'ไบเดน' จ่อคว่ำบาตร 'น้ำมันรัสเซีย' เพิ่ม หวังกดดันเครมลินหนัก ก่อนหมดวาระ
รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรใหม่กับธุรกิจน้ำมันที่ทำกำไรมหาศาลของรัสเซีย เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อเครื่องจักรสงครามรัฐบาลเครมลิน เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับคืนสู่ทำเนียบขาว
รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรใหม่ของสหรัฐยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่แหล่งข่าวเผยว่าทีมของ ปธน.ไบเดน กำลังพิจารณามาตรการจำกัดที่อาจมุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของรัสเซีย
การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขัดขวางมาตลอด เนื่องจากกังวลว่าอาจทำให้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงขึ้น (โดยเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพ.ย.) แต่ด้วยราคาน้ำมันที่ลดลงท่ามกลางภาวะน้ำมันล้นตลาดทั่วโลก และความกังวลที่เพิ่มขึ้น ว่าที่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ อาจพยายามกดดันให้ยูเครนบรรลุข้อตกลงกับรัสเซียเพื่อยุติสงครามที่ดำเนินมานานเกือบ 3 ปี ตอนนี้รัฐบาลไบเดนจึงเปิดรับการดำเนินการที่แข็งกร้าวมากขึ้นแล้ว
บลูมเบิร์ก รายงานว่า การพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรใหม่ ตอกย้ำว่าทีมรัฐบาลไบเดนเต็มใจเสี่ยงเผชิญหน้ากับรัสเซียมากขึ้น เพราะกำลังจะหมดวาระ และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ รัฐบาลสหรัฐได้เดินหน้าเพิ่มการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน ท่ามกลางข้อสงสัยเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของทรัมป์ว่าจะยังสนับสนุนยูเครนต่อไปหรือไม่
ทั้งนี้ สหรัฐได้แบนการนำเข้าน้ำมันรัสเซียเรียบร้อยแล้ว แต่มาตรการใหม่ที่จะจำกัดการส่งออกน้ำมันของหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกอาจทำให้นโยบายที่สหรัฐดำเนินการมา 2 ปี หลังรัสเซียรุกรานยูเครน ต้องเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ แหล่งข่าวบอกด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อกองเรือบรรทุกที่รัสเซียใช้ขนส่งน้ำมัน และอาจได้รับการเปิดเผยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
สหภาพยุโรป (อียู) มีแผนออกมาตรการคล้ายๆ กัน ต่อกองเรือเงาของรัสเซียก่อนสิ้นปีนี้ และคาดว่าอียูอาจมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าดังกล่าวด้วย
ด้านโฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงการคลังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันอังคาร (10 ธ.ค.67)
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
บลูมเบิร์ก ระบุว่า รูปแบบการคว่ำบาตรเป็นวงกว้างของสหรัฐอาจคล้ายกับมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน ในกรณีนี้ผู้ซื้อน้ำมันจะเผชิญการลงโทษจากสหรัฐด้วย ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้มีความเสี่ยง เพราะประเทศมหาอำนาจรวมทั้งอินเดีย และจีน เป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบรัสเซียรายใหญ่ และจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตึงเครียด
นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างคู่ที่เป็นปกปักษ์ต่อกัน และพันธมิตร ที่ทำให้สหรัฐต้องการจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์อ่อนไหว เช่น ชิป และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่หนุนเครื่องจักรสงครามรัสเซีย
ไบเดนหวังกดดันรัสเซียก่อนหมดวาระ
ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรใหม่เป็นการพยายามแสวงหากำไรในตลาดน้ำมันที่ชะลอตัวลง มาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัสเซียก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง
ว่าที่ ปธน.ทรัมป์ ได้ผลักดันการเจรจายุติสงครามในยูเครน และปัจจุบันเจ้าหน้าที่บอกว่า ทีมของทรัมป์ต้องการให้รัฐบาลประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน มีอำนาจในการต่อรองได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
การกดดันทางการเงินของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อาจทำให้การเจรจาของยูเครนมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่ทรัมป์จะยกเลิกมาตรการต่างๆ หากเขามองว่ามาตรการ นั้นๆ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องแลกด้วยการถูกมองว่ามีภาพลักษณ์ที่อ่อนแอ หรือยอมอ่อนข้อให้รัสเซียเร็วเกินไป
จนถึงขณะนี้ ไบเดนได้ออกมาตรการจำกัดน้ำมันรัสเซียหลายรายการแล้วเพื่อพยายามควบคุมราคาน้ำมัน และปรับสมดุลความต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตลาดโลกปั่นป่วน และเพื่อจำกัดรายได้น้ำมันของรัสเซีย
ฮังการี และประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ได้ออกมาเตือนสหรัฐต่อการตัดสินใจสร้างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงพลังงาน ส่วนตุรกีก็พยายามข้อยกเว้นการคว่ำบาตรด้วย
อ้างอิง: Bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์