ยอดขาย ‘BYD’ โต 2 เท่า! แรงหนุนตลาดอาเซียน-บราซิล ท้าชน Tesla บนเวทีโลก
ยอดขาย ‘BYD’ พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายสู่ตลาดเกิดใหม่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในบราซิล ตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท รวมถึงในอาเซียน ขณะเดียวกัน BYD ก็เผชิญอุปสรรคภาษีนำเข้าในยุโรป
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า “บีวายดี” (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ชั้นนำของจีน สร้างความสำเร็จด้วยการเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศเป็น “สองเท่า” ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดบราซิลและแถบอาเซียน ซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบจากการลดลงของยอดขายในตลาดยุโรป
BYD มียอดขายรถยนต์นอกประเทศจีนสูงถึง 298,000 คัน ขณะที่ยอดขายในจีนเติบโต 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 2.43 ล้านคัน
ส่วนรายได้รวมในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 201,000 ล้านหยวน (ประมาณ 9.5 แสนล้านบาท) โดย BYD ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า นี่เป็น “ครั้งแรก” ที่ BYD มีรายได้ต่อไตรมาสสูงกว่ารถอีวีคู่แข่งอย่าง Tesla
ทั้งนี้ “บราซิล” ได้กลายเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ BYD โดยจากข้อมูลอุตสาหกรรมของบราซิลระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ขายรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กได้ 51,299 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าแปดเท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน
อเล็กซานเดร บัลดี รองประธานอาวุโสของ BYD บราซิล ให้เครดิตความสำเร็จนี้แก่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในบราซิล รวมกับความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค
ปัจจุบันตลาดรถยนต์ในบราซิลถูกครองโดยแบรนด์ตะวันตกอย่าง Fiat และ Volkswagen โดย BYD รั้งอันดับที่ 10 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 2.9% ตามหลัง Honda Motor ที่มีส่วนแบ่ง 3.6% แต่ส่วนแบ่งตลาดของ BYD เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BYD กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยข้อมูลจาก MarkLines แสดงให้เห็นว่า ยอดขายรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลในไทยพุ่งสูงขึ้นมากกว่าเจ็ดเท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 15,000 คันในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน
ปัจจุบัน BYD มีส่วนแบ่งการตลาดในไทยอยู่ที่ 9% ซึ่งทำให้ติด “อันดับที่สาม” รองจาก Toyota Motor และ Honda โดย BYD เริ่มจำหน่ายรถอีวีในไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 และปริมาณการขายของบริษัทยังเติบโตในอินโดนีเซียและมาเลเซียอีกด้วย
ขณะที่ในฝั่งสหภาพยุโรป (EU) คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนของรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา EU ได้อนุมัติการเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 7.8% ถึง 35.3% นอกเหนือจากภาษีศุลกากร 10% ที่มีอยู่เดิมสำหรับรถอีวีที่ผลิตในจีน โดยเฉพาะ BYD เองจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 17%
เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร BYD จะสร้างโรงงานผลิต EV ในประเทศฮังการีภายในปี 2026 โดยฮังการีได้ลงคะแนนเสียงคัดค้านการเรียกเก็บภาษีศุลกากร นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ยังจะสร้างโรงงานในตุรกี ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
“BYD กำลังพยายามสร้างความแตกต่างในยุโรปในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์” ถัง จิน นักวิจัยอาวุโสจากธนาคารมิซูโฮกล่าว “ความสามารถในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาภาษีศุลกากรเพิ่มเติมผ่านการผลิตในท้องถิ่นจะเป็นกุญแจสำคัญ”
อ้างอิง: nikkei