ตลาดงานจีนสุดโหด นศ.จีนยอมเสียหลายหมื่นบาท เพื่อให้ได้ที่ฝึกงาน

ตลาดงานจีนสุดโหด นศ.จีนยอมเสียหลายหมื่นบาท เพื่อให้ได้ที่ฝึกงาน

ความฝันทำงานในบริษัทชั้นนำ ผลักดันให้นักศึกษาจีนยอมจ่ายเงินค่าหัวให้กับนายหน้า เพื่อแลกกับโอกาสฝึกงานที่อาจเปิดประตูสู่เส้นทางอาชีพที่สดใส แต่กลับกลายเป็นช่องโหว่ให้นายหน้าฉวยโอกาสหลอกนักศึกษาได้ง่ายขึ้น

KEY

POINTS

  • นายหน้าหาที่ฝึกงานให้นักศึกษาจีนเหล่านี้ดำเนินธุรกิจอย่างลับ ๆ และ “การหลอกลวง” ที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มมากขึ้น
  • ในจีน มีเพียง 48% ของนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทที่ได้รับข้อเสนองาน
  • แม้ว่าอัตราว่างงานของกลุ่มอายุ 16-24 ปีในจีนลดลง 1.2% เป็น 17.6% ในเดือนกันยายน แต่ยังคง “สูงกว่า 3 เท่า” ของอัตราว่างงานโดยรวมที่ 5.1%

อย่างที่หลายคนรู้กัน การจะได้งานทำในจีนนั้นค่อนข้างสุดหิน เพราะด้วยตัวเลือกแรงงานที่มาก อีกทั้งการแข่งขันก็สูง ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาจีนจึงยอมจ่ายเงิน “หลายหมื่นบาท” ให้กับนายหน้า เพื่อให้ได้ฝึกงานในบริษัทที่มีชื่อเสียง และหวังช่วยเสริมประวัติตนเองในการยื่นสมัครงาน

สำหรับนักศึกษาจบใหม่ “ประสบการณ์ฝึกงาน” ที่บริษัทใหญ่ หรือการฝึกงานที่กินเวลานานกว่าสามเดือน ถือเป็นข้อได้เปรียบในการหางาน แต่การฝึกงานที่มีชื่อเสียงนั้นแข่งขันกันสูงมาก จึงทำให้นักศึกษาบางคนยอมจ่ายเงินให้กับนายหน้าที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ได้ตำแหน่งฝึกงาน

เว็บไซต์นิเกอิ เอเชียรายงานอ้างสื่อทางการจีนว่า ในเดือนมิถุนายน มีรายงานบทสนทนาระหว่าง “นักศึกษาคนหนึ่ง” กับ “นายหน้า” ที่เสนอตำแหน่งฝึกงานในราคาประมาณ 19,000 หยวน หรือราว 90,000 บาท นายหน้าคนดังกล่าวบอกว่า ตำแหน่งของนักศึกษาคนนั้นจะได้รับการยืนยันภายในไม่กี่สัปดาห์ หลังจากได้รับเรซูเม่และการชำระเงินแล้ว

นายหน้าเหล่านี้ดำเนินธุรกิจอย่างลับ ๆ และ “การหลอกลวง” ที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น นักศึกษาคนหนึ่งจ่ายเงินมัดจำ 40% ของค่าธรรมเนียม 16,000 หยวน แต่ต่อมานายหน้ากลับเพิ่มค่าธรรมเนียมทั้งหมดเป็น 23,000 หยวน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ นักศึกษามักจะไม่สามารถเรียกเงินคืนได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการติดต่อกับนายหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนักศึกษาบางคนได้หน้าที่ฝึกงานไม่เหมือนที่ได้รับแจ้งไว้ในตอนแรก หรือได้รับใบประกาศนียบัตรปลอม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ แต่แทบไม่กระทบต่อความสนใจของนักศึกษาเลย โดยมีการสำรวจพบว่า ประมาณ 30% ของนักศึกษาเคยจ่ายเงินเพื่อฝึกงาน เหตุผลเพราะการได้ที่ฝึกงานดี จะช่วยเพิ่มโอกาสได้งานทำสูงขึ้น แม้ว่าอาจเสี่ยงเผชิญการถูกหลอกก็ตาม

ช่องโหว่เลือกเด็กฝึกงานกับสัมพันธ์ลับ

นอกจากนี้ มีการพบว่านายหน้าหลายรายมีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ กับพนักงานภายในองค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหาตำแหน่งฝึกงานให้นักศึกษา ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา CSC Financial ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจในเครือ CITIC Group ได้เปิดเผยว่า มีนักศึกษาคนหนึ่งเข้ามาฝึกงานโดยอาศัยความช่วยเหลือจากพนักงานภายในองค์กร ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบ และพนักงานคนดังกล่าวได้ถูกดำเนินการทางวินัยแล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทต่าง ๆ เริ่มเตือนนักศึกษาไม่ให้ติดต่อกับนายหน้าที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยในเดือนมิถุนายน Huawei Technologies บริษัทโทรคมนาคมจีนแจ้งว่า ไม่ควรเชื่อถือนายหน้าที่เรียกค่าตอบแทน และขอให้นักศึกษาสมัครฝึกงานผ่านช่องทางปกติ

อีกทั้งบริษัทด้านบัญชีรายใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวว่า ไม่เคยมอบหมายการสรรหาคนฝึกงานให้กับนายหน้าภายนอก

มีเพียง 48% ของเด็กจบใหม่ได้รับข้อเสนองาน

การที่นักศึกษายอมเสียเงินให้ได้ฝึกงาน สะท้อนตลาดงานจีนอันยากลำบาก ตามข้อมูลของบริษัทจัดหางาน Zhaopin พบว่า ณ กลางเดือนเมษายน มีเพียง 48% ของนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทที่ได้รับข้อเสนองาน

ส่วนอัตราว่างงานเยาวชนจีนก็สูงขึ้นเช่นกัน แม้อัตราว่างงานของกลุ่มอายุ 16-24 ปี ลดลง 1.2% ในเดือนกันยายนเป็น 17.6% แต่ยังคง “สูงกว่า 3 เท่า” ของอัตราว่างงานโดยรวมที่ 5.1% 

ทั้งนี้ กฎหมายจีนได้ห้ามบริษัทเรียกเก็บเงินจากผู้หางาน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนสำหรับการฝึกงานที่มุ่งเป้าไปที่นักศึกษา โดยรัฐบาลจีนให้คำมั่นในการปรับปรุงกลไกการฝึกงาน แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม

ในปัจจุบัน นายจ้างบริษัทจีนยังคงระมัดระวังในการจ้างพนักงานใหม่ ขณะเดียวกัน ผู้คนก็เน้นเก็บออม และลดการใช้จ่ายต่าง ๆ ลง จึงกลายเป็นการวนลูบของ “ภาวะเงินฝืด” ที่รอคอยการฟื้นฟู
 

อ้างอิง: nikkei