รร.ปิดหนี 'ไวรัส’ ความทุกข์ของพ่อแม่ 

รร.ปิดหนี 'ไวรัส’ ความทุกข์ของพ่อแม่ 

เมื่อมีการปิดโรงเรียนหนีไวรัสโคโรนาไม่เพียงกระทบต่อการศึกษาของเด็กกว่า 290 ล้านคนทั่วโลกเท่านั้น แต่มันยังทำให้บรรดาพ่อแม่-ผู้ปกครองต้องขวัญเสียอย่างหนัก เพราะไม่รู้จะทิ้งลูกไว้ที่ไหนดี

ตอนที่ มายูมิ อิจิมะ ได้ยินว่า ญี่ปุ่นสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เธอถึงกับขนหัวลุก เพราะต้องจัดสรรเวลาทำงานและต้องเลี้ยงดูลูกเล็กๆ 2 คน

“ฉันได้แต่บ่น ไม่ ไม่นะ แล้วฉันจะทำยังไง” คุณแม่วัย 40 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในกรุงโตเกียวกล่าวกับเอเอฟพี

อิจิมะ ก็เหมือนกับพ่อแม่อีกมากมายตั้งแต่อิตาลีไปจนถึงอิหร่านที่ต้องพยายามหาทางสร้างความเพลิดเพลินและสอนหนังสือลูกในช่วงที่โรงเรียนปิด ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยว่า การปิดโรงเรียนหนีไวรัสโคโรนากระทบต่อการศึกษาของเด็กกว่า 290 ล้านคนทั่วโลก

ในญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ทำให้ทั้งประเทศประหลาดใจและผู้ปกครองขวัญเสีย ด้วยกรคำสั่งปิดโรงเรียนไปจนถึงวันหยุดฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสิ้นสุดราวต้นเดือน เม.ย.

แม้เนิร์สเซอรีและกลุ่มกิจกรรมหลังเลิกเรียนยังเปิดต่อไปได้ แต่ โทราโอ ลูกชายวัย 9 ขวบ และ โกโต ลูกสาววัย 8 ขวบของอิจิมะก็ได้รับผลกระทบทั้งคู่

ถ้าจะฝากฝังให้สามีช่วยดูแลลูก บริษัทของเขาก็ไม่ค่อยยืดหยุ่นให้ โชคดีที่บริษัทจินจิบุของอิจิมะอนุญาตให้นำลูกไปออฟฟิศได้ โดยจัดห้องประชุมไว้ให้เด็กๆ พร้อมเรียกร้องให้พนักงานคนอื่นๆ ร่วมด้วยช่วยกัน

“สิ่งที่ภาคธุรกิจอย่างเราทำได้ไม่ใช่โดดเดี่ยวคุณแม่ทำงาน แต่เมื่อพวกเธอทำงานก็ให้โฟกัสไปที่งานอย่างเดียว แล้วพนักงานคนอื่นๆ จะคอยดูแลลูกๆ ให้เอง” จุงโกะ ซาโต โฆษกบริษัทจินจิบุกล่าว

สิ่งนี้ยังความซาบซึ้งให้กับอิจิมะเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่วายโอดครวญว่า สถานการณ์ยังห่างไกลจากที่ควรจะเป็น

“เรานำอุปกรณ์การเรียนมาให้เด็กๆ พวกเขาชอบงานฝีมือ แต่ฉันก็อยากให้โรงเรียนเปิดเร็วๆ ห่วงว่าลูกจะเรียนไม่ทัน”

158377277912

ในฮ่องกง โรงเรียนหลายโรงปิดมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ดูสถานการณ์ตอนนี้แล้วต้องปิดโรงเรียนไปถึงหลังอีสเตอร์

บรรดาครูต้องหันไปพึ่งพาแอพพลิเคชันประชุมทางไกลเพื่อติดต่อกับนักเรียน แต่จะทำได้ก็ต้องมีสัญญาณไวไฟและต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ด้วย

