‘ยึดทรัพย์รัสเซีย’ หาเงินช่วยยูเครน ไพ่ตายสุดท้ายในมือยุโรป?

เดิมพันครั้งใหญ่ของยุโรป! เมื่อสหรัฐตัดความช่วยเหลือยูเครนในขณะที่สงครามยังไม่จบ ยุโรปอาจถูกบีบให้ใช้ ‘ไพ่ใบสุดท้าย’ ซึ่งก็คือ ยึด ‘สินทรัพย์รัสเซีย 10 ล้านล้านบาท’ หนุนยูเครนสู้ต่อ แม้จะสุ่มเสี่ยงยกระดับสงครามก็ตาม
ท่ามกลาง “รอยร้าวทางความสัมพันธ์” ระหว่างสหรัฐกับยูเครน จนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศตัดความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่มีสหรัฐสนับสนุนแล้ว กองทัพยูเครนอาจอ่อนแอลงอย่างหนัก และรัสเซียอาจใช้โอกาสนี้บุกยูเครนอย่างรุนแรงปานพายุ จนยูเครนอาจสุ่มเสี่ยงตกเป็นของรัสเซียโดยสมบูรณ์
อีเลน แมคคัสเกอร์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐเผยว่า “หากไม่มีการสนับสนุนจากสหรัฐแล้ว รัสเซียจะรุกคืบในปีนี้ ขณะที่ยูเครนจะขาดแคลนอาวุธภายในปี 2026 โดยการที่ยูเครนสูญเสียระบบป้องกันทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ จะเปิดทางให้รัสเซียสามารถทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง กองกำลังของยูเครนจะยังคงต่อสู้อย่างกล้าหาญ แต่มีแนวโน้มที่จะล่มสลายภายในสิ้นปีนั้น จนรัสเซียสามารถยึดกรุงเคียฟและรุกคืบไปประชิดพรมแดนของนาโต้”
อย่างไรก็ตาม ภาพอนาคตดังกล่าวอาจเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เนื่องจากยุโรปมี “ไพ่ไม้ตาย” ใบหนึ่ง หากตกอยู่ในภาวะคับขัน นั่นคือ การใช้ “สินทรัพย์รัสเซียที่ถูกอายัดเอาไว้” มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 10 ล้านล้านบาทสนับสนุนยูเครนต่อ ซึ่งอยู่ในรูปของทองคำ พันธบัตร และเงินตราต่างประเทศที่รัสเซียฝากไว้ในสถาบันการเงินยุโรป ก่อนเกิดเหตุการณ์บุกยูเครน โดยมูลค่าสินทรัพย์รัสเซียอันมหาศาลเหล่านี้ อาจช่วยยูเครนรับมือกับกองทัพรัสเซียได้นานอีกหลายปี
“สหภาพยุโรป” ถือกุญแจสำคัญในการเข้าถึงสินทรัพย์ส่วนใหญ่เหล่านี้ โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่ 200,000 ล้านดอลลาร์จาก 300,000 ล้านดอลลาร์ถูกเก็บไว้ในคลังหลักทรัพย์ระหว่างประเทศของเบลเยียม
ในปัจจุบัน สินทรัพย์รัสเซียราว 10 ล้านล้านบาท ยังไม่ได้ถูกแตะต้องหรือถูกใช้ใด ๆ เนื่องจากเกรงว่า อาจจุดความไม่พอใจของรัสเซียอย่างรุนแรง และขัดต่อกฎหมายการเงินระหว่างประเทศ ทางสหภาพยุโรปจึงใช้ส่วน “ดอกเบี้ยหรือกำไร” จากสินทรัพย์รัสเซียแทนในการช่วยเหลือยูเครน โดยยังไม่แตะส่วนเงินต้นนี้
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ดูเหมือนไม่ต้องการสนับสนุนยูเครนอีกต่อไป ทำให้เสียงเรียกร้องให้เปิดใช้ขุมทรัพย์รัสเซียดังขึ้นเรื่อย ๆ ในยุโรป ซึ่งประเทศที่เป็นหัวหอกของแนวคิดนี้ คือ “สหราชอาณาจักร”
เริ่มจากบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร โพสต์ใน X เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า “ถ้อยแถลงของทรัมป์ไม่ได้มุ่งเน้นความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ หากแต่ต้องการปลุกเร้าให้ยุโรปตื่นตัวและลงมือทำ”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐสามารถเห็นสินทรัพย์ของรัสเซียที่ถูกอายัดไว้กว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเบลเยียม เงินจำนวนมหาศาลนี้ควรถูกนำมาใช้สนับสนุนยูเครน รวมถึงชดเชยให้สหรัฐสำหรับความช่วยเหลือที่มอบให้
เหตุใดยุโรปจึงขัดขวางการปลดล็อกทรัพย์สินของปูติน?” จอห์นสันกล่าว
ขณะเดียวกัน ริชี ซูนัค อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรอีกคนและเคยดำรงตำแหน่งขุนคลังของอังกฤษ ก็เสนอให้ยุโรปใช้ “สินทรัพย์ของรัสเซียทั้งหมดที่ถูกอายัดไว้” ช่วยยูเครน โดยไม่จำกัดแค่ดอกเบี้ยจากสินทรัพย์เหล่านั้น พร้อมให้เหตุผลว่า เราไม่สามารถคาดหวังให้อเมริกาแบกรับภาระส่วนใหญ่ได้
“เมื่อเงินจำนวนนี้ถูกโอนไปยังยูเครนแล้ว ไม่เพียงแต่ช่วยยูเครนฟื้นตัวจากสงคราม แต่ยังป้องกันไม่ให้เกิดสงครามซ้ำอีกครั้ง ยูเครนยังสามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้บูรณะโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกโจมตีโดยรัสเซีย ฟื้นฟูเสถียรภาพเศรษฐกิจ และสร้างกองทัพที่สามารถยับยั้งรัสเซีย” ซูนัคให้ความเห็น
ไม่เพียงเท่านั้น เดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน ก็เสนอความเห็นคล้ายกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “ยึด” สินทรัพย์รัสเซีย ไม่ใช่แค่ “อายัด” ซึ่งประเทศในยุโรปที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ยังมีโปแลนด์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก
ความท้าทายการยึดสมบัติรัสเซีย
แม้ว่าแนวคิดยึดขุมทรัพย์รัสเซียช่วยยูเครนจะช่วยแบ่งเบาภาระยุโรปไม่น้อย แต่ก็มาพร้อม “ความเสี่ยงที่ต้องระวัง” อย่างแรกคือ อาจทำให้สงครามรุนแรงขึ้น แทนที่จะจบเร็ว โดยรัสเซียอาจมองว่านี่เป็น “การปล้น” และอาจตอบโต้ด้วยกำลังที่รุนแรงกว่าเดิม จนทำให้การเจรจาสันติภาพเกิดยากยิ่งขึ้น
ข้อที่สอง คือ ข้อติดขัดด้านกฎหมายการเงินระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสมองว่า ประเทศตะวันตกสามารถใช้ดอกเบี้ยจากสินทรัพย์รัสเซียที่ถูกแช่แข็ง เพื่อช่วยเหลือยูเครนได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มาครงยืนยันว่า การยึดสินทรัพย์รัสเซีย ยังถือว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
ด้านบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านหนี้สาธารณะมองว่า แม้แต่ในสหรัฐ พระราชบัญญัติอำนาจเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act) ก็ไม่ได้อนุญาตให้ยึดสินทรัพย์รัสเซียที่ถูกแช่แข็งโดยตรง หากไม่มีการปะทะกันทางทหารระหว่างสหรัฐและรัสเซีย
นอกจากนี้ การริบสินทรัพย์รัสเซีย โดยยังไม่มีกฎหมายรองรับ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินยุโรป ซึ่งอาจทำให้กระแสทุนของยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอย่างจีน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ สุ่มเสี่ยงไหลออกจากตลาดทุนนี้
ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมสหภาพยุโรปในประเด็นว่าจะยึดสินทรัพย์รัสเซียหรือไม่ ยังคงไม่เป็นเอกฉันท์ โดยประเทศที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
‘ทรัมป์’ ตัวแปรสงครามจบเร็วหรือยืดเยื้อ
สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบลงหรือไม่ ตัวแปรสำคัญขณะนี้อยู่ที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” เนื่องจากเป็นผู้ที่สามารถ “เปิดเจรจา” กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียได้ จากก่อนหน้านั้นในยุคไบเดนที่ช่องทางนี้แทบจะถูกปิดไปเสียแล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายแทบไม่สามารถมองหน้ากันได้
อย่างไรก็ตาม วิธีการจบสงครามของทรัมป์ที่จะถอนการสนับสนุนยูเครน ทั้งที่สงครามยังไม่จบ ประกอบกับไม่ได้ให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ยูเครนในข้อตกลงเกี่ยวกับแร่ กำลังทำให้เสถียรภาพยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยง
ยิ่งหากรัสเซียหันมารุกหนัก ประกอบกับสหรัฐถอนความช่วยเหลือจริง ก็อาจกดดันให้ยุโรปหันไปใช้ “ไพ่ไม้ตาย” นี้ ซึ่งก็คือ “ยึดทรัพย์รัสเซีย” ผลที่ตามมาคือ รัสเซียอาจตอบโต้กลับอย่างรุนแรง และทำให้สงครามกลับมาสู่ช่วงยืดเยื้อยาวอีกครั้ง
แม้ทรัมป์กล่าวว่า การมีเหมืองแร่สหรัฐในยูเครนจะช่วยหยุดการโจมตีจากรัสเซีย แต่อันที่จริงแล้ว ในช่วงที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนแบบสายฟ้าแลบเมื่อปี 2022 ก็มีบริษัทแบรนด์อเมริกันไม่น้อยอยู่ในยูเครน อีกทั้งแม้จะเป็นบริษัทเหมืองอเมริกันเข้ามาลงทุน แต่คนงานเหมืองส่วนใหญ่อาจเป็นชาวยูเครน ดังนั้น การมีเหมืองแร่สหรัฐอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอในการรับประกันความปลอดภัยยูเครน และสงครามอาจปะทุขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้
แมคคัสเกอร์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐกล่าวว่า หากรัสเซียได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่อเมริกาถอนตัว รัสเซียก็จะฟื้นฟูกองกำลังรบของตน ใช้ทรัพยากรของยูเครนเสริมศักยภาพทางทหาร ตั้งฐานทัพตามแนวชายแดนนาโต้ และเตรียมความพร้อมสำหรับการโจมตีนอกเหนือจากยูเครนภายในปี 2030
ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของยุโรป สันติภาพอย่างยั่งยืนในยูเครน จำเป็นต้องอาศัยบทบาทสหรัฐในการเป็น “ตัวกลางเจรจา” ให้เกิดการหยุดยิง และเป็น “หลักประกันความปลอดภัย” ให้ยูเครน เพื่อป้องปรามไม่ให้ถูกบุกอีกครั้งในอนาคต เพราะ “สหรัฐ” ถือเป็นมหาอำนาจเดียวที่มีทั้งกำลังอาวุธและหัวรบนิวเคลียร์ที่จะสามารถถ่วงดุลกับรัสเซียได้
อ้างอิง: politico, economist, united, media, reuters, dw, Boris, hill