ทรัมป์ 2.0 เขย่าอนาคต ‘รถอีวี’ 3 ค่ายบิ๊กทรี - โตโยต้า จ่อเป็นผู้ชนะ
ชัยชนะของทรัมป์ไม่เพียงทำให้ทั่วโลกเสี่ยงครั้งใหญ่จากนโยบายขึ้นภาษี แต่ยังทำให้ “อุตสาหกรรมรถยนต์อีวี” เผชิญความไม่แน่นอนสูง นักวิเคราะห์ชี้อาจกลับลำนโยบายหนุนอีวีในยุคไบเดน
ชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สอง “โดนัลด์ ทรัมป์” ไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่จากนโยบายขึ้นภาษีศุลกากร แต่ยังทำให้ “อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า” อาจต้องเผชิญยุคสมัย 4 ปีแห่งความไม่แน่นอนด้วย
เพราะพรรครีพับลิกันของทรัมป์ถือเป็นฝ่ายหัวหอกหลักในการโจมตีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นส่วนใหญ่โดยอ้างว่าการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมนี้เป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค
ทรัมป์เองก็เคยหาเสียงเอาไว้ว่าจะยกเลิกหรือแก้ไขมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานพาหนะหลายฉบับของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) รวมไปถึงแรงจูงใจต่างๆ ที่ส่งเสริมการผลิตรถอีวีหรือให้คนหันมาใช้รถอีวีในยุครัฐบาลโจ ไบเดน ซึ่งรวมถึงกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA) ปี 2565 ด้วยยกเลิก
ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์ และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ มองว่าอาจเป็นเรื่องยากที่ทรัมป์จะยกเลิกกฎหมาย IRA ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่เขาสามารถทำได้ก็คือ การยกเลิกการให้เงินสนับสนุนหรือจำกัดการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยใช้คำสั่งฝ่ายบริหารหรือดำเนินการเชิงนโยบายอื่นๆ ออกมา
คนในอุตสาหกรรมหลายคนเชื่อว่า ทรัมป์จะเล็งเป้าหมายไปที่เครดิตภาษีเงินคืน 7,500 ดอลลาร์ ที่รัฐบาลไบเดนให้เป็นแรงจูงใจผู้บริโภคสำหรับการซื้อรถอีวี แทนที่จะเล็งเป้าหมายเครดิตไปที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมของบริษัทเอกชน
“น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย IRA บางอย่าง แต่ผมไม่คิดว่าจะยกเลิกไปเลย” “มันยังมีข้อดีหลายด้านที่ผมคิดว่าทั้งพรรครีพับลิกัน และเดโมแครตยังชอบอยู่” เดวิด รูเบนสไตน์ ผู้ก่อตั้งร่วม และประธานร่วมของบริษัทการลงทุนคาร์ไลล์ กรุ๊ป กล่าวกับซีเอ็นบีซี
ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า การลงทุนส่วนใหญ่ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้กฎหมาย IRA เกิดขึ้นในรัฐที่เป็นฐานเสียงของรีพับลิกัน เช่น โอไฮโอ เซาท์แคโรไลนา และจอร์เจีย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงต้องระวังเรื่องนี้ด้วย
ที่ผ่านมาผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายรายต่างระบุตรงกันว่า พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจลงทุนเพียงเพราะว่าใครเป็นประธานาธิบดี และการปรับเปลี่ยนต่างๆ เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาก็เป็นเรื่องปกติโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
“ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรม เนื่องจากเราต้องดำเนินการตามนโยบาย และระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ และต้องให้คนใหม่ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา และสิ่งที่เราทำ” เดวิด ไครสท์ รองประธานกลุ่ม และผู้จัดการทั่วไปของโตโยต้า มอเตอร์ ภาคพื้นอเมริกาเหนือกล่าว และเสริมว่ารัฐบาลเปลี่ยนทุกๆ 4 ปีอยู่แล้ว บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์มากนัก
ผู้แพ้ และผู้ชนะ
