เปิดจุดแข็งอาวุธเกาหลีใต้เขย่าตลาดโลก
เกาหลีใต้โด่งดังกับหลายสิ่ง เคป๊อป, เคดรามา และอาหารเกาหลีมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ตอนนี้หุ้นบริษัทอาวุธกำลังส่องประกายให้นักลงทุนเก็บเข้าพอร์ต
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ปีนี้หุ้นบริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์มาแรงมาก ได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อมหาศาลจากนานาประเทศ
บรรดาบิ๊กเนมอย่างฮันวา แอโรสเปซ, โคเรียแอโรสเปซอินดัสตรีส์, ฮุนไดโรเท็ม และแอลไอจี เน็กซ์1 ราคาพุ่งขึ้นมากในปีนี้
สถิติจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม (SIPRI) ชี้ว่า การใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันในปี 2023 โดยเพิ่มขึ้น 6.8% จากปี 2022 ทะลุ 2.44 ล้านล้านดอลลาร์
ปีนี้เป็นการเพิ่มขึ้นต่อปีมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ผลักดันให้ค่าใช้จ่ายทั่วโลกสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ซัง ฮุนซก นักวิจัยรับเชิญด้านอินโดแปซิฟิก จากthe Royal United Services Institute (RUSI) กลุ่มคลังสมองในสหราชอาณาจักร อธิบายกับซีเอ็นบีซีว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ผนวกกับความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทอาวุธเกาหลีใต้ได้ตลาดโลกเพิ่มขึ้น
“สถานะมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมกลาโหมของเกาหลีใต้ได้แรงหนุนจากตัวเลขจริง”
รายงานฉบับหนึ่งของสถาบันเพื่อการเมืองระหว่างประเทศศึกษาแห่งอิตาลี เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. ชี้ว่า การส่งออกอาวุธของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2-3 พันล้านดอลลาร์ช่วงปลายทศวรรษ 2010 มาอยู่ที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021
จากนั้นเติบโตมาอยู่ที่ 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 ก่อนจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2023 ส่วนปีนี้สื่อท้องถิ่น โชซุนอิลโบ คาดว่าน่าจะเกิน 2 หมื่่นล้านดอลลาร์
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์กลาโหมจากเกาหลีใต้ที่มีเศรษกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกก็มีมากขึ้นด้วย ปี 2022 มีแค่สี่ประเทศเท่านั้น แต่ปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็น 12 ประเทศ
ความอยากได้อาวุธเกาหลีใต้สามารถอธิบายได้ด้วยสามคำ “ถูกกว่า ดีกว่า เร็วกว่า” นั่นคือ ราคาถูกกว่า ผลิตได้เร็วกว่า และดีเกือบเท่ากับสินค้าจากประเทศผู้ผลิตชั้นนำ
- ถูกกว่า
แน่นอนว่าราคาเป็นเหตุผลแรก ซกจาก RUSI อธิบายว่า อาวุธเกาหลีใต้ประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับราคา เช่น ขีปนาวุธสกัดกั้นPAC-3 ใช้กับแพตทริออต ขีปนาวุธยิงจากพื้นสู่อากาศของสหรัฐ ราคาลูกละราว 4 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ขีปนาวุธสกัดกั้นชอนกงของเกาหลีใต้ ผลิตโดยแอลไอจี เน็กซ์1ทำงานแบบเดียวกับ PAC-3 ราคาเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น
ต้นทุนที่สูงเกินไปของอาวุธกลายเป็นที่จับตามองระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อรัฐบาลมอสโกใช้โดรนและขีปนาวุธมหาศาลโจมตียูเครน บางครั้งใช้โดรนไร้มนุษย์กว่า 100 ลำ
รายงานฉบับหนึ่งจากศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา เมื่อปี 2022 ตอกย้ำความแตกต่าง “ยิงขีปนาวุธลูกละ 4 ล้านดอลลาร์ ใส่ขีปนาวุธร่อนรัสเซีย 250,000 ดอลลาร์ อาจดูชอบธรรมถ้าขีปนาวุธทำลายเป้าหมายอ่อนไหว การยิงขีปนาวุธลูกละ 4 ล้านดอลลาร์เข้าใส่โดรนชาเฮ็ด-136 ของอิหร่านลำละ 50,000 ดอลลาร์ย่อมไม่ชอบธรรม”
ขณะที่อาวุธสหรัฐมีชื่อเสียงเรื่องประสิทธิภาพเยี่ยมยอด บรูซ เบนเนตต์ นักวิเคราะห์กลาโหมอาวุโสของแรนด์ คอร์ปอเรชัน คลังสมองสหรัฐ กล่าวว่า นั่นเป็นเพราะว่า อาวุธสหรัฐใช้ต้นทุนสูง ประเทศส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง
“ดังนั้น เกาหลีจึงใช้วิธีเสนออาวุธที่แพงน้อยกว่ามากแต่ดีเกือบเท่ากัน ซึ่งดึงดูดใจลูกค้าหลายประเทศ” นักวิเคราะห์กล่าว
- เร็วกว่า
ประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมเมื่อเทียบกับราคาเป็นสิ่งสำคัญ แต่แค่สั่งซื้ออาวุธไม่สามารถป้องกัประเทศได้ จนกว่าอาวุธจะมาถึงและนำไปใช้งานเท่านั้น
ฮอชิก นัม ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแจ็กสันวิลล์ กล่าวว่า เกาหลีใต้ลงทุนอย่างหนักในอุตสาหกรรมกลาโหมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะยังอยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือและเตรียมตัวอย่างดีรับดีมานด์ที่พุ่งขึ้นหลังรัสเซียรุกรานยูเครน
“การลงทุนอย่างต่อเนื่องทำให้อุตสาหกรรมรักษาขีดความสามารถการผลิตที่แข็งแกร่งไว้ได้ แตกต่างจากตะวันตกบางประเทศที่ลดสายการผลิตอาวุธลงหลังสงครามเย็น” นักวิชาการกล่าว
ตัวอย่างเช่น ในปี 2022โปแลนด์ได้สั่งซื้อ FA-50s จำนวน 48 ลำผลิตโดย KAI เพื่อเติมระบบเครื่องบินรบของตน หลังจากที่ประเทศได้บริจาคเครื่องบินรบอดีตสหภาพโซเวียตบางส่วนให้กับยูเครน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม มาริอุซ แบลสค์แซ็ค ให้สัมภาษณ์สื่อโปแลนด์ ที่เลือกFA-50 เพราะ KAI สามารถส่งมอบเครื่องบินได้เร็ว
มีรายงานว่า สิ้นปี 2023 ส่งมอบได้ 12 ลำจากคลังสำรอง ที่เหลือจะผลิตขึ้นตามสเป็คโปแลนด์โดยเฉพาะและเริ่มส่งมอบในปี 2025
นอกจากนี้ FA-50 ยังเข้ากันได้ดีกับเครื่องบินรบ F-16 ของสหรัฐ ที่โปแลนด์ใช้งานอยู่เช่นกัน ทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับประเทศต่างๆ ที่กำลังมองหาทางเลือกที่คุ้มค่าและมีระยะเวลาจัดซื้อที่รวดเร็วขึ้น
- (เกือบจะ) ดีกว่า
อาวุธเกาหลีใต้ไม่ถึงขั้นสุดยอดแต่คุ้มราคา เข้ากันได้กับหลายระบบ เชื่อถือได้สูงจึงน่าสนใจสำหรับผู้ซื้อ
นัมจากเจเอสยูกล่าวว่า เนื่องจากเกาหลีใต้ซ้อมรบร่วมกับสหรัฐเป็นประจำ อาวุธจึงต้องเข้ากันได้ดีกับระบบของสหรัฐและนาโต ประเทศที่ใช้อาวุธเกาหลีใต้จึงใช้โลจิสติกส์ของตนได้
เทียบกับอาวุธรัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียต ระบบของเกาหลีใต้มีข้อได้เปรียบตรงที่เชื่อถือได้มากกว่า การมีฐานลูกค้ากว้างขวางกว่าเท่ากับว่ามีเครือข่ายสนับสนุนบริการมากกว่า
ซกจาก RUSI กล่าวเสริมว่า บริษัทอาวุธเกาหลีใต้ยังให้เงื่อนไขด้านอื่นๆ ดีมากด้วย เช่น ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี, การผลิตในท้องถิ่น และการเงิน ไม่เพียงเท่านั้นบริษัททั้งหลายยังกระตือรือร้นปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และสนับสนุนหลังการขายอย่างครอบคลุม
เบนเนตต์จากแรนด์กล่าวถึงกรณีอินเดีย ที่ลงนามข้อตกลงกับเกาหลีใต้ ผลิต K9 Thunder (ในอินเดียรู้จักกันในชื่อ K9 Vajra-T) ในปี 2015
อินเดียซื้ออาวุธรัสเซียมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่รัสเซียขายไปแล้วไม่สามารถจัดหาการสนับสนุน เช่น การบำรุงรักษาและอะไหล่ให้ได้
“ดังนั้นแนวทางของเกาหลีตั้งแต่แรกเริ่มก็คือ เราต้องแน่ใจว่ามีห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ เราให้บริการบำรุงรักษาได้ เราจะส่งคนออกไปทุกที่ทั่วโลกเพื่อช่วยคุณจัดหาความสามารถในการบำรุงรักษา ห่วงโซ่อุปทาน และอะไหล่” เบนเนตต์สรุปถึงความโดดเด่นของอาวุธเกาหลีใต้