ยอดขายบุหรี่ในจีนทะยาน! สวนทางทั่วโลกลดสูบบุหรี่ลง ‘China Tobacco’ บริษัทบุหรี่ใหญ่สุดในโลก
ขณะทั่วโลกมีแนวโน้มลดการสูบบุหรี่ลง แต่ ‘จีน’ เดินสวนทาง ยอดขายบุหรี่ในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัทบุหรี่แห่งชาติจีนหรือ ‘China Tobacco’ เป็นผู้ครองตลาดเกือบทั้งหมด
KEY
POINTS
- อุตสาหกรรมยาสูบจีนถูกผูกขาดโดยรัฐบาลในชื่อว่า “บริษัทยาสูบแห่งชาติจีน” (China National Tobacco Corporation) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “China Tobacco”
- “จีน” มีจำนวนผู้สูบบุหรี่มากที่สุดในโลก โดยมีผู้สูบบุหรี่มากกว่า 300 ล้านคน คิดเป็น “เกือบหนึ่งในสาม” ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก
- China Tobacco อยู่ในสถานะ "ขัดกันแห่งผลประโยชน์" เนื่องจากเป็นทั้งผู้ประกอบการและผู้มีส่วนกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบไปพร้อมกัน
ท่ามกลางเทรนด์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูบบุหรี่น้อยลง เพื่อรักษาสุขภาพ แต่ “จีนสวนทาง” ยอดขายปลีกบุหรี่ในประเทศทะยานขึ้นฟ้าอย่างแข็งแกร่ง โดยเติบโตต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แตะระดับ 2.44 ล้านล้านมวนในปี 2023 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จนอาจแตะระดับ 2.48 ล้านล้านมวนภายในปี 2028 ตามข้อมูลจาก Euromonitor บริษัทวิจัยตลาดในกรุงลอนดอน
หลายคนอาจเข้าใจว่าบริษัทผลิตบุหรี่ในจีนคงมีหลากหลาย แต่ตามจริงแล้วอุตสาหกรรมนี้ถูก “ผูกขาด” โดยรัฐบาลในชื่อว่า “บริษัทยาสูบแห่งชาติจีน” (China National Tobacco Corporation) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “China Tobacco” มีสถานะผูกขาดเกือบทั้งหมดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบของจีน ทำให้บริษัทของรัฐแห่งนี้ขึ้นเป็น “ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ที่สุดในโลก” แม้ว่าจะมีชื่อเสียงไม่มากนักในต่างประเทศ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การเติบโตดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ “บุหรี่แบบสลิม” ซึ่งมักโฆษณาว่ามีสารทาร์ (สารเหนียวข้นสีดำ) ในปริมาณต่ำกว่า และให้รสสัมผัสหอมเย็นหลากหลาย ซึ่งอาจทำให้ติดง่ายขึ้นกว่าบุหรี่ทั่วไป
องค์การอนามัยโลกระบุว่า “จีน” มีจำนวนผู้สูบบุหรี่มากที่สุดในโลก โดยมีผู้สูบบุหรี่มากกว่า 300 ล้านคน คิดเป็น “เกือบหนึ่งในสาม” ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก
- บุหรี่ในจีน (เครดิต: Shutterstock) -
แต่หากไปดูแนวโน้ม “ยอดขายบุหรี่ทั่วโลกต่อปี” (ยกเว้นจีน) ลดลงประมาณ 2.7% เหลือ 5.18 ล้านล้านมวนระหว่างปี 2019 ถึง 2023 ตามข้อมูลจาก Euromonitor
แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งได้ให้คำมั่นว่า จะควบคุมการแพร่หลายของบุหรี่ เพื่อสุขภาพของพลเมือง แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่สามารถเขย่ายอดขายยาสูบให้ลดลงได้
ยักษ์เทคฯถูกควบคุม แต่ยักษ์ยาสูบกลับรุ่งเรือง
คำถามที่น่าสนใจ คือ ในเมื่อรัฐบาลจีนมีอำนาจเบ็ดเสร็จจนสามารถจัดระเบียบการผูกขาดของยักษ์เทคฯ การศึกษา และการเงินได้สำเร็จ แต่เหตุใดในเรื่องการควบคุมยอดผู้สูบบุหรี่ถึงไม่มีทีท่าลดลง แต่กลับทะยานขึ้นแทน
เหตุผลหลักคือ อุตสาหกรรมนี้มีอิทธิพลระดับภายในรัฐบาลจีน โดย “China Tobacco” สะท้อนถึง “อุตสาหกรรมยาสูบ” และ “นโยบายของรัฐบาล” ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 1982 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรวมอุตสาหกรรมยาสูบทั้งหมดไว้ภายใต้การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์
กัน ฉวน (Gan Quan) รองประธานอาวุโสฝ่ายควบคุมยาสูบขององค์กรสุขภาพ Vital Strategies กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า China Tobacco อยู่ใน “สถานะขัดแย้ง” เนื่องจากเป็นทั้งผู้ประกอบการและผู้มีส่วนกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบไปพร้อมกัน
“China Tobacco” เป็นบริษัทของรัฐบาลที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ขณะที่ “The State Tobacco Monopoly Administration” เป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนที่กำกับดูแลการผูกขาดยาสูบระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “สถาบันเดียว สองชื่อ” หน่วยงานทั้งสองตั้งอยู่ในที่ทำการเดียวกันและใช้เว็บไซต์เดียวกัน
อุตสาหกรรมยาสูบของจีนทำรายได้สูงถึง 1.5 ล้านล้านหยวน หรือราว 7.2 ล้านล้านบาทในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.3% จากปีก่อนหน้า โดย China Tobacco มีส่วนแบ่งตลาดในจีนสูงถึง 97%
ในปี 2014 ยักษ์ใหญ่แห่งนี้มีพนักงานมากกว่าครึ่งล้านคนและควบคุมสำนักงานตรวจสอบยาสูบระดับจังหวัด 33 แห่ง กิจการผลิตบุหรี่ 57 แห่ง และธุรกิจขนาดเล็กเชิงพาณิชย์อื่น ๆ มากกว่า 1,000 แห่ง โดยมหาวิทยาลัย Bath แห่งอังกฤษประเมินว่า China Tobacco มีส่วนสนับสนุนรายรับภาษีของจีนมากถึง 12%
จูดิธ แม็คเคย์ (Judith Mackay) ผู้อำนวยการที่ปรึกษาเอเชียด้านการควบคุมยาสูบกล่าวว่า “เนื่องด้วยความเชื่อในจีนที่ว่า การปลูกยาสูบสำคัญต่อเกษตรกร และภาษียาสูบเป็นรายได้สำคัญต่อเศรษฐกิจชาติ จึงเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมที่เข้มงวดของรัฐบาล”
ยักษ์ใหญ่ยาสูบจีนสยายปีกสู่เวทีโลก
สำหรับ “China Tobacco” กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยาสูบระดับโลก ด้วยกลยุทธ์การขยายธุรกิจที่รวดเร็วและแข็งแกร่ง ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน
เจนนิเฟอร์ ฟาง (Jennifer Fang) นักวิจัยและผู้จัดการโครงการสถาบันแปซิฟิกด้านเชื้อโรค โรคระบาด และสังคมมองว่า สถานะผูกขาดของ China Tobacco ได้ผลักดันการเติบโตที่แข็งแกร่งในประเทศ เมื่อรวมกับผู้สูบบุหรี่จำนวนมากในจีน และการขาดการแข่งขันจากแบรนด์ตะวันตก
ยกตัวอย่างแบรนด์ดังอย่าง “Marlboro” ของ Philip Morris ยักษ์ใหญ่บุหรี่สัญชาติอเมริกัน ถึงแม้จะวางจำหน่ายในตลาดจีน แต่การกระจายสินค้าจะต้องผ่านกระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธิกับบริษัท China Tobacco
China Tobacco แม้ได้เป็นผู้นำในตลาดจีนแล้ว แต่ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ได้พยายามขยายธุรกิจไปทั่วโลกภายใต้โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของปักกิ่ง โดยในปี 2019 China Tobacco ได้ขยายธุรกิจไปทั่วโลกครอบคลุม 20 ประเทศ ผ่านสาขาต่าง ๆ ทั้งหมด 34 แห่ง ซึ่งรวมถึงสำนักงานขาย โรงงานผลิต และบริษัทจัดหาใบยาสูบเฉพาะทาง
ในปี 2023 การส่งออกยาสูบของจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 9,173 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 22.2% เมื่อเทียบปีต่อปี
ส่วนสำคัญของการขยายตัวล่าสุดคือ บริษัทลูกอย่าง “China Tobacco International” ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 หุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นกว่า 376% นับตั้งแต่เปิดตัวในฮ่องกง โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 160% ในปีนี้
- ราคาหุ้น China Tobacco International บวกเกือบ 160% นับตั้งแต่ต้นปี -
จูดิธ แม็คเคย์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านการควบคุมยาสูบแห่งเอเชียระบุว่า การขยายตัวของ China Tobacco ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยาสูบระดับโลก เช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อย่าง Philip Morris International และ British American Tobacco