ศึกชิงวัคซีน

ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อใด ความหวังอยู่ที่การคิดค้นวัคซีนในการรักษาเชื้อไวรัสนี้ได้ ทำให้ที่ผ่านมาสหรัฐและจีนต่างเกทับกันมาตลอด เพราะหากใครคิดค้นวัคซีนได้ก่อน ย่อมส่งผลต่อการช่วงชิงตำแหน่งผู้นำโลก

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศความมุ่งมั่นว่าสหรัฐจะมีวัคซีนใช้ก่อนสิ้นปี

ส่วนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็เกทับว่าถ้าจีนคิดวัคซีนได้เมื่อไร จีนจะแจกจ่ายทั่วโลกเหมือนเป็นสินค้าสาธารณะ

เดิมพันสูงทีเดียวนะครับ สหรัฐหรือจีน ใครคิดค้นวัคซีนได้ก