‘สมองไหลครั้งใหญ่’ ในอินเดีย เศรษฐกิจโต แต่ทำไมหัวกะทิแห่ย้ายออกจากประเทศ

‘สมองไหลครั้งใหญ่’ ในอินเดีย เศรษฐกิจโต แต่ทำไมหัวกะทิแห่ย้ายออกจากประเทศ

‘อินเดีย’ ประเทศเศรษฐกิจโตเร็วและมีประชากรหนุ่มสาวจำนวนมาก แต่กลับเผชิญ ‘ภาวะสมองไหล’ อย่างหนัก สาเหตุหลักมาจากโอกาสในการทำงานที่จำกัด ค่าตอบแทนที่ไม่น่าพอใจ และคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีพอ

KEY

POINTS

  • ทุกปี มีชาวอินเดีย 2.5 ล้านคนย้ายออกจากประเทศ และตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา มีชาวอินเดียมากถึง 1.6 ล้านคนสละสัญชาติอินเดีย ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า “ภาวะสมองไหลครั้งใหญ่” ของอินเดีย
  • แม้ว่าจีดีพีของอินเดียเติบโตที่ 6.7% แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกอยู่กับประชากร 10% ซึ่งเป็นระดับชนชั้นนำของประเทศ
  • อัตราจ้างงานต่อประชากรวัยทำงานในอินเดียอยู่ที่ 52.8% หรือก็คือ “ราวครึ่งหนึ่ง” ของประชากรเท่านั้นที่มีงานทำ

“อินเดีย” ประเทศเศรษฐกิจดาวรุ่งไฟแรงที่มี “ประชากรหนุ่มสาว” โตเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ความหวังที่เศรษฐกิจจะโตแซงจีนดูเหมือนจะไม่ราบรื่นเสียแล้ว เมื่ออินเดียประสบปัญหา “ภาวะสมองไหล” จำนวนมาก บุคลากรระดับหัวกะทิของประเทศต่างแห่ออกไปทำงานต่างประเทศแทน ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยีและการแพทย์เท่านั้น หากแต่ยังขยายวงกว้างไปยังทุกสาขาอาชีพ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างน่ากังวลใจ

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีบุคคลที่มีความสามารถหลายคนอพยพออกจากอินเดีย ไม่ว่าซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Alphabet, สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของ Microsoft และลีน่า แนร์ ผู้บริหารระดับสูงของ Chanel ฯลฯ จนในปัจจุบัน ตามข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศอินเดีย ประเทศนี้เผชิญปัญหาการไหลออกของทรัพยากรมนุษย์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทุกปี มีชาวอินเดีย 2.5 ล้านคนย้ายออกจากประเทศ และตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา มีชาวอินเดียมากถึง 1.6 ล้านคนสละสัญชาติอินเดีย ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า “ภาวะสมองไหลครั้งใหญ่” ของอินเดีย

ด้วยเหตุนี้ กลายเป็นคำถามที่ตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับ “อินเดีย” ทำไมคนเก่งระดับหัวกะทิจำนวนไม่น้อยถึงเลือกไม่อยู่ในประเทศนี้ แต่ย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศแทน

‘สมองไหลครั้งใหญ่’ ในอินเดีย เศรษฐกิจโต แต่ทำไมหัวกะทิแห่ย้ายออกจากประเทศ

โอกาสน้อย เงินเดือนต่ำ ผลักบัณฑิตสู่ต่างแดน

แม้ว่าอินเดียมีประชากรจำนวนมากในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแรงงาน แต่ในอีกมุมหนึ่ง โอกาสงานดีในประเทศนี้กลับหาได้ยาก เคชาฟ ราจ (Keshav Raj) วัย 27 ปี จบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก SRM Institute of Science and Technology ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันเลื่องชื่อในรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย

ราจเป็นเด็กเรียนเก่ง ได้เกรดที่ดี และผ่านการฝึกงานในสตาร์ทอัพทั้งในอินเดียและอินโดนีเซีย โดยเขาหวังที่จะได้งานในแผนกศูนย์ดาต้าของหน่วยงานรัฐบาลหรือบริษัทข้ามชาติ

“พ่อแม่ผมยอมกู้เงิน 1.9 ล้านรูปี หรือราว 7.6 แสนบาท เพื่อให้ผมเรียนจบ ดังนั้น ผมจึงตั้งใจเรียนและฝึกงาน เพื่อหางานที่มีรายได้ดีอย่างรวดเร็ว” ราจกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านการสอบและสัมภาษณ์มาหลายรอบ ราจก็ยังไม่ได้งานที่ใฝ่ฝันไว้สักที ความสิ้นหวังผลักดันให้เขาต้องรับตำแหน่งตัวแทนฝ่ายบริการลูกค้าที่ศูนย์บริการของ Amazon ด้วยเงินเดือน 22,000 รูปีหรือราว 8,800 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดหวังไว้มาก ทั้งที่เขาจบด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันและชำระหนี้ค่าเล่าเรียนเป็นไปอย่างยากลำบาก

“แม่ผมเป็นผู้ช่วยคลินิกและพ่อเป็นคนขับรถยนต์ พวกเขาไม่ได้รับเงินเดือนมากนัก ดังนั้นผมต้องพยายามหาเลี้ยงชีพให้ได้มากที่สุด ผมไม่สามารถจัดการได้หากยังคงทำงานในอินเดีย เพราะการแข่งขันสูงและยากที่จะหางานที่มีรายได้ดี” ราจกล่าว โดยเขากำลังมองหางานนอกอินเดียและกล่าวว่า “ยินดีที่จะไปทุกที่และทำทุกอย่าง”

เขาเป็นหนึ่งในหลายแสนคนที่จบการศึกษาจากอินเดีย และกำลังแสวงหาโอกาสทำงานนอกประเทศ ด้วยความหวังที่จะได้รับค่าตอบแทน มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน

ชยาตี โฆษ (Jayati Ghosh) อดีตศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru ของอินเดีย และปัจจุบันอยู่ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Amherst ของสหรัฐ กล่าวว่า “แน่นอนว่าเกิดวิกฤติการจ้างงานในอินเดีย”

เธอเสริมต่อว่า “เรามีคนรุ่นใหม่ที่มีความทะเยอทะยานและต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ครอบครัวขายที่ดินและทรัพย์สินเพื่อส่งเสียรุ่นลูกๆ ให้ได้เรียนในระดับสูง แต่ตอนนี้ลูกๆ ของพวกเขายังคงหางานทำไม่ได้” 

เศรษฐกิจโต แต่คนตกงาน

ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินเดียเติบโตราว 5-7% ต่อปี แต่จำนวนงานในประเทศกลับไม่ได้เติบโตตาม เหตุผลเพราะส่วนที่โตจริง ๆ กลับเป็น “กลุ่มทุนใหญ่” แทน โดยโฆษอธิบายว่า อินเดียเกิดวิกฤติการจ้างงานขึ้น เนื่องจากจำนวนงานในประเทศไม่ได้โตตามจีดีพี

โฆษเสริมต่อว่า การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอินเดียตามข้อมูลล่าสุดนั้น “ไม่ได้มาจากการสร้างงานจริง ๆ” แต่มาจากบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ที่ดำเนินธุรกิจขนาดเล็กของตนเอง หรือเป็นแรงงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างในกิจการของครอบครัว

“แม้ว่าจีดีพีของอินเดียเติบโตที่ 6.7% แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกอยู่กับประชากร 10% ชั้นนำของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น Adani, Ambani และ Tata ไม่ใช่ไปที่ธุรกิจ SMEs ซึ่งมีการจ้างงานประมาณ 85-90% ของประชากร” โฆษกล่าว

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศยังระบุอีกว่า อัตราการจ้างงานต่อประชากรวัยทำงานในอินเดียอยู่ที่ 52.8% หรือก็คือ “ราวครึ่งหนึ่ง” ของประชากรเท่านั้นที่มีงานทำ สะท้อนถึงการใช้ประโยชน์จากแรงงานที่ไม่เต็มที่ โอกาสงานไม่เพียงพอ ความไม่ตรงกันของทักษะ หรืออุปสรรคอื่น ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราส่วนการพึ่งพิงแรงงาน อยู่ที่ 1.52 หมายความว่า มี “ผู้พึ่งพิง” (บุคคลที่ไม่ทำงาน เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนว่างงาน) 1.52 คน ต่อ “คนทำงาน” 1 คน สะท้อนว่ากลุ่มวัยทำงานในอินเดียต้องสนับสนุนผู้ที่ไม่ได้ทำงานเป็นจำนวนไม่น้อย

บุคลากรเก่งหนีออกจากอินเดีย

ในขณะที่โอกาสงานในอินเดียมีจำกัด แต่ในต่างประเทศกลับขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะ 4 อย่างหรือที่เรียกว่า “STEM” ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี  (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) 

ข้อมูลจากเว็บไซต์หางาน Foundit แสดงให้เห็นว่า จำนวนประกาศรับสมัครงานระหว่างประเทศบนแพลตฟอร์มของบริษัทที่ต้องการหาบุคลากรในอินเดีย “เพิ่มขึ้น” 11.4% ในปีนี้ พร้อมกันนี้ จำนวนใบสมัครจากผู้ใช้งานชาวอินเดียบนแพลตฟอร์มดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นถึง 59.4%

อนุรักษ์ สินห์ (Anurag Sinha) หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของ Foundit กล่าวว่า “แคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่ชาวอินเดียแสวงหาโอกาส”

ด้วยปัญหาสมองไหลในอินเดียปัจจุบัน ทำให้เกิดตำแหน่งงานว่างในภาคบริการสาธารณะของอินเดียจำนวนมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาล โรงเรียน และทางรถไฟของรัฐด้วยตำแหน่งงานว่างประมาณ 7 ล้านตำแหน่ง บริการสาธารณะที่สำคัญจึงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของบริการที่มอบให้กับประชาชน

สุไนนา กุมาร (Sunaina Kumar) นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบันวิจัย Observer Research Foundation กล่าวว่า “เมืองในอินเดียนั้นยากลำบากในการอยู่อาศัยมาก คุณภาพชีวิตก็เผชิญกับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ มลภาวะ รวมถึงการจราจรติดขัด ล้วนเป็นภาระของผู้คนทั้งนั้น ดังนั้น จนกว่าเราจะแก้ไขปัญหานี้ คนเก่ง ๆ ของเราบางคนก็จะย้ายออกไปหาชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศแทน” 


อ้างอิง: globalcnbcdeccan