

นิกเกอิเอเชียได้รวบรวมข้อมูลการค้าโดยอ้างอิงจากสำนักงานสถิติของสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นหลัก และเสริมด้วยตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบรายงานท้องถิ่นเพื่อเทียบข้อมูลและหาบริบทเพิ่มเติมด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า ยอดการส่งออกของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศไปยังสหรัฐขยายตัวแตะ 74,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย.-มิ.ย. เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และมากกว่าการส่งออกไปจีนที่ระดับ 71,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2566

ในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาค ฟิลิปปินส์มียอดส่งออกไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้น 35% รองลงมาเป็นเวียดนามที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น 24% และมาเลเซียเพิ่มขึ้น 11%

ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน ‘อาเซียน’ ส่งออกไป ‘สหรัฐ’ มากกว่าจีน

จุน เนรี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารฟิลิปปินส์ไอร์แลนด์ กล่าวว่า “นอกเหนือจากประสิทธิภาพของเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความยืดหยุ่น ประกอบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากประเทศอื่นๆ แล้ว การส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลกที่พยายามออกห่างจากจีนนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด”

เนรีชี้ด้วยว่า การล็อกดาวน์โควิดเป็นเวลานานของจีนทำให้หลายประเทศต้องย้ายฐานการผลิตกลับประเทศหรือย้ายไปยังประเทศใกล้เคียง

เมื่อดูที่ยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องจักรขององค์การศุลกากรโลกพบว่า เวียดนามส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้น 41% ในไตรมาสสอง รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น 36% ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น 16% และมาเลเซียส่งออกได้เพิ่มขึ้น 9%

นิกเกอิเอเชียระบุว่า มาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าจีนของรัฐบาลวอชิงตัน โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัยที่บังคับใช้ช่วงต.ค. 2565 ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่หันไปลดการพึ่งพาจีน

ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน ‘อาเซียน’ ส่งออกไป ‘สหรัฐ’ มากกว่าจีน

เวียดนาม” ถือเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก้อนใหม่ได้จากผู้ส่งออกที่ตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานของตน ตัวอย่างเช่น ฮานา ไมครอน วีนา ผู้ผลิตชิปสัญชาติเกาหลีใต้ ได้สร้างโรงงานใน จ.บั๊กซาง ทางภาคเหนือของเวียดนามเมื่อเดือน ก.ย. 2566

ตามข้อมูลจากสื่อท้องถิ่น VnEconomy ระบุว่า บริษัทนี้มีแผนเพิ่มมูลค่าการลงทุนในเวียดนามทั้งหมดสู่ระดับมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2568 จากระดับ 600 ล้านดอลลาร์ในปี 2565

ส่วนเอสเค กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้ เข้าซื้อ Iscvina Manufacturing ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและค้าเซมิคอนดักเตอร์ในจ.หวิงฟุก ทางภาคเหนือของเวียดนาม มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วงต้นเดือนต.ค. ฮังซึงวอน ผู้จัดการ เอสเค กรุ๊ปเวียดนาม ไปเยือนจ.หวิงฟุก และประกาศดีลซื้อบริษัทดังกล่าว

เนื่องด้วยภาคเหนือของเวียดนามติดกับพรมแดนจีน ดังนั้น ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากจึงเลือกตั้งโรงงานที่นั่น เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากซัพพลายเชนจีน และง่ายต่อการส่งสินค้าออกจากท่าเรือน้ำลึกแหล็กเฮวี่ยน (Lach Huyen International Port) ท่าเรือขนาดใหญ่ที่เปิดบริการเมื่อปี 2561

ขณะที่ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ก็มีโรงงานขนาดใหญ่ในจ.บั๊กนิญ และจ.ท้ายเงวียน ทางภาคเหนือของเวียดนามเช่นกัน

แบร์รี ไวส์บลัตต์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยจาก VNDIRECT Securities ชี้ว่า แค่เศรษฐกิจที่สหรัฐที่แข็งแกร่งอย่างเดียวยังไม่สามารถบ่งบอกถึงการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐได้

“ความสัมพันธ์ทางการทูตของเวียดนามกับสหรัฐที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนค่าแรงต่ำและแรงงานมีทักษะสูง ช่วยหนุนการส่งออกของประเทศ” ไวส์บลัตต์กล่าวและเสริมว่า “ตอนนี้สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ดุเดือดมากขึ้นทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นด้วย เราคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งสหรัฐก็ตาม”

ขณะที่ “มาเลเซีย” ก็มีความพร้อมเพิ่มการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และวางสถานะให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตโลกที่เป็นกลางทางการเมือง

เมื่อเดือนส.ค. อินฟินีออน (Infineon) บริษัทผลิตชิปชั้นนำในยุโรปได้เริ่มดำเนินการผลิตในโรงงานผลิตชิปพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย

บริษัทเผยว่า โรงงานในเมืองคูลิมของมาเลเซียจะเป็นโรงงานผลิตซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากบรรลุระดับกำลังการผลิตเต็มที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า และอินฟินีออนมองเห็นถึงความต้องการจากภาคพลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และดาต้าเซนเตอร์เอไอ

ส่วนประเทศไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เนื่องจากมีอุตสาหกรรมยานยนต์ขนาดใหญ่ กำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

 

อ้างอิง: Nikkei Asia