ชัยชนะ ‘ทรัมป์’ เป็นอุปสรรคผู้อพยพไปสหรัฐ วีซ่า H-1B กับเส้นทางสู่กรีนการ์ด
ชัยชนะ “โดนัลด์ ทรัมป์“ ทำให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัย 2 แต่ส่งสัญญาณความยากลำบากแก่ผู้อพยพ และผู้ถือวีซ่า H-1B แล้วยาหอมจะให้กรีนการ์ดกับนักศึกษาต่างชาติ จะทำได้จริงหรือไม่
แม้ ทรัมป์ ผุดไอเดียให้ “กรีนการ์ด” กับ “นักศึกษาต่างชาติ” ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในสหรัฐ และถือเป็นส่วนหนึ่งของปริญญาบัตร แต่หากย้อนกลับไปดูการบริหารงานก่อนหน้าบ่งชี้ว่า มาตรการตรวจคนเข้าเมือง มีความเคร่งครัด และจะมีแนวโน้มยากมากขึ้นด้วย
ในการหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐที่ผ่านมา ทรัมป์ให้คำมั่นจะลดจำนวนผู้อพยพในสหรัฐ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การใช้ช่องทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วเพื่อจำกัดการเดินทางเข้าสู่สหรัฐ จะเป็นการบีบบังคับให้ผู้อพยพหันไปพึ่งขบวนการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อพยพก็เป็นได้
ช่วงทรัมป์ดำรงวาระแรก การปฏิเสธ วีซ่า H-1B และยื่นขอ RFE เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่อจำนวนแรงงานทักษะสูงในสหรัฐ ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 - 2563 มีการปฏิเสธวีซ่า H-1B ประมาณ 18% เมื่อเทียบกับสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน อยู่ที่ 3.2% ในทำนองเดียวกันสมัยประธานาธิบดีทรัมป์หนึ่งได้ปฏิเสธวีซ่าเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจาก 12% เพิ่มสูงสุด 34%
เขย่าวีซ่า H-1B
มีแนวโน้มว่า รัฐบาลทรัมป์สอง อาจทำให้การตรวจคนเข้าเมืองเข้มงวดยิ่งขึ้น และจำนวนการปฏิเสธวีซ่ากลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้นักเรียนต่างชาติ และผู้มีทักษะสูงต้องเจอความยากลำบากในการหางานทำ หรือรักษาการถูกจ้างงานไว้ เพราะจำเป็นต้องมีวีซ่า
วีซ่า H-1B เป็นวีซ่าที่มีการแข่งขันกันสูงที่สุดประเภทหนึ่งใน การยื่นขอวีซ่า เพราะมีการกำหนดเพดานวีซ่าประจำปี จึงมีความต้องการวีซ่าประเภทนี้จากนายจ้างสหรัฐเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ วีซ่าประเภทยังเป็น ช่องทางการได้รับกรีนการ์ด ซึ่งวีซ่าประเภทนี้เป็นวีซ่าที่ดีที่สุดประเภทหนึ่ง ในการยื่นขอทำงานในสหรัฐ
ถ่วงเวลาให้สิทธิ์ฯ
ชาวต่างชาติที่ถือ วีซ่า H-4 ซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้ถือวีซ่า H-1B คาดต้องเผชิญความท้าทายนี้ด้วย โดยในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้อนุญาตให้คู่สมรสถือวีซ่า H-4 ทำงานได้ แต่แล้วในสมัยทรัมป์เตรียมยกเลิกระเบียบดังกล่าว ในปี 2561 ฟรานซิส ซิสนา อดีตผู้อำนวยการ USCIS ยืนยันว่า จริงที่มีแผนถอดคู่สมรสที่ถือวีซ่า H-4 ออกจากกลุ่มต่างด้าวที่มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตทำงาน
“แม้ระเบียบนี้จะไม่ได้ถูกยกเลิกในที่สุด” แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคาดว่า จะมีการหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกสิทธิของวีซ่านี้ทั้งหมด หรือทำให้ขั้นตอนการยื่นขอยุ่งยากขึ้น ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทรัมป์ได้เพิ่มขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน เพื่อขยายเวลาพิจารณาเอกสารใบอนุญาตทำงานสำหรับ H-4 (EAD) ซึ่งปกติใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ให้นานขึ้นกินเวลาถึง 1 ปี
กระทบผู้อพยพหลายสิบประเทศ
นโยบายทรัมป์ ส่งผลกระทบต่อผู้อพยพเข้าเมืองที่เดินทางมาจากหลายสิบประเทศ หลายคนต้องขายบ้านและทรัพย์สินเพื่อรวบรวมเงิน หวังแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในสหรัฐ
ชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากยังคงเดินทางไปยังชายแดนทางใต้ของสหรัฐ เช่นเดียวกับชาวเม็กซิกันครึ่งหนึ่งจากจำนวนผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐจับกุมในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กำลังรอข้ามแดนไปสหรัฐ ท่ามกลางโควต้าที่มีอยู่น้อย นอกจากนี้ยังมีชาวจีนเดินทางผ่านเอกวาดอร์ และชาวเซเนกัลยอมซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อต่อเครื่องหลายต่อหลายครั้ง หวังไปให้ถึงนิการากัว จากนั้นจึงเดินทางขึ้นเหนือไปยังชายแดนสหรัฐ
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ของสหประชาชาติได้ประมาณการว่า มีผู้อพยพระหว่างประเทศประมาณ 281 ล้านคนทั่วโลก หรือ 3.6% ของประชากรโลก
ผู้อพยพเสี่ยงพึ่งพาขบวนลักลอบเข้าเมือง
ในรายงานประจำปีของ IOM พบว่า มีผู้อพยพออกจากประเทศตนเองเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจและความรุนแรง รวมถึงมีผู้อพยพจำนวนมากแสวงหาที่ลี้ภัย ทั้งนี้รายงานดังกล่าวเตือนว่า เมื่อผู้คนไม่สามารถอพยพได้ในเส้นทางปกติ พวกเขาจะเริ่มมองหาช่องทางแม้ต้องเสี่ยงอันตราย
ครั้งที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เมืองติดชายแดนเม็กซิโกเต็มไปด้วยผู้อพยพ กลุ่มค้ายาล่อลวงไปเป็นเหยื่อ และการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ เพื่อรีดไถเงินจากครอบครัวพวกเขา ตลอดจนมีการใช้กำลังบังคับเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์
โครงการ CBP One ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2566ในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน ได้ช่วยจัดระเบียบให้ดีขึ้น ซึ่งผู้เตรียมย้ายถิ่นฐานไม่จำเป็นต้องมารอที่ชายแดนด้วยตัวเองอีกต่อไป เพื่อกำหนดเวลานัดหมาย แต่สามารถทำได้ผ่านสมาร์ทโฟนตนเอง ดังนั้นศูนย์พักพิงที่ชายแดนเดิมเต็มไปด้วยผู้คนก็ว่างเปล่า และผู้อพยพจำนวนมากเปลี่ยนมาใช้เส้นทางที่ถูกกฎหมาย
แต่ทรัมป์จะยุติโครงการ CBP One นอกจากนี้เขายังต้องการจำกัดผู้อพยพ และในการหาเสียงของทรัมป์ยังพูดเสมอว่า จะเนรเทศผู้อพยพจำนวนมาก
แม้ว่าชัยชนะของทรัมป์จะสร้างความกังวลให้กับผู้อพยพที่มุ่งหน้าไปยังสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้ทำให้แผนพวกเขาพังลง
ขบวนการค้ามนุษย์กำชัยชนะแท้จริง
มาร์ธา บาร์เซนา อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเม็กซิโกในช่วงรัฐบาลแรกของทรัมป์ กล่าวว่าผู้อพยพคือผู้สูญเสียผลประโยชน์จากนโยบายย้ายถิ่นฐานของโดนัลด์ ทรัมป์
“หากแต่กลุ่มอาชญากรจะเป็นผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุด เพราะมีรายได้จากการค้ามนุษย์ผิดกฎหมาย ซึ่งมีพอๆกับหรือมากกว่ารายได้จากการค้ายาเสพติด” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเม็กซิโกกล่าว
สำหรับแผนการเนรเทศผู้อพยพที่ทรัมป์เคยพูดไว้ อย่างการเนรเทศผู้อพยพกลับไปประเทศตนเอง เช่น คิวบาและเวเนซุเอลา อาจมีความซับซ้อนเนื่องจากความสัมพันธ์ที่เย็นชา แม้ว่าประธานาธิบดีมาดูโรของเวเนซุเอลาจะส่งสารแสดงความยินดีกับทรัมป์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็ตาม ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวในเฮติเรียกร้องให้ประเทศต่างๆรวมถึงสหรัฐหยุดการเนรเทศผู้อพยพชาวเฮติ เนื่องจากวิกฤตการณ์ภายในประเทศ
นโยบายเนรเทศ กระทบ ศก.เม็กซิโก
ถึงอย่างไรก็ไม่มีประเทศไหนที่ได้รับผลกระทบไปมากกว่าเม็กซิโก ปัจจุบันมีชาวเม็กซิโกประมาณ 11 ล้านคนอาศัยอยู่ในสหรัฐ และประมาณ 5 ล้านไม่มีสถานะทางกฎหมาย
เมื่อปีที่แล้ว ชาวเม็กซิโกส่งเงินกลับบ้านมากกว่า 63,000 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นเงินที่ชาวเม็กซิโกในสหรัฐส่งกลับประเทศ ดังนั้นการเนรเทศผู้คน มีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครอบครัวของชาวเม็กซิโกนับล้านคนในสหรัฐ
ราฟาเอล เบลาสเกซ การ์เซีย ผู้อำนวยการคณะกรรมการช่วยเหลือระหว่างประเทศของเม็กซิโก กล่าวว่า กลุ่มบรรเทาทุกชาวเม็กซิกัน ไม่อาจดูแลผู้อพยพที่จะถูกส่งกลับมากขนาดนั้นได้ และต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า คงต้องให้ภาคประชาสังคมเข้ามาแบกรับภาระด้านมนุษยธรรมนี้
คาร์ลอส เปเรซ ริคัลท์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของศูนย์วิจัยสาธารณะของเม็กซิโกเม็กซิโก (CIDE) กล่าวว่า จำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือแรงกดดันจากรัฐบาลของทรัมป์ในทุกรูปแบบ
“เป็นสิ่งที่เม็กซิโกต้องยอมรับว่า เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีผู้อพยพจำนวนมากไปสหรัฐ ไม่ว่าพวกเขาต้องการหรือไม่ก็ตาม แต่ทรัมป์จะส่งคนเหล่านี้กลับประเทศเป็นจำนวนหลายพันหรือหลายล้านคน ก็เพื่อขัดขวางผู้อพยพไหลบ่าเข้าสหรัฐ” คาร์ลอสกล่าวย้ำ
อ้างอิง : HindustanTimes , AP