ป.ป.ส.อาเซียน!4ยุทธศาสตร์สกัดค้ายาข้ามชาติ
(รายงาน) เปิดสำนักงาน ป.ป.ส.อาเซียน 4ยุทธศาสตร์สกัดค้ายาข้ามชาติ
ช่วงนี้หน่วยงานแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่าง ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) มีความเคลื่อนไหวที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องสนธิกำลังกับตำรวจเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 72 จุดทั่วประเทศเพื่อทลายเครือข่ายค้ายาเสพติด "ซ้อหมิง" หรือการมอบนโยบายอย่างขึงขังของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น
ทว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ยังมีการเปิดสำนักงานของหน่วยงานกลางที่ใช้ชื่อว่า "ป.ป.ส.อาเซียน" อย่างเป็นทางการด้วย
สำนักงาน ป.ป.ส.อาเซียน หรือ ASEAN-NARCO ได้รับการผลักดันให้จัดตั้งขึ้นในยุคที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งก็คือช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่มาประสบความสำเร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดย พล.อ.ไพบูลย์ ในช่วงที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พ้นเก้าอี้เลขาธิการ ป.ป.ส.ไปแล้ว
การจัดตั้ง สำนักงาน ป.ป.ส.อาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวยาเสพติด สนองตอบนโยบายปราบยาของชาติสมาชิกประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ
ที่ผ่านมาสถิติการจับกุมผู้ต้องหาชาวต่างชาติในคดียาเสพติดในประเทศไทย ระหว่างปี 2551-2555 พบว่ามีกลุ่มคนจากชาติอาเซียนถูกจับกุมในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัญชาติที่ถูกจับมากที่สุดคือ ลาว รองลงมาคือพม่า กัมพูชา และมาเลเซีย ส่วนชนิดยาเสพติดที่มีการจับกุมมากเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน และกัญชา
ทั้งนี้ ตลอดหลายสิบปี ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาเรื้อรังและทวีความรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่การลักลอบปลูกฝิ่นและผลิตเฮโรอีนในพื้นที่ "สามเหลี่ยมทองคำ" หรือ Golden Triangle ซึ่งเป็นเขตแดนติดต่อกันของ 3 ประเทศ คือ เมียร์มาร์ ลาว และไทย ตามด้วยการลักลอบปลูกกัญชาทั้งในไทย ลาว อินโดนีเซีย ไม่เว้นแม้กระทั่งฟิลิปปินส์
ประเทศต่างๆ ในอาเซียนถูกใช้เป็นจุดแวะพักยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำ ก่อนลำเลียงต่อไปยังประเทศที่สามในทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 25 ก.ค.41 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 9 ประเทศ (ขณะนั้นกัมพูชายังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน) ได้ลงนามใน ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการปลอดยาเสพติดในอาเซียน ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) พร้อมวางเป้าหมายแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่สำคัญ คือ การประกาศปฏิญญาร่วมว่าด้วยการปลอดยาเสพติดในอาเซียนฯ เพื่อเน้นย้ำถึงความพยายามของชาติสมาชิกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด การค้า และการใช้ยาเสพติดในศตวรรษที่ 21
และการตั้งสำนักงาน ป.ป.ส.อาเซียน ก็เป็นผลผลิตหนึ่งจากปฏิญญาดังกล่าว เพื่อเป็นหน่วยงานกลางบูรณาการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 10 ประเทศให้มาร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ข้อที่จะต้องดำเนินการ คือ
1.ยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือด้านการปราบปราม ซึ่งจะร่วมมือทั้งด้านการข่าว การปราบปรามกลุ่มผู้ผลิตในประเทศเมียนมาร์ การสกัดกั้นตามแนวชายแดน ท่าอากาศยาน และการติดตามยึดทรัพย์สินของขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติทั้งในกลุ่มอาเซียนและประเทศอื่นๆ
2.ยุทธศาสตร์การลดพื้นที่ปลูกพืชเสพติด ด้วยรูปแบบการพัฒนาทางเลือกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
3.ยุทธศาสตร์การลดการแพร่ระบาดในกลุ่มที่กำหนดเป็นเป้าหมาย ร่วมกันสกัดวงจรผู้เสพรายใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนอาเซียน พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานร่วมกันในด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
4.ยุทธศาสตร์ด้านการวิจัย วิชาการ การพัฒนาความร่วมมือด้านนิติวิทยาศาสตร์ กฎหมาย เพื่อให้ความร่วมมือของกลุ่มอาเซียนมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
นอกจากการตั้ง ป.ป.ส. อาเซียนแล้ว ประชาคมอาเซียนยังมีกลไกความร่วมมือด้านยาเสพติดอีกหลายกลไก ที่สำคัญคือการยกสถานะของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดอาเซียนขึ้นเป็นระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (ASEAN Senior Officials on Drugs - ASOD) ซึ่งจะรายงานปัญหาตรงต่อคณะกรรมการประจำอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารความร่วมมือในกรอบอาเซียนในด้านต่างๆ
รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (Senior Officials on Transnational Crime) โดยยาเสพติดเป็น 1 ใน 8 สาขาของความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ต้องจัดทำรายงานเสนอตรงต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ (Ministerial Meeting of ASEAN on Transnational Crimes -AMMTC) ด้วย