ทรัมป์อาจประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ’ เพื่อเสริมอำนาจกำหนดภาษีนำเข้า

ทรัมป์อาจประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ’ เพื่อเสริมอำนาจกำหนดภาษีนำเข้า

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กำลังพิจารณาประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระดับชาติ’ เพื่อเสริมอำนาจในการกำหนดนโยบายภาษีศุลกากรที่เป็น ‘หัวใจ’ ของการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ผ่านมา

ว่าที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังพิจารณาประกาศ “ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระดับชาติ” เพื่อผลักดันนโยบายภาษีศุลกากรที่มีขอบเขตกว้างขวาง ตามแหล่งข่าว 4 รายที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

การประกาศในลักษณะนี้ จะทำให้ทรัมป์มีอำนาจในการกำหนดโครงการภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา โดยผ่านกฎหมายว่าด้วยอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Emergency Powers Act) หรือ IEEPA ตามที่ซีเอ็นเอ็นรายงาน กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสามารถควบคุมการนำเข้าสินค้าในช่วงวิกฤติระดับชาติได้

หลังกระแสข่าวนี้แพร่สะพัด ฟิวเจอร์สหุ้นได้ปรับตัวลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนใหญ่

แหล่งข่าวของซีเอ็นเอ็นระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าทรัมป์จะประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติหรือไม่ ทีมงานของทรัมป์กำลังพิจารณาเหตุผลทางกฎหมายทางเลือกอื่น ๆ เช่น การอ้างอิงถึงบทบัญญัติเฉพาะในกฎหมายการค้าของสหรัฐ

ก่อนหน้านั้น ทรัมป์ได้เสนอแนวคิดการเก็บภาษีสินค้านำเข้าอยู่หลายครั้งระหว่างการหาเสียง โดยบางครั้งเรียกร้องให้เก็บภาษีสูงถึง 60% หรือมากกว่านั้นสำหรับสินค้าจากจีน หลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งไม่กี่สัปดาห์ เขาได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% และเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าที่มาจากแคนาดาหรือเม็กซิโก

หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ทรัมป์อาจจำกัดเป้าหมายของการจัดเก็บภาษีให้แคบลง ซึ่งเป็นแนวทางที่ดูเหมือนว่าวอลล์สตรีทจะสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ว่าที่ประธานาธิบดีได้ปฏิเสธรายงานดังกล่าวในเวลาต่อมา

ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์อ้างว่าคลองปานามา “ถูกบริหารโดยจีน” และเรียกร้องให้คลองดังกล่าวกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐ เขากล่าวว่า “คลองปานามาถูกสร้างขึ้นเพื่อกองทัพของเรา” และเสริมว่า “คลองปานามามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศของเรา”

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐยังได้ข่มขู่เดนมาร์กด้วยการเตรียมเก็บภาษีเชิงลงโทษเกี่ยวกับกรีนแลนด์ โดยเตือนว่า “จะเก็บภาษีเดนมาร์กในอัตราสูงมาก” หากประเทศดังกล่าวต่อต้านความทะเยอทะยานด้านดินแดนของเขา 

ผู้นำชาติพันธมิตรได้ปฏิเสธจุดยืนของทรัมป์อย่างรวดเร็ว โดยโฆเซ ราอุล มูลิโน ประธานาธิบดีของปานามายืนยันว่า ทุกตารางเมตรของคลองปานามาจะยังคงอยู่ภายใต้อธิปไตยของปานามา

ขณะที่เมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์กย้ำว่า “กรีนแลนด์ไม่ใช่ของที่จะขายได้” และเน้นว่า อนาคตของดินแดนดังกล่าวจะถูกกำหนดโดยประชาชนของกรีนแลนด์เอง


อ้างอิง: cnbcguardian