'คนรุ่นใหม่จีน' แห่สอบราชการเฉียด 4 ล้านคน แม้ได้เงินเดือนไตรมาสละครั้ง
คนรุ่นใหม่จีนแห่สอบราชการเฉียด 4 ล้านคนหวังมั่นคงในอาชีพและสวัสดิการ
แม้บางที่ได้เงินเดือนไตรมาสละครั้ง
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานวันนี้ (30 ธ.ค.) ว่า คนรุ่นใหม่ชาวจีนจำนวน 3.4 ล้านคนเข้าสอบราชการในปีนี้ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด โดยถูกดึงดูดด้วยความมั่นคงในอาชีพตลอดชีวิตและสวัสดิการต่างๆ รวมถึงที่พักอาศัยราคาถูก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาในภาคเอกชนและอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
จำนวนผู้สมัครเพิ่มขึ้นกว่า 400,000 คนจากปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2014 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการความมั่นคงอย่างมากของคนรุ่นเจนซีที่ผิดหวังกับสภาพเศรษฐกิจ และการขาดแคลนทางเลือกที่น่าดึงดูดในภาคเอกชน แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะประสบปัญหาในการจ่ายเงินเดือนเนื่องจากวิกฤตการคลังก็ตาม
แคลร์ นักศึกษาปริญญาโทในปักกิ่ง แหล่งข่าวของรอยเตอร์ส เข้าสอบในสนามที่มีการแข่งขันสูงในต้นเดือนธ.ค. โดยเธอใช้เวลาเรียนวันละ 9 ชั่วโมงและจ่ายเงิน 980 หยวน (ราว 4,800 บาท) สำหรับการเรียนติวออนไลน์ เธอระบุว่าเกียรติยศทางสังคมและความมั่นคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอสมัครงานเฉพาะในหน่วยงานรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้น หลังจากที่เคยเห็นเพื่อนร่วมงานถูกเลิกจ้างระหว่างฝึกงานในบริษัทเทคโนโลยี
"ฉันแค่อยากสอบผ่านและไม่ต้องกังวลกับอนาคต” หญิงสาววัย 24 ปีกล่าว โดยขอปกปิดนามสกุลด้วยเหตุผลส่วนตัว พร้อมอธิบายเสริมว่า “แม้จะรู้จักข้าราชการที่ไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือน ฉันก็ยังสมัครเพราะไม่ได้หวังที่จะมีเงินมากมาย"
หากเธอสอบผ่าน เธอจะต้องเข้าสัมภาษณ์เพิ่มเติม รวมถึงการตรวจสอบประวัติทางการเมืองและการตรวจร่างกาย โดยคาดว่าจะทราบผลสุดท้ายประมาณเดือนเม.ย.
บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ส ระบุว่า การเลิกจ้างเกิดขึ้นได้ยากในระบบราชการจีน จนได้รับฉายาว่า "ชามข้าวเหล็ก" แม้ว่าบุคคลอาจถูกไล่ออกได้หากมีการละเมิดทางวินัย
"ผู้นำปัจจุบันไม่มีความตั้งใจที่จะลดขนาดของพนักงานภาครัฐ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเสถียรภาพของระบอบการปกครอง" อัลเฟรด วู รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าว
ตำแหน่งข้าราชการส่วนใหญ่มีข้อจำกัดอายุที่ 35 ปี และมีสวัสดิการที่พักอาศัยและประกันสังคม ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดหลักสำหรับบัณฑิตที่ผิดหวังกับโอกาสการทำงานในภาคเอกชนที่มีน้อย
อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว แม้จะลดลงเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขก่อนการระบาดของโควิด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนพยายามฟื้นตัวท่ามกลางวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อและการบริโภคที่อ่อนแอ
