'ออสเตรเลีย' เตือน ตัวอย่าง 'ไวรัสอันตรายถึงตาย' หลุดจากแล็บ 323 ขวด !

'ออสเตรเลีย' เตือน ตัวอย่าง 'ไวรัสอันตรายถึงตาย' หลุดจากแล็บ 323 ขวด !

รัฐบาลของรัฐควีนส์แลนด์ ประกาศเตือน ขวดบรรจุตัวอย่างไวรัสกว่า 300 ขวดหายไปจากแล็บในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย หวั่นเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดไวรัสอาจสลายตั้งแต่ออกจากตู้แช่แข็งแล้ว

สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ รายงานเมื่อวันอังคาร (10 ธ.ค.67) ว่า รัฐบาลได้สั่งให้ Queensland Health ซึ่งเป็นหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทำการสืบสวนสถานการณ์ที่รัฐบาลเรียกว่า “การละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์”

เนื่องจากมีรายงานว่า ขวดบรรจุไวรัสติดเชื้อหลายชนิดจำนวน 323 ขวด รวมถึงไวรัสเฮนดรา ไวรัสลิสซา และไวรัสฮานตา หายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขในรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี 2564 และมีการเปิดเผยเมื่อเดือนส.ค.2566 ตามข้อมูลของสำนักข่าว ABC

ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ระบุว่า ไวรัสเฮนดราคือ ไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งพบได้แค่ภายในออสเตรเลีย เท่านั้น ขณะที่ไวรัสฮานตา เป็นไวรัสตระกูลที่สามารถนำไปสู่อาการเจ็บป่วยรุนแรง และถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนไวรัสลิสซาเป็นกลุ่มไวรัสที่สามารถทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า

ส่วนแล็บที่เก็บตัวอย่างไวรัสเหล่านั้น เป็นศูนย์บริการวินิจฉัย เฝ้าระวัง และวิจัยเกี่ยวกับไวรัส ยุง และเชื้อโรคที่แพร่กระจายผ่านเห็บ ที่มีความสำคัญทางการแพทย์

ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าตัวอย่างไวรัสเหล่านั้นถูกขโมยหรือเสียหาย แต่ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงกับชุมชน รัฐบาลจึงเปิดการสอบสวนมาตรา 9 (Part 9 investigation)

ทิโมธี นิโคลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเมื่อวันจันทร์ (9 ธ.ค.67) ว่า ด้วยการละเมิดความปลอดภัยทางชีวภาพที่ร้ายแรง กระทรวงสาธารณสุขควีนส์แลนด์ จำเป็นต้องสืบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก และว่าการสืบสวนมาตรา 9 จะช่วยให้มั่นใจว่าไม่มีสิ่งใดถูกละเลยในสถานการณ์นี้ พร้อมตรวจสอบนโยบาย และขั้นตอนการดำเนินงานในปัจจุบันของแล็บดังกล่าว และย้ำว่า การสืบสวนจะพิจารณาการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และพฤติกรรมของพนักงานด้วย

นิโคลส์ เสริมอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขควีนส์แลนด์ได้ใช้มาตรการเชิงรุก รวมถึงการฝึกอบรมพนักงานใหม่เกี่ยวกับระเบียบที่จำเป็น และดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดเก็บวัสดุอย่างถูกต้อง

ด้าน ดร.แซม สการ์ปิโน ผู้อำนวยการศูนย์เอไอ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นในบอสตัน ยืนยันว่า สถานการณ์ในออสเตรเลียเป็นการขาดความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างร้ายแรง และเผยกับฟ็อกซ์นิวส์ว่า ไวรัสที่หายไปล้วนเป็นไวรัสที่มีความสำคัญสูง และอาจเป็นภัยคุกคามต่อประชาชน

“ไวรัสฮานตาบางชนิดมีอัตราทำให้เสียชีวิต 15% หรือมีความเสี่ยงมากกว่าโควิด 100 เท่า ขณะที่ชนิดอื่นๆ มีความรุนแรงใกล้เคียงกับไวรัสโควิด-19”

ดร.แซม บอกด้วยว่า สัตว์ต่างๆ และปศุสัตว์มีความเสี่ยงสูงจากไวรัสที่หายไปจากแล็บ อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถในการแพร่กระจายไวรัสจากสัตว์สู่คนมีจำกัด จึงมีความเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดต่ำ แต่ได้เตือนว่าไวรัสเฮนดรา และไวรัสบางชนิดในตระกูลฮานตา และลิสซาอาจทำให้มนุษย์ และสัตว์ป่วยด้วยอาการรุนแรงได้

ดร.จอห์น เจอร์ราด ประธานฝ่ายเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ย้ำในการแถลงข่าวกับสื่อว่า ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงต่อสาธารณชน โดยเขาย้ำว่าเมื่อไวรัสออกจากตู้แช่แข็งจะสลายตัวอย่างรวดเร็ว จึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้ และแทบไม่มีความเป็นไปได้ว่าตัวอย่างเหล่านั้นจะถูกนำไปทิ้ง เพราะเป็นการดำเนินการที่อยู่นอกเหนือจากแนวปฏิบัติทั่วไปของแล็บ

เจอร์ราด บอกด้วยว่า ยังไม่เคยมีเคสมนุษย์ติดเชื้อไวรัสเฮนดราหรือลิสซาในควีนส์แลนด์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และไม่มีการยืนยันการติดเชื้อไวรัสฮานตาในออสเตรเลียด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้มีความเสี่ยงต่ำ แต่สการ์ปิโน บอกว่า การทราบว่าไวรัสเหล่านี้ไปอยู่ที่ใดนั้นมีความสำคัญ เพื่อยืนยันว่าจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้น

“ผมขอชื่นชมที่รัฐบาลออสเตรเลียจริงจังในเรื่องนี้ แต่ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก เพราะเวลาผ่านไปนานมากกว่า 1 ปี ข่าวเหล่านี้เพิ่งนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน”

สการ์ปิโน ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าสหรัฐอาจยังมีข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยทางชีวภาพสูงเช่นกัน

อ้างอิง: Fox News

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์