ข้อคิดเห็นเรื่องรัฐ สังคม และนโยบายสาธารณะผ่านรัฐธรรมนูญอินเดีย
ผศ.ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอบทความพิเศษคัดย่อจากปาฐกถาในงาน 75 ปีรัฐธรรมนูญอินเดีย : สดมภ์แห่งเอกภาพและความเจริญรุ่งเรือง เมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอแสดงความยินดีแก่ประชาชนชาวอินเดียทุกคนเนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี รัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก รัฐธรรมนูญอินเดียเป็นเครื่องมือที่หลอมรวมจิตวิญญาณ และความหวังของคนอินเดียกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยล้านคน โดยผสานรวมความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งยังสร้างความยืดหยุ่นทางการจัดการปกครอง เพื่อให้รัฐสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติและเป็นกลไกสำคัญในการทำให้อินเดียเปลี่ยนผ่านจากประเทศกำลังพัฒนาหลังได้รับเอกราช สู่การเป็นมหาอำนาจที่น่าจับตามองในปัจจุบัน โดยสามารถจัดวางความงดงามและยิ่งใหญ่ของรัฐธรรมนูญอินเดียไว้ 4 ข้อ ดังนี้
ข้อที่ 1 รัฐธรรมนูญอินเดียเป็นครื่องมือที่สร้างสมดุลระหว่างอำนาจและเสรีภาพ ผ่านการออกแบบ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่ผสมผสานผสานการรวมอำนาจเพื่อเสริมพลังการพัฒนาประเทศ พร้อมกับการให้คุณค่าแนวคิดการกระจายอำนาจที่มีลักษณะโดดเด่น กล่าวคือ รัฐธรรมนูญอินเดีย กำหนดให้มีรัฐบาลกลาง ณ กรุงนิวเดลี, รัฐบาลระดับมลรัฐ 28 แห่ง และรัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ทั่วประเทศ โดยระบุถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจ และกำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลแต่ละระดับอย่างชัดเจน มี Union list คืออำนาจหน้าที่ที่รัฐบาลกลางบริหารจัดการ มี state list คืออำนาจหน้าที่เป็นความรับผิดชอบของมลรัฐ และมี concurrent list คืออำนาจหน้าที่ที่รัฐบาลทั้งสองระดับสามารถบริหารจัดการร่วมกันได้
แนวคิดดังกล่าว ทำให้อินเดียสามารถรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ได้ โดยรัฐบาลกลางมีอำนาจเรื่องความมั่นคง การต่างประเทศ การธนาคาร การเงิน และการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นด้านที่จำต้องมีการบริหารจัดการเป็นหนึ่งเดียว เพื่อประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคง ขณะที่รัฐบาลแห่งมลรัฐ รับผิดชอบในด้านที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การศึกษา การเกษตร การอุตสาหกรรม และการสาธารณสุขในมลรัฐของตน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางและมลรัฐต้องร่วมกันตัดสินใจในด้านอุดมศึกษา ด้านกฎหมาย ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น การกระจายอำนาจหน้าที่ในลักษณะนี้ ทำให้รัฐบาลจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้แต่ละมลรัฐ มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้ ยกตัวอย่างเช่น มลรัฐกรณาฏกะและมลรัฐเตลังกานะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจนกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านนวัตกรรมดิจิตัล
ข้อที่ 2 รัฐธรรมนูญอินเดีย กำหนดให้มีหลักนโยบายแห่งรัฐ หรือ Directive Principles of State Policy ซึ่งทำให้อินเดียต้องออกนโยบายและดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและความยุติธรรม เพื่อให้คนทุกกลุ่มในสังคม สามารถเข้าถึงโอกาส และทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาตนเองได้ ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าอินเดียเป็นทั้งประชาธิปไตยและสังคมนิยมไปพร้อม ๆ กัน กล่าวคือมิได้ปล่อยให้สังคมดำเนินไปตามกลไกเสรีนิยมเพียงอย่างเดียว แต่รัฐต้องทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากร และสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่สังคม ซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ข้อที่ 3 รัฐธรรมนูญอินเดียโอบรับความหลากหลายและบริหารความแตกต่างให้อยู่ร่วมกัน กล่าวคือ ส่งเสริมความเป็นเอกภาพ ในขณะที่ยังคงเคารพในความแตกต่าง โดยอินเดียเป็นรัฐทางโลก (Secular State) สนับสนุนประชาชนทุกคนให้มีโอกาสพัฒนาตามความเชื่อและอัตลักษณ์ของตน อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อชนกลุ่มน้อย ผ่านการจัดเขตพื้นที่ชนเผ่า เพื่อคุ้มครองสิทธิและทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิม และรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้
ข้อสุดท้าย รัฐธรรมนูญอินเดียเป็นรัฐธรรมนูญที่มีชีวิต มีความยืดหยุ่นและปรับตัวตามยุคสมัย นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อินเดียยังคงมีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ผ่านกระบวนการที่กฎหมายกำหนด มากว่าร้อยครั้งแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย
ในฐานะนักวิชาการ ผมยกรัฐธรรมนูญอินเดียมาใช้เป็นกรณีศึกษา ในรายวิชารัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ ทำให้มีบัณฑิตที่รู้จัก “รัฐธรรมนูญอินเดีย” ไปแล้วกว่าหนึ่งพันคน เป็นการเพิ่มทางเลือกของตัวแบบสำคัญในการจัดการปกครองที่ยั่งยืนและมีคุณธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญอินเดียเป็นมากกว่าเอกสารทางกฎหมายธรรมดา เพราะได้หลอมรวมความหวังและแรงบันดาลใจ เป็นรากฐานสำคัญที่สร้างอินเดียให้ก้าวหน้าและเข้มแข็งในระดับโลก นับเป็นรัฐธรรมนูญต้นแบบฉบับหนึ่งที่โลกสามารถเรียนรู้ เลือกรับ และนำมาปรับใช้