ย้อนรอยสัญญาณ สหรัฐตัด 'จีเอสพี' ไทย
ข่าวสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทย สะเทือนวงการ จุดกระแสชาวเน็ตและคนดังบางคนออกมารณรงค์ต่อต้านสินค้าสหรัฐตอบโต้ แต่ถ้าตั้งสติกันสักนิดจะเห็นว่า สหรัฐแสดงท่าทีตัดจีเอสพีไทยและหลายๆ ประเทศอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะรับมืออย่างไร
เริ่มต้นจากวันที่ 4 มี.ค.ปีนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ แถลงเตรียมตัดจีเอสพีอินเดีย เนืื่องจากไม่สามารถให้หลักประกันกับรัฐบาลวอชิงตันได้ว่า อินเดียจะเปิดตลาดให้อย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล ขณะที่ตุรกีจะค่อยๆ ถูกตัดจีเอสพีเนื่องจากพัฒนาเศรษฐกิจไปมากแล้ว
จีเอสพี เป็นสิทธิพิเศษทางภาษีที่มอบให้กับสินค้ากว่า 3,500 รายการ ตั้งแต่ไม้อัดไปจนถึงเครื่องซักผ้า นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศเหล่านั้น
ก่อนอินเดียถูกตัดจีเอสพี ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2561 ยูเอสทีอาร์ได้เริ่มทบทวนการให้จีเอสพีแก่อินเดีย อินโดนีเซีย และไทยแล้ว ด้วยความกังวลว่าการให้อาจไม่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ โดยให้เหตุผลว่า ทั้ง 3 ประเทศล้วนใช้อุปสรรคทางการค้าเป็นอันตรายต่อการพาณิชย์ของสหรัฐ
สมาคมการค้าอเมริกันหลายแห่งร้องเรียนไปยังรัฐบาล เรื่องปัญหาการเข้าถึงตลาดใน 3 ประเทศนี้ ผู้ผลิตนมสหรัฐพุ่งเป้าเล่นงานอินเดียและอินโดนีเซีย ขณะที่ผู้ผลิตเนื้อสุกรตั้งใจเล่นงานไทย ส่วนผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ร้องเรียนให้สหรัฐตัดจีเอสพีอินเดีย
ข้อน่าสังเกตคือความตึงเครียดทางการค้าระหว่างวอชิงตันและนิวเดลีร้อนแรงในเดือน มิ.ย. เมื่ออินเดียประกาศแผนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 29 รายการ ตอบโต้ที่ถูกทรัมป์ตัดจีเอสพี ซึ่งทรัมป์ประกาศ "รับไม่ได้กับการเรียกเก็บภาษีของอินเดีย ขอให้ยกเลิกไปซะ"
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นทั้งทรัมป์และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย มีโอกาสพบกันในการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี20 ที่ญี่ปุ่น ทั้งคู่พยายามลดความตึงเครียดระหว่างกัน โดยผู้นำสหรัฐและอินเดียมีโอกาสพบกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง ตอนโมดีไปประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
ด้านอินโดนีเซียก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหาทางเจรจาเช่นกัน ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (25 ต.ค.) ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แถลงข่าวแนะนำตัว “มเหนทรา ซิเรการ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่การทูตเชิงเศรษฐกิจ
ซิเรการ์ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานดำรงตำแหน่งทูตอินโดนีเซียประจำกรุงวอชิงตัน เผยว่า ประธานาธิบดีวิโดโดต้องการให้เขาทำทุกทางให้อินโดนีเซีย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังได้รับจีเอสพีจากสหรัฐ ที่ช่วยให้ประเทศไม่ต้องเสียภาษีส่งออกไปยังสหรัฐได้มากถึงราว 2 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่อินเดียโดนตัดสิทธิไปแล้วในเดือน มิ.ย.
“การได้รับจีเอสพีต่อไปจะส่งผลใหญ่หลวง อาจเพิ่มขนาดการค้าระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐได้ถึง 2 เท่า” รมช.กล่าว
การที่อินโดนีเซียจะคงสถานะจีเอสพีไว้ได้ ต้องทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐหลายประการ ส่วนใหญ่รัฐบาลจาการ์ตาก็ทำให้หมดแล้ว รวมถึงผ่อนคลายกฎการเก็บข้อมูล โดยเดือนหน้าวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐจะมีกำหนดมาเยือนกรุงจาการ์ตา
รมช.เผยด้วยว่า ตอนนี้อินโดนีเซียใช้กระทรวงต่างประเทศดูแลยุทธศาสตร์หลักด้านการค้าต่างประเทศ ภายใต้การสั่งการโดยตรงของประธานาธิบดี แทนที่จะใช้กระทรวงการค้า
สำหรับไทยนั้นสัญญาณเตือนถูกสหรัฐตัดจีเอสพีมีมาโดยตลอด เมื่อเดือน ก.พ.บริษัทตรวจสอบบัญชีดีลอยต์รายงานว่า การทบทวนจีเอสพีประจำปีเมื่อสิ้นปี 2561 ของยูเอสทีอาร์ พบว่า สินค้าที่ผลิตจากไทย 11 รายการจะไม่ได้รับจีเอสพี การส่งสินค้ามาขายในสหรัฐจะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ตามที่ผ่อนผันไว้ในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โดยสินค้าไทยประมาณ 3,400 รายการยังคงได้จีเอสพีต่อไป
ต่อมาในเดือน มิ.ย.รายงานของเมย์แบงก์กิมเอ็งระบุ ไทยเสี่ยงสูญเสียจีเอสพี โดยสหรัฐกำลังจับตาเรื่องที่ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ รวมถึงการปฏิบัติตามสิทธิแรงงานของไทย