ชาวจีนรุ่นเจนซีจำนวนมาก "รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมากและไม่รู้ว่าอะไรมีความหมาย" หลังจากที่ชีวิตมหาวิทยาลัยของพวกเขาถูกกำหนดโดยการระบาดใหญ่และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาชาวจีนกล่าวโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ
เนื่องจากคนรุ่นปัจจุบันไม่เคยประสบกับการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในภาครัฐในช่วงทศวรรษ 90 หลายคนจึงมีมุมมองในอุดมคติต่องานราชการ เขากล่าว โดยสังเกตจากมีมในโซเชียลมีเดียที่สรุปได้อย่างเหมาะสมว่า "การเป็นข้าราชการคือจุดสิ้นสุดของจักรวาล"
ปัญหาเรื่องค่าตอบแทน
อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์พนักงานภาครัฐ 10 คนใน 4 มณฑลของจีน พบว่ามีการลดโบนัสและเงินเดือนลงถึง 30% ในปีนี้ ทำให้บางคนพิจารณาลาออก ในขณะที่มาตรการจำกัดการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาลท้องถิ่นนำไปสู่การลดจำนวนพนักงานเป็นครั้งคราว
ข้าราชการบางคนบอกว่าไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลาหลายเดือน ส่วนพนักงานของรัฐบาลคนอยู่รอดด้วยเงินเพียงเดือนละ 4,000 หยวน (ราว 18,000 - 20,000 บาท) แม้ต้องเลี้ยงดูครอบครัวและผ่อนชำระเงินกู้ หลายคนขอไม่เปิดเผยชื่อเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตอบโต้
แม้จะมีปัญหาเหล่านี้ชัดเจน แต่อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่สูงทั่วประเทศได้ผลักดันให้เกิดความต้องการตำแหน่งงานราชการอย่างมาก โดยจำนวนตำแหน่งเพิ่มขึ้นจาก 14,500 ตำแหน่งในปี 2019 เป็น 39,700 ตำแหน่งในปีนี้
แคทเธอรีน หลิน ลาออกจากงานราชการในเมืองเซินเจิ้นทางตอนใต้ในเดือนก.ค. หลังจากเงินเดือนแตะระดับ 15,000 หยวน (ราว 75,000 บาท) ซึ่งลดลง 25% จากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนโบนัสถูกยกเลิก และผู้บังคับบัญชาให้ข้อมูลว่าจะมีการลดขนาดองค์กรเพิ่มเติม
"บางแผนกเลือกที่จะลดเงินเดือนลง 30% หรือไม่ก็เลิกจ้างคนเพื่อตอบสนองนโยบายการประหยัดต้นทุน" เธอกล่าว ประกาศสาธารณะแสดงให้เห็นว่าสำนักงานระดับเขตในเซินเจิ้นอย่างน้อยสามถูกควบรวมและพนักงานเก้าคนถูกเลิกจ้างในปีนี้
ในบทบาทของเธอในฐานะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย เธอต้องจัดการกับการประท้วงของแรงงานต่างถิ่นที่มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งปกติแล้วพวกเขาจะเรียกร้องค่าจ้างก่อนตรุษจีน
ข้าราชการอีกคนในชนบทมณฑลกวางตุ้งนิยาม เงินเดือน 4,000 หยวน (ราว 20,000 บาท) ของเขาว่าเป็น "ความยากจนที่มั่นคง" หลังจากที่รัฐบาลหยุดจ่ายโบนัสรายเดือนจำนวน 1,000 หยวน (ราว 5,000 บาท) ในเดือนมิ.ย.
ในมณฑลซานตง ข้าราชการร้องเรียนบนโซเชียลมีเดียในเดือนก.ย.ว่าได้รับเงินเดือนเพียงหนึ่งเดือนต่อไตรมาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่เรียกว่า "guarantee four (months' salary), strive for six" หรือ รับรองการจ่ายเงินเดือนแค่ 4 เดือน อีก 6 เดือนหยุดจ่าย
ด้านสภาแห่งรัฐและรัฐบาลเซินเจิ้นไม่ได้ตอบกลับคำขอความคิดเห็นที่ส่งทางแฟกซ์จากรอยเตอร์ส