บรรดานักวิเคราะห์หลายรายในวอลล์สตรีทตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทรถยนต์ดั้งเดิมโดยเฉพาะ 3 ค่ายบิ๊กทรีแห่งดีทรอยต์ ได้แก่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ฟอร์ดมอเตอร์ (Ford) และสเตลแลนทิส (Stellantis) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไครสเลอร์ อาจจะเป็น “ผู้ชนะมากที่สุด” ในการกลับมาของทรัมป์ที่อาจพ่วงมาด้วยการกินรวบเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรส ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
จอห์น เมอร์ฟี นักวิเคราะห์ของแบงก์ออฟอเมริกา ซีเคียวรีตีส์ กล่าวในบันทึกสำหรับนักลงทุนเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า “เรามองฟอร์ด และจีเอ็ม จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากรัฐบาลทรัมป์ หลังจากที่ถูกกดดันมาหนักในรัฐบาลปัจจุบันให้ปรับเปลี่ยนธุรกิจหลักไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในสิ้นทศวรรษนี้ และปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่อีวีอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมา การทำกำไรในธุรกิจอีวีของจีเอ็ม และอนาคตที่จะเป็นอีวีล้วนนั้น ล้วนแขวนอยู่บนมาตรการลดภาษีของรัฐเกือบทั้งหมด
ส่วน “โตโยต้า มอเตอร์” (Toyota) ซึ่งมาช้ากว่าเพื่อนในการปรับเข้าสู่วงการรถยนต์อีวีนั้น คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่ง “ผู้ชนะ” เช่นกันหากรัฐบาลใหม่ของทรัมป์ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบสำคัญๆ ลง โดยโตโยต้ามีการลงทุนในรถไฟฟ้าล้วนที่ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับการลงทุนในรถยนต์ไฮบริด
หลายค่ายกำลังเจ็บหนัก
มีรายงานข่าวตลอดสัปดาห์ที่แล้วว่า ค่ายรถยนต์หลายแห่งกำลังเพลี่ยงพล้ำบาดเจ็บกันมากขึ้น จากสถานการณ์รถยนต์ที่ขายไม่ออก และเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากค่ายรถอีวีจีน
บลูมเบิร์กรายงานว่า “สเตลแลนทิส” ซึ่งเป็นหนึ่งในบิ๊กทรี และเจ้าของแบรนด์ Jeep กับ Ram มีแผนเตรียมเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,100 คน ในโรงงานจี๊ปเมืองโตเลโด รัฐโอไฮโอ เนื่องจากปัญหาสินค้าคงคลังที่มากเกินไป และยอดขายที่ลดลง โดยบริษัทยอมรับว่าจำเป็นต้องตัดสินใจดังกล่าว เพื่อจัดการปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับยอดขายมากขึ้น และการเลย์ออฟครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกในปีนี้
ทางด้าน “โตโยต้า มอเตอร์” รายงานผลประกอบการไตรมาสเดือนก.ค.- ก.ย. ทำกำไรจากการดำเนินงานลดลงถึง 20% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 1.16 ล้านล้านเยน (ราว 2.58 แสนล้านบาท) และยังเป็นกำไรรายไตรมาสที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากปัญหายอดขาย และการผลิตที่ลดลงใน 2 ตลาดใหญ่คือ ญี่ปุ่น และสหรัฐ ทำให้สถานการณ์พลิกจากที่เคยสดใสเมื่อช่วงต้นปี และยังมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากค่ายรถอีวีจีน
ขณะที่ “นิสสัน มอเตอร์” เผชิญสถานการณ์หนักที่สุดเมื่อรายงานกำไรสุทธิร่วงแรงถึง 93% ในครึ่งปีแรก ทำให้บริษัทต้องประกาศลดกำลังการผลิตลงทั่วโลก 20% และเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกมากถึง 9,000 คน
มาโกโตะ อูชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) นิสสันซึ่งประกาศจะลดเงินเดือนตัวเองลง 50% โดยสมัครใจ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย.2567 เผยว่า กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากยอดขายที่ซบเซาในตลาดอเมริกาเหนือ ทำให้บริษัทต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อพลิกประสิทธิภาพการทำงานทำให้ธุรกิจคล่องตัว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์