หุ้น ‘ไอพีโอเบอร์ 1 โลก’ พุ่ง 10% เปิดขายวันแรก
“ซาอุดีอารามโก” ยักษ์ใหญ่น้ำมันซาอุดีอาระเบีย สร้างความฮือฮาในตลาดทุนอีกครั้ง เมื่อราคาหุ้นที่เปิดขายในประเทศวันแรกทะยานชนเพดานการซื้อขาย หลังทำไอพีโอมูลค่าสูงสุดเป็นสถิติโลกและทำให้มูลค่ารวมบริษัทแตะเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์
ราคาหุ้นของบริษัทซาอุดีอารามโก พุ่งแตะเพดานการซื้อขายที่ระดับ 10% ในการซื้อขายวันแรกที่ตลาดหุ้นริยาดวันนี้ (11 ธ.ค.) โดยหลังจากเปิดการซื้อขายในช่วงเช้า ราคาหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นไปถึง 35.2 ริยาล (9.4 ดอลลาร์) ซึ่งทำให้มูลค่ารวมของบริษัทอยู่ที่ 1.88 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ซาอุดีอารามโก ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่มีผลกำไรมากที่สุดในโลก ได้เสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ครั้งใหญ่ที่สุดของโลก โดยกำหนดราคาหุ้นไอพีโอไว้ที่ 32 ริยาล (8.53 ดอลลาร์) และระดมทุนได้ 2.56 หมื่นล้านดอลลาร์ กลายเป็นหุ้นไอพีโอมูลค่าสูงสุดในโลกแซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง “อาลีบาบา” ของจีนที่เคยระดมทุนได้ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อเดือน ก.ย. 2557
"วันนี้เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับอารามโก“ นายอามิน นาสเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของซาอุดีอารามโกกล่าวในพิธีเปิดขายหุ้นในตลาดริยาดในวันเดียวกัน ”วันนี้ เราได้สร้างประวัติศาสตร์ เนื่องจากซาอุดีอารามโกเปิดฉากบทใหม่ของการเดินทางสู่ความรุ่งเรืองของบริษัท"
นอกจากนี้ การขายหุ้นของยักษ์ใหญ่น้ำมันรายนี้เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศลดพึ่งพารายได้จากน้ำมัน
เจ้าชายซัลมานทรงคาดหวังในแง่ดีว่า ซาอุดีอารามโกซึ่งผลิตน้ำมันวันละ 10 ล้านบาร์เรล รองรับความต้องการของตลาดโลก 10% จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อนำเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ไปดำเนินโครงการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่และกระตุ้นอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การท่องเที่ยวและความบันเทิง
อย่างไรก็ตาม การทำไอพีโอของซาอุดีอารามโก ให้ความสำคัญกับบรรดาผู้ค้าในซาอุดีอาระเบียและประเทศอื่น ๆ แถบอ่าวเปอร์เซีย ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศยังกังขาเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าตามเป้าหมายของบริษัทน้ำมันที่แทบไม่เปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมา
การเปิดตัวในตลาดหุ้นของยักษ์ใหญ่น้ำมันรายนี้ยังมีขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันเผชิญแรงกดดัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และผลผลิตน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า มูลค่าบริษัทซาอุดีอารามโกอาจไม่สูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ตามที่เจ้าชายซัลมานทรงคาดหวังไว้ แต่จะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน อาลีบาบายังตั้งเป้าที่จะระดมทุนอีก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หากเดินหน้าตามแผนที่จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง
นอกจากซาอุดีอารามโก และอาลีบาบาแล้ว บริษัทอื่น ๆ ที่เปิดไอพีโอและทำมูลค่าติดอันดับต้น ๆ ของโลกยังมีดังต่อไปนี้
- อันดับ 3: ซอฟท์แบงก์ ยักษ์ใหญ่การลงทุนของญี่ปุ่น ระดมทุนได้ 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์ผ่านการไอพีโอธุรกิจโมบายของตนเมื่อปี 2561 และครองแชมป์ไอพีโอมูลค่าสูงที่สุดในญี่ปุ่น
- อันดับ 4: ธนาคารการเกษตรแห่งชาติจีน (แอกแบงก์) ขายหุ้นครั้งแรกเมื่อปี 2553 ในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ โดยระดมทุนได้ 2.21 หมื่นล้านดอลลาร์
- อันดับ 5: ธนาคารไอซีบีซี ของจีนระดมทุนได้ 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2549 และซื้อขายในตลาดฮ่องกงและตลาดเซี่ยงไฮ้
- อันดับ 6: เอไอเอ กรุ๊ป กลุ่มประกันภัยชั้นนำของฮ่องกง เปิดไอพีโอในตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อปี 2553 ระดมทุนได้ 2.05 หมื่นล้านดอลลาร์
- อันดับ 7: วีซ่า อิงค์ ยักษ์ใหญ่บัตรเครดิตของสหรัฐ เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2551 และระดมทุนได้ 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์
- อันดับ 8: เอ็นทีที โดโคโม ค่ายมือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่น ระดมทุนได้ 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเข้าตลาดหุ้นโตเกียวเมื่อปี 2541
- อันดับ 9: เจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ผู้ผลิตรถสัญชาติอเมริกันเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กของสหรัฐและตลาดหุ้นโตรอนโตของแคนาดา เมื่อปี 2553 หรือเพียง 1 ปีครึ่งหลังจากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนจนฟื้นจากวิกฤติ และระดมทุนไอพีโอได้ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์
- อันดับ 10: อีเนล กลุ่มพลังงานรายใหญ่ของอิตาลี ระดมทุนไอพีโอได้ 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเข้าสู่ตลาดหุ้นมิลาน และตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อปี 2542
ขณะที่ เฟซบุ๊ค สังคมออนไลน์ชั้นนำของโลก ได้อันดับ 11 ของโลก ระดมทุนได้ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์และเป็นไอพีโอกลุ่มเทคโนโลยีมูลค่าสูงที่สุด หลังเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2555