เปิดภารกิจ ‘แทมมี่ ชาร์ป’ ผู้แทน UNHCR ประเทศไทย
การช่วยเหลือบุคคลพลัดที่นาคาที่อยู่ หรือคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใดๆ ในโลก จำเป็นต้องใช้งบประมาณ แต่เหนือกว่านั้นคือจิตใจที่มีมนุษยธรรม เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ในระดับโลกภารกิจนี้ตกเป็นของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
UNHCR เริ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดได้แทมมี่ ชาร์ป มารับตำแหน่งผู้แทนข้าหลวงใหญ่ฯ เดินหน้ามอบความคุ้มครองผู้ลี้ภัยและความช่วยเหลือต่อบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์การทำงานด้านมนุษยธรรมมากว่า 27 ปี จากประสบการณ์การทำงานในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย สำนักงานใหญ่ของ UNHCR ในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และสำนักงานใหญ่ของ UN ในนครนิวยอร์ก
ชาร์ปเล่าว่า ภารกิจในประเทศไทยของ UNHCR มีสองด้าน ด้านแรกคือผู้ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในเมือง โดยนิยามตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ลี้ภัยหมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมเฉพาะ (ผู้สื่อข่าวถือเป็นกลุ่มสังคมเฉพาะอย่างหนึ่ง บางประเทศเล่นงานผู้สื่อข่าวถึงชีวิตต้องมาขอความคุ้มครองจาก UNHCR ก็มี) พวกเขาจะได้รับการพิจารณาและคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และต้องไม่ถูกผลักดันกลับไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ไปยังพรมแดนแห่งอาณาเขตที่ชีวิตหรือเสรีภาพของผู้ลี้ภัยจะตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม
เมื่อพูดถึงคำว่าผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เราคงนึกถึงภาพคนจากประเทศเพื่อนบ้านมาอยู่ในค่ายพักพิงบริเวณชายแดน แท้จริงแล้วผู้ลี้ภัยยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban Refugee) คือคนที่ตั้งใจเข้ามาขอสถานะ“ผู้ขอลี้ภัย (Asylum seeker)” เพื่อไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม โดยมี UNHCR ช่วยดำเนินการ
อีกภารกิจหนึ่งคือการดูแลบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ในประเทศไทยนิยาม “ไร้รัฐ” ว่าหมายถึง บุคคลผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และไม่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนในระบบทะเบียนราษฎร ส่วน “ไร้สัญชาติ” หมายถึง บุคคลไร้รัฐที่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบทะเบียนราษฎรและมีเอกสารแสดงตน แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ
ข้อมูลเมื่อเดือน ก.ย. ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยราว 86,942 คน เป็นผู้ลี้ภัยจากเมียนมาราว 81,000 คน พักพิงอยู่ใน 9 ค่ายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ราว 5,500 คน จาก 47 ประเทศ พักพิงอยู่ในกรุงเทพฯ และในเขตเมือง ส่วนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลกมีอย่างน้อย 10 ล้านคน ในประเทศไทยเมื่อปลายเดือน มิ.ย. มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยราว 553,969 คน
ชาร์ปเล่าถึงความท้าทายของการทำงานในประเทศไทย เช่น การดูแลผู้ลี้ภัยในเมืองที่มาจาก 47 ประเทศ การประเมินสถานะผู้ลี้ภัยทำได้ยากลำบาก ขาดผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาที่จะสื่อสารกันให้เข้าใจเพื่อประเมินว่าพวกเขามีภัยมาถึงตัวจริงหรือไม่ และการที่ไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 จึงไม่มีกฎหมายภายในเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ ผู้ลี้ภัยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองเหมือนคนต่างชาติอื่นๆ แม้มีบัตรประจำตัวที่ UNHCR ออกให้ แต่หากเจอตำรวจก็ต้องแล้วแต่ดุลพินิจว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหรือปล่อยตัวไป
ในกลุ่มอาเซียนมีเพียงกัมพูชาและฟิลิปปินส์เท่านั้นที่เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อแย้งว่าแม้ไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแต่ผลงานการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยช่วงสงครามกัมพูชาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970-ต้นทศวรรษ 1990 ได้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกว่าไทยทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งชาร์ปชี้แจงว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาผู้ลี้ภัยจะช่วยให้รัฐบาลทราบได้ทันทีว่าต้องทำอะไรบ้างเมื่อมีสถานการณ์ผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น ไม่ต้องมาเจรจากันอีก
การให้สัตยาบันเป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละรัฐที่ UNHCR ไม่สามารถบีบบังคับได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ UNHCR ได้ออกแถลงการณ์แสดงความชื่นชมคณะรัฐมนตรีไทยที่อนุมัติแนวทางแก้ปัญหาเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาตินี้เมื่อวันที่ 29 ต.ค.พ.ศ. 2567 เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและสัญชาติกับประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนเกือบครึ่งล้านคน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานและทำประโยชน์ให้กับประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง