เกมแมวจับหนู! จีนย้ายฐานผลิตโซลาร์เซลล์ไป ‘อินโดนีเซีย’ และ ‘ลาว’ หนีภาษีสหรัฐ

เกมแมวจับหนู! จีนย้ายฐานผลิตโซลาร์เซลล์ไป ‘อินโดนีเซีย’ และ ‘ลาว’ หนีภาษีสหรัฐ

จีนขยายฐานผลิตแผงโซลาร์เซลล์สู่ ‘อินโดนีเซีย’ และ ‘ลาว’ เพื่อหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรที่สหรัฐกำหนดขึ้น ขณะที่สหรัฐพยายามปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า โรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนในเวียดนามกำลังลดกำลังการผลิตและเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก เนื่องจากสหรัฐขยายขอบเขตภาษีศุลกากรไปยังเวียดนาม

แต่ขณะเดียวกัน “อินโดนีเซีย” และ “ลาว” กลับกลายเป็น “จุดหมายปลายทางใหม่” สำหรับการลงทุนตั้งโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ของจีน เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการการค้าของสหรัฐ โดยโรงงานเหล่านี้มีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไปยังสหรัฐได้เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“นี่เป็นเกมส์แมวจับหนูครั้งใหญ่” วิลเลียม เอ. ไรน์ช อดีตเจ้าหน้าที่การค้าในรัฐบาลคลินตันและที่ปรึกษาอาวุโสที่ศูนย์ศึกษาเชิงยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศกล่าว “การย้ายฐานการผลิตไม่ใช่เรื่องยาก คุณตั้งโรงงานใหม่และเริ่มเล่นเกมส์อีกครั้ง กฎเกณฑ์ถูกออกแบบมาในลักษณะที่สหรัฐ มักจะตามหลังอยู่หนึ่งก้าวเสมอ”

ตามข้อมูลของ SPV Market Research ระบุว่า ปัจจุบัน จีนครองส่วนแบ่งการตลาดแผงโซลาร์เซลล์โลกราว 80% นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับสองทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งสหรัฐเคยเป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมนี้

สำหรับการนำเข้าโซลาร์เซลล์ของอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า นับตั้งแต่สหรัฐเริ่มเก็บภาษีศุลกากรในปี 2555 โดยแตะระดับสูงสุดที่ 15,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลของรัฐบาลกลาง แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะไม่ได้มาโดยตรงจากจีนในปี 2566 แต่ประมาณ 80% มาจากเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานบริษัทจีน

ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการของจีนหรือที่เกี่ยวข้องกับจีนอย่างน้อยสี่โครงการเริ่มดำเนินการในอินโดนีเซียและลาว และอีกสองโครงการได้รับการประกาศร่วมกัน โครงการเหล่านี้มีกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์รวม 22.9 กิกะวัตต์

ตามข้อมูลจาก PVinsights ระบุว่า การผลิตส่วนใหญ่จะถูกขายไปยังสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน และเป็นหนึ่งในตลาดที่มีกำไรมากที่สุด ราคาขายส่งในสหรัฐสูงกว่าราคาในจีนเฉลี่ย 40% ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา 

เหล่าผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐมักร้องเรียนว่า ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากจีนได้ เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งจีนเองและประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ส่งออกไปยังสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม บริษัทจีนโต้แย้งว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้พวกเขามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง จึงสามารถเสนอราคาที่แข่งขันได้

“ภาษีศุลกากร” เป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งสหรัฐ โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ เพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะการจัดเก็บอัตราภาษี 60% สำหรับสินค้าที่มาจากจีน แต่คู่แข่งของเขาคือรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสจากพรรคเดโมแครตได้โต้แย้งว่า แผนของทรัมป์จะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าในสหรัฐแพงขึ้น

อ้างอิง: reuters