บิลลี เหยิง ครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง ที่นักเรียนหลายคนมาจากครอบครัวรายได้น้อย บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองไม่ทราบว่าจะดาวน์โหลดเอกสารอย่างไร เล่าประสบการณ์ที่เจอ

“พ่อแม่บางคนบอกผมว่า ที่บ้านไม่มีไวไฟ มีคนหนึ่งบอกว่า ดาวน์โหลดเอกสารการเรียนการสอนจนเน็ตมือถือหมด”

ขณะที่ เอลซา หว่อง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่นายจ้างสั่งให้พนักงานทำงานที่บ้านก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เธอพยายามจัดโฮมสกูลให้กับ ริค ลูกชายคนเดียววัย 11 ปี ที่เป็นโรคสมาธิสั้น เธอมีความสุขที่ได้ติดตามความก้าวหน้าของลูกอย่างใกล้ชิด พร้อมเล่าว่า ลูกชายดูผ่อนคลายมากขึ้นเมื่ออยู่ที่บ้าน

แต่หว่องยอมรับว่าการจัดการเพียงลำพังก็หนักหนาอยู่

“หลายครั้งที่ฉันเหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ ไม่สามารถอธิบายอะไรๆ กับลูกได้หมด”

สำหรับเด็กบางคนในฮ่องกงที่การแข่งขันสูงมาก การที่โรงเรียนปิดถือเป็นความโล่งอก

“ผมรู้สึกเหมือนเราไม่ต้องจดจ่อกับการเรียนมาก เครียดน้อยลง” ลีโอ วัย 14 ปีเล่า ปกติเขาต้องเรียน 9 วิชาต่อวัน ตอนนี้แค่เรียนทางไกลผ่านแอพ 2 รอบๆ ละ 45 นาทีเท่านั้น

ในเกาหลีใต้ โรงเรียนปิดไปจนถึงวันที่ 23 มี.ค.เป็นอย่างน้อย นักจดหมายเหตุอย่างฮัน จีฮี ผู้อาศัยอยู่ในเมืองซูวอน ทางตอนใต้ของกรุงโซล ต้องพึ่งพาสามีแม่ และหลานสาวช่วยดูแลลูกชาย 2 คนให้

“จริงๆ แล้วฉันเกลียดโรงเรียนปิด เด็กๆ เองก็เบื่อ พวกเขาออกไปเล่นข้างนอกหรือไปพบเพื่อนๆ ก็ไม่ได้ อยู่บ้านก็ไม่มีอะไรทำ สุดท้ายก็ต้องดูทีวีแล้วก็เล่นโทรศัพท์ทั้งวัน ถ้าฉันอยู่ด้วยจะไม่เป็นแบบนั้น”

แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะปิดโรงเรียน เช่น สิงคโปร์ถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่สั่งปิดโรงเรียน โดยให้เหตุผลว่าจะสร้างความวุ่นวายให้กับหลายๆ คน กระทรวงศึกษาธิการระบุ “ต่อให้นักเรียนทุกคนอยู่กับบ้าน ก็ไม่ใช่เครื่องรับรองว่าจะไม่มีการติดเชื้อ”

ในกรุงโตเกียว พื้นที่อย่างย่านฮาราจูกุและชิบูยาเต็มไปด้วยวัยรุ่น เด็กที่อายุน้อยกว่าหลั่งไหลไปสนามเด็กเล่น

“แม่นั่งประกบผมทุกเช้า ผมเลยทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากทำการบ้าน แต่ก็ดีอยู่อย่างนึงที่ผมสามารถเล่นนินเทนโดสวิทช์นานเท่าไหร่ก็ได้ครอบครัวยกเลิกกฎเหล็กอนุญาตให้เล่นเกมวันละ 45 นาทีแล้ว” เด็กชายวัย 9 ขวบคนหนึ่งเผยกับเอเอฟพีขณะนั่งเล่นชิงช้าในสวน

ดูเหมือนว่าการสั่งปิดโรงเรียนจะสร้างความปวดหัวให้กับพ่อแม่ แต่สำหรับเด็กๆ แล้วกลายเป็นความผ่อนคลายมากกว่า