อะไรทำให้ ‘Samsung’ ตกบัลลังก์เทคฯ จนสูญมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท

อะไรทำให้ ‘Samsung’ ตกบัลลังก์เทคฯ จนสูญมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท

ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีอนาคตเสมอไป ‘Samsung’ กำลังเผชิญวิกฤติ มูลค่าบริษัทหายวับไปกว่า 4 ล้านล้านบาท จากการที่เทคโนโลยีชิปหน่วยความจำตามหลังคู่แข่งอย่าง SK Hynix จนก้าวไม่ทันกระแส AI อะไรทำให้ Samsung มาสู่จุดนี้ได้

KEY

POINTS

  • ซัมซุงกำลังสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีนั้นยากที่จะกลับคืนมาในระยะเวลาอันสั้น
  • ผลผลิตชิป HBM3 ของ Samsung อยู่ที่ประมาณ 10-20% ซึ่งต่ำกว่า SK Hynix ที่มีอัตราผลผลิต HBM3 อยู่ที่ประมาณ 60-70%
  • Samsung ยึดติดกับเทคโนโลยีผลิตชิปดั้งเดิมที่เรียกว่า NCF ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการผลิตบางอย่าง ในขณะที่ SK Hynix ได้เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง MR-MUF 

“ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์” (Samsung Electronics) บริษัทเทคโนโลยีที่เคยอยู่ระดับท็อปแห่งเกาหลีใต้ เด็กเกาหลีจบใหม่ต่างใฝ่ฝันอยากเข้าทำงาน มาบัดนี้ประสบ “มรสุมทางธุรกิจ”

เทคโนโลยีผลิตชิปหน่วยความจำจากที่เคยครองอันดับ 1 แห่งเกาหลีใต้กลับต้อง “ตามหลัง” คู่แข่งในประเทศอย่าง SK Hynix อีกทั้งยังเกาะคลื่นยักษ์ AI ไม่ทัน จนสูญมูลค่าบริษัทไปกว่า 126,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4 ล้านล้านบาท โดยหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หุ้นร่วงไปแล้วกว่า 33% อะไรฉุด Samsung ให้ตกจากบัลลังก์จนต้องตามหลังเจ้าอื่นเช่นนี้ แล้วจะซ้ำรอย Intel ผู้ผลิตชิปซีพียูหรือไม่

ประมาทเรื่องชิปหน่วยความจำ

สำหรับธุรกิจหลักของ Samsung คือ การผลิตชิปหน่วยความจำอย่าง “แรม” (RAM) ซึ่งถือเป็นที่เก็บความจำชั่วคราว อย่างกรณีเราเปิดไฟล์ โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันไว้ ข้อมูลเหล่านี้จะเก็บไว้ในแรมก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกใช้ เพราะถ้าเก็บไว้ที่ฮาร์ดดิสก์อย่างเดียว จะเรียกข้อมูลค่อนข้างนาน ทีนี้เมื่อเราปิดไฟล์เหล่านี้ ข้อมูลในแรมก็จะหายไป จึงเป็นเหมือนที่เก็บความจำชั่วคราวให้สะดวกต่อการเรียกใช้

“จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้ Samsung ต้องมาตามหลังคู่แข่งคือ “AI” นั่นเพราะปัญญาประดิษฐ์ต้องการขุมพลังประมวลผลอันมหาศาล เพื่อถูกฝึกให้เก่งคล้ายมนุษย์ ดังนั้น เทคโนโลยีแรมความเร็วสูงอย่าง High-Bandwidth Memory (HBM) จึงจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Nvidia ต้องการแรมพลังสูงนี้มาประกอบในหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของตน แต่น่าเสียดาย Samsung กลับลงทุนในเทคโนโลยีแรมสุดล้ำนี้ “ช้าเกินไป” ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ เพียงช้าไปก้าวเดียวก็จะพลิกเป็นฝ่ายตามหลังได้โดยง่าย  

คาซึโนริ อิโตะ (Kazunori Ito) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหุ้นของ Morningstar อธิบายว่า “ในอดีต หน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง หรือ HBM เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่มีความต้องการจำกัด ดีมานด์ยังไม่ค่อยมาก และเนื่องจากตลาดที่จำกัดนี้ ซัมซุงจึงเลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่ลงทุนอย่างหนักในการพัฒนา HBM”

อิโตะกล่าวต่อว่า “เนื่องจากเทคโนโลยีแรมนี้ มีความซับซ้อนสูงและตลาดที่รองรับมีขนาดเล็ก ทำให้ Samsung มองว่า ต้นทุนในการพัฒนาที่สูงนั้นไม่คุ้มค่า”

ปรากฏว่าผิดคาด กระแส AI ที่ดังพลุแตกอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ใช้งานพุ่งทะยานอย่างรุนแรง ทำให้ Samsung จะกลับลำมาทุ่มลงทุนก็ค่อนข้างช้าไปแล้ว 

ในขณะที่ “SK Hynix” ที่ผลิตหน่วยความจำเหมือนกัน เตรียมรับกระแส AI ได้ไวกว่า และเปิดตัวแรม HBM อย่างรวดเร็ว จึงได้กลายเป็น “ซัพพลายเออร์หลัก” ให้กับชิป Nvidia จนทำให้เมื่อรายได้ Nvidia เติบโต SK Hynix ก็โตตามไปด้วย คล้ายกับว่า Nvidia เป็นฉลาม ส่วน SK Hynix คือเหาฉลาม โดยสะท้อนจากราคาหุ้น SK Hynix ที่บวกราว 25% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน สวนทาง Samsung ที่หุ้นร่วงราว 33%

“ซัมซุงยังไม่ได้นำ HBM มาใช้เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับคู่แข่ง ดังนั้น ผลประกอบการในไตรมาสที่สามและแนวโน้มในไตรมาสที่สี่จึงต่ำกว่าคาด ซึ่งสร้างความผิดหวังให้ตลาด” เบ็ค กิล-ฮยอน (Baik Gil-hyun) นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ Yuanta กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Samsung ตามหลังคือ การตัดสินใจ “ยึดติด” กับเทคโนโลยีผลิตชิปดั้งเดิมที่เรียกว่า Non-Conductive Film (NCF) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการผลิตบางอย่าง ในขณะที่ SK Hynix ได้เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง Mass Reflow Molded Underfill (MR-MUF) เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของ NCF 

“ซัมซุงจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเพิ่มผลผลิต HBM อย่างการนำเทคนิค MR-MUF มาใช้ เป็นเรื่องที่ซัมซุงต้องยอมรับความจริงเล็กน้อย เพราะท้ายที่สุดแล้ว ซัมซุงก็ต้องยอมรับเทคนิคที่ SK Hynix ใช้เป็นคนแรก” แหล่งข่าวรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัวตนได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส

ด้วยความที่เทคโนโลยีตามหลังกว่า ทำให้ผลผลิตชิป HBM3 ของ Samsung อยู่ที่ประมาณ 10-20% ซึ่งต่ำกว่า SK Hynix ที่มีอัตราผลผลิต HBM3 อยู่ที่ประมาณ 60-70%

อะไรทำให้ ‘Samsung’ ตกบัลลังก์เทคฯ จนสูญมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท - ชิปหน่วยความจำ Samsung (เครดิต: Samsung) -

ยิ่งหากว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐทำตามที่ประกาศไว้จริง โดยเก็บภาษีนำเข้าที่ 10-20% จากประเทศอื่น และ 60% สำหรับสินค้าจากจีน อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น จนมีแนวโน้มกดความต้องการชิปให้ลดลงได้

“การเก็บภาษีนำเข้าจากจีนที่ทรัมป์อาจดำเนินการนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ Samsung มากกว่า เนื่องจาก Samsung พึ่งพาลูกค้าชาวจีนสูงกว่าคู่แข่งภายในประเทศอย่าง SK Hynix” ลี มินฮี (Lee Min-hee) นักวิเคราะห์จาก BNK Investment & Securities กล่าว

ด้าน ยอง แจ ลี (Young Jae Lee) ผู้จัดการการลงทุนอาวุโสของ Pictet Asset Management กล่าวว่า “ซัมซุงกำลัง 'สูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์’ ซึ่งความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีนั้นยากที่จะกลับคืนมาในระยะเวลาอันสั้น” พร้อมกล่าวเสริมว่า บริษัทได้ลดการถือครองหุ้นซัมซุงลง

Samsung จะกลับมาทวงบัลลังก์คืนได้ไหม

ในตอนนี้ Samsung ต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกที่เข้มงวดของ Nvidia ก่อนจะอนุมัติให้เป็น “ซัพพลายเออร์ด้าน HBM” ซึ่งปัจจุบัน Samsung ยังอยู่ระหว่างการประเมิน อย่างไรก็ตาม หาก Nvidia เปิดไฟเขียว ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ Samsung กลับมาแข่งขันกับ SK Hynix ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เนื่องจาก NVIDIA ครองส่วนแบ่งตลาดชิป AI มากกว่า 90% ซึ่งเป็นตลาดที่ HBM ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ การได้รับอนุมัติจาก NVIDIA จึงมีความสำคัญยิ่งต่อ Samsung ในการรับประโยชน์จากดีมานด์เซิร์ฟเวอร์ AI อันแข็งแกร่ง” อิโตะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหุ้นของ Morningstar กล่าว

จะเห็นได้ว่า กรณีมูลค่าของ “Samsung” ที่หายไปกว่า 4 ล้านล้านบาท สะท้อนว่า ต่อให้เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีมายาวนาน ทั่วโลกต่างก็รู้จักในแบรนด์นี้ แต่หากยึดติดกับความสำเร็จเดิมและปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ก็อาจเผชิญความเสี่ยงถูกคู่แข่งแซงหน้าได้ จนสูญมูลค่าบริษัทมหาศาล

อ้างอิง: cnbcreutersbloombergcnbc