ข่าวดี! พบแอนติบอดี ‘ลามะ’ ออกฤทธิ์ต้านโควิด-19
นักวิทยาศาสตร์ พบแอนติบอดี “ลามะ” ออกฤทธิ์ต้าน "ไวรัสซาร์สซีโอวีทู" เล็งพัฒนาเป็นวัคซีนสังเคราะห์ ลดความรุนแรงในผู้ป่วยโควิด-19
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกนต์ของเบลเยียม และสถาบันวิจัยหลายแห่งในสหรัฐ ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Cellว่า ได้ค้นพบสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีของลามะ ซึ่งเคยใช้ยับยั้งการก่อโรคและลบล้างฤทธิ์ของไวรัสได้ผลมาแล้วหลายชนิด ทั้งกับไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส (MERS) ซึ่งมีประสิทธิภาพแบบเดียวกันในการป้องกันและกำจัดไวรัสซาร์สซีโอวีทู (SARS-CoV-2) หรือไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอเกิดโรคโควิด-19 ได้
งานวิจัยระบุว่า แอนติบอดีของลามะ มีขนาดเล็กกว่าของมนุษย์มาก จึงสามารถเข้าจับกับตัวรับบนหนามของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างละเอียดทั่วถึง ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้สูงกว่า
นายแดเนียล แรปป์ นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส หนึ่งในทีมผู้วิจัย กล่าวว่า ฉลามมีแอนติบอดีแบบนี้เหมือนกัน แต่การทดลองกับฉลามมีความยาก เมื่อเทียบกับลามะ แม้ว่า สัตว์ชนิดนี้ไม่ชอบถ่มน้ำลายใส่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้นำแอนติบอดีของลามะเป็นต้นแบบวัคซีนสังเคราะห์ พบว่า สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกายได้ทันที ซึ่งต่างกับวัคซีนทั่วไปที่ต้องรอราว 1-2 เดือน นอกจากนี้ อาจให้แอนติบอดีนี้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงของอาการลงได้