‘เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น’ เร่งลงทุนกัมพูชา
‘เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น’ เร่งลงทุนกัมพูชา โดยปัจจุบัน กัมพูชานำเข้าผักผลไม้ถึง 40% คิดเป็นมูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี
อุตสาหกรรมเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่การเกษตรก็เป็นรากฐานความแข็งแกร่ง กัมพูชาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กับการเกษตร
เว็บไซต์พนมเปญโพสต์รายงานว่า สมาคมธุรกิจน้ำต่างแดนญี่ปุ่น เป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในเมืองคิตะกิวชู มีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกิจน้ำในต่างประเทศ นำตัวแทน 15 บริษัทเข้าพบชาม ประสิทธิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรม พร้อมแจ้งความจำนงแก่รัฐมนตรีว่า สมาชิกทั้ง 15 บริษัทล้วนมีประสบการณ์ดีเยี่ยมด้านน้ำสะอาดและต้องการเข้ามาลงทุนในกัมพูชา
ด้านรัฐมนตรีอุตสาหกรรมตอบรับต่อท่าทีดังกล่าวด้วยความยินดี ยืนยันรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกและจะยกเว้นภาษีให้หากเข้ามาลงทุน
“กระทรวงให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำสะอาดทั้งในเมืองใหญ่ เมืองรอบนอก และพื้นที่ชนบท และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนผลิตน้ำสะอาด” รัฐมนตรีกล่าว
ข้อมูลจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชาระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของญี่ปุ่นต่อกัมพูชาตั้งแต่ปี 2537 ถึงไตรมาสแรกของปี 2562 อยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ลงทุนผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เครื่องมือแปรรูปทางการเกษตร และโรงงานแปรรูปอาหาร รวมถึงการสร้างโรงแรม โรงพยาบาล และซูเปอร์มาร์เก็ต
ขณะเดียวกันสหกรณ์ชุมชนชนบทเกาหลี (เคอาร์ซี) เริ่มก่อสร้างศูนย์ผลิตพืชผักสาธิตที่ จ.มณฑลคีรีของกัมพูชา เพื่อส่งเสริมการปลูกผัก และใช้เป็นต้นแบบทำโครงการแบบเดียวกันนี้ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าพืชผักของกัมพูชาลงได้
ปัก คิมวุก ผู้อำนวยการเคอาร์ซี กล่าวกับเหวง สาคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงกัมพูชาว่า ศูนย์สาธิตจะแล้วเสร็จในปีนี้ เคอาร์ซีต้องการใช้ศูนย์นี้ปลูกมะเขือเทศและผักชนิดอื่นๆ เนื่องจากอากาศและดินที่มณฑลคีรีเหมาะมากในการปลูกพืชดังกล่าว
“กัมพูชามีศักยภาพทางการเกษตรสูงมากแต่ยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ เป็นเหตุให้ขาดแคลนพืชผักจนต้องนำเข้า โครงการนี้ต้องการเพิ่มการปลูกมะเขือเทศและผักอื่นๆ เพื่อเป็นอาหารของคนในประเทศและลดการนำเข้า ศูนย์นี้จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะชาติพันธุ์กลุ่มน้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เคอาร์ซีทำการบ้านมาแล้ว รู้ว่า จ.มณฑลคีรีมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการผลิตทางการเกษตรได้ ด้วยความตั้งใจศูนย์จะเริ่มปลูกผักเร็วที่สุดในปีนี้” ผอ.เคอาร์ซีกล่าว
สรัย วุทธี โฆษกกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง เผยว่า รัฐบาลกัมพูชาทำโครงการริเริ่มส่งเสริมการปลูกผักโครงการอื่นๆ ด้วย หนึ่งในนั้นคือกระตุ้นให้เกษตรกรปฏิบัติตามระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม (จีเอพี)
“กระทรวงกำลังส่งเสริมการปลูกผักอย่างปลอดภัย ฝึกอบรมเกษตรกรให้ปฏิบัติตามจีเอพี และกระตุ้นเกษตรกรเข้าสู่โครงการการเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความต้องการภายในประเทศ” โฆษกกล่าว
ข้อมูลจากศูนย์นโยบายศึกษาเผยว่า กัมพูชานำเข้าผักผลไม้ถึง 40% คิดเป็นมูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนใหญ่ซื้อจากเวียดนาม
ส่วนการผลิตยางพาราของกัมพูชานั้น ล่าสุดกระทรวงเกษตรแถลงวานนี้ (26 ม.ค.) ว่า ปี 2562 กัมพูชาส่งออกเนื้อยางแห้ง 282,071 ตัน เพิ่มขึ้น 30% จาก 217,501 ตันเมื่อปี 2561 รายได้จากการส่งออกยางพาราเมื่อปี 2562 อยู่ที่ราว 377 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 31.8% จาก 286 ล้านดอลลาร์ในปี 2561
ราคาเนื้อยาแห้งในปี 2562 เฉลี่ยตันละ 1,336 ดอลลาร์ สูงกว่าปี 2561 ราว 19 ดอลลาร์ ส่วนใหญ่ส่งออกไปมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน
ทั้งประเทศมีพื้นที่ปลูกยางพารารวม 2.5 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 1.5 ล้านไร่ หรือ 61% ของพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมดโตพอกรีดได้แล้ว