เปิดแผงสินค้าขายดีฮ่องกง
สมรภูมิสำคัญในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง สินค้าขายดีประจำร้านหนีไม่พ้นหมวกนิรภัย แว่นตา และหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา
แม้การประท้วงยืดเยื้อในฮ่องกงจะฉุดรั้งเศรษฐกิจโดยรวม แต่สำหรับคนเล็กคนน้อยการขายสินค้าจำเป็นตรงตามสถานการณ์ก็เปิดโอกาสทำเงินให้ได้เช่นเดียวกันณ เวลานี้สินค้าขายดีไม่ใช่อาหารยอดนิยมล่าสุด หรือเสื้อผ้าประเภทมัสต์แฮฟ แต่เป็นข้าวของจำเป็นสำหรับการประท้วงที่ขายดีเป็นรองจากสินค้าโภคภัณฑ์เลยก็ว่าได้
ลี ชิง เห่ยเปิดแผงลอย 2 แผงชื่อ“อุปกรณ์ภัยพิบัติแห่งชาติ” ขึ้นที่ย่านมงก๊กและไทโป สมรภูมิสำคัญในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้งสินค้าขายดีประจำร้านหนีไม่พ้นหมวกนิรภัย แว่นตา และหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา
“เปิดร้านมาช่วงเช้าๆ ขายหน้ากากกันแก๊สได้ราว 50-60 ชิ้น ตอนนี้ขายหมดเกลี้ยงแล้ว” เจ้าของร้านวัย 33 ปีเล่าพลาง มือก็ช่วยลูกค้าลองสวมหมวกนิรภัยไปพลาง ลูกค้ารายนี้วางแผนจะไปร่วมประท้วงในย่านไทโป
ลีเล่าว่า เขาเป็นนักสะสมหน้ากากกันแก๊สหรือที่ภาษากวางตุ้งเรียกว่าจมูกหมูมาตั้งแต่ยังไม่มีประท้วง ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีหน้ากากยี่ห้อ 3 เอ็มเก็บไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นแบรนด์ที่ผู้ประท้วงถามหากันมากที่สุด
ในเมื่อเหตุปะทะรุนแรงขึ้นทุกที ผู้ชุมนุมก็ต้องเพิ่มอุปกรณ์ป้องกันตัว แม้ผู้คนนับล้านลงถนนประท้วงอย่างสันติ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะมีกลุ่มฮาร์ดคอร์ปนอยู่ด้วย เมื่อตำวจเริ่มใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายการชุมนุม พวกเขาก็ตอบโต้ด้วยการขว้างก้อนอิฐ ระเบิดขวด ยิงหนังสติ๊กเข้าใส่
การประท้วงล่วงเข้าสัปดาห์ที่ 10 แล้ว และต่างฝ่ายต่างก็ทวีความรุนแรง ไม่กี่วันก่อนตำรวจฮ่องกงปิดสถานีรถไฟใต้ดินแล้วยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าใส่ในระยะประชิด ขณะที่ตำรวจบางคนถือกระบองบุกชาร์จผู้ชุมนุมลงไปกองกับบันไดเลื่อน
อาทิตย์ก่อน (11 ส.ค.) ผู้หญิงคนหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนถุงตะกั่วได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ดวงตา อีกหลายสิบคนมีบาดแผลฉกรรจ์ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ส่วนตำรวจก็บาดเจ็บเหมือนกันเจ้าหน้าที่นายหนึ่งโดนปาด้วยระเบิดขวดจนขาเป็นแผลไหม้
สำหรับสินค้าของลีนั้นถ้าเป็นนิสิตนักศึกษามาซื้อเขาลดราคาลงมากเกือบ 90% สะท้อนว่าเขาเอาทั้งสองทาง โอกาสทำมาหากินก็ไม่พลาด ทั้งยังได้ช่วยเหลือคนหนุ่มสาวที่ประท้วงด้วย
ผลการสำรวจล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยหลายแห่งพบว่า ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เกือบครึ่งอยู่ในวัย 20 เศษ
ในบรรดาสินค้า หน้ากากกันแก๊สน้ำตารุ่นดีสุดขายกันที่ราว 1,000 ดอลลาร์ฮ่องกง แต่ก็หายากขึ้นทุกทีหลายร้านขายหมดแล้ว
“ผมไม่เคยคิดเรื่องตุนของแล้วโก่งราคา เลยพลาดโอกาสทำเงิน” ลียอมรับพร้อมเสริม “คนหนุ่มสาวไม่กลัวแม้กระทั่งว่าตัวเองจะตาย แล้วทำไมเราต้องกลัวเรื่องเสียชืื่อ เสียเงิน หรือล้มละลายล่ะ”
ส่วนการโฆษณาร้านลีใช้เฟซบุ๊กและเทเลแกรม แอพพลิเคชันส่งข้อความที่ผู้ประท้วงนิยมใช้เป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์ เขาเช่าร้านเป็นรายวัน แต่ปัญหาที่รุมเร้าไม่หยุดเติมเชื้อความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลก็คือราคาาบ้านในฮ่องกงแพงมากจนเอื้อมไม่ถึง
“ค่าเช่าในฮ่องกงแพงมากเราเปิดร้านวันนี้พรุ่งนี้ก็ต้องปิด” เจ้าของแผงลอยฟูมฟาย
จากทัศนะของคนหาเช้ากินค่ำ สู่มุมมองของ“ลี กาชิง”มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของฮ่องกง ที่แสดงความคิดเห็นต่อการประท้วงเป็นครั้งแรก ด้วยการลงโฆษณาหน้า 1 หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฮ่องกงฉบับวันศุกร์ (16 ส.ค.) รวม 7 ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง 2 ฉบับ
เนื้อความโฆษณาเรียกร้องให้ประชาชนใช้ความรักระงับความโกรธ แล้วหยุดยั้งความรุนแรง พร้อมด้วยลายเซ็น “ลี กาชิง พลเมืองฮ่องกงคนหนึี่ง”
ขณะที่อ้าย เว่ยเว่ยศิลปินผู้ท้าทายชาวจีนได้แต่จับตาดูการประท้วงฮ่องกงจากกรุงเบอร์ลิน เยอรมนีด้วยความเป็นห่วงว่ารัฐบาลปักกิ่งอาจใช้การปราบปรามแบบเดียวกับที่เคยทำกับเทียนอันเหมิน
“ผมไม่คิดว่าการคาดการณ์นี้จะตื่นตูมเกินไป จีนเป็นสังคมที่ยอมสังเวยอะไรก็ได้เพื่อรักษาอำนาจการควบคุมของตนไว้ เมื่อปี 2532 โลกทั้งโลกจับจ้องจีนอยู่ แต่รัฐบาลก็ส่งรถถังเข้าไปบดขยี้นักศึกษา ที่ชุมนุมกันอย่างสันติ” ศิลปินวัย 61 ปีส่งเสียงเตือนด้วยความกังวล
อ้าย ที่วิจารณ์รัฐบาลจีนมาโดยตลอดย้ำเขารู้ดีว่า รัฐบาลปักกิ่งให้คุณค่ากับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมเหนืออื่นใด
“ตอนเริ่มชุมนุมใหม่ๆ เมื่อ 2 เดือนก่อนผมเตือนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลจีนทำให้การประท้วงหายไปไม่ได้ สุดท้ายต้องใช้ความรุนแรงแน่ ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น พวกเขาไม่มาคุยหรือมาต่อรอง รัฐบาลจีนไม่มีทักษะพวกนี้ สิ่งที่เขามีคือทหารและตำรวจ”
ส่วนโจชัว หว่องนักเคลื่อนไหวคนสำคัญเผยกับ “บิลด์” หนังสือพิมพ์รายวันของเยอรมนีว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเยอรมนีซึ่งเป็นโลกเสรี ร่วมมือกับจีนเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเขาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ส่งสัญญาณชัดเจนไปยังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ให้ส่งทหารไปยังฮ่องกง และให้สิทธิเลือกตั้งเสรีแก่ชาวฮ่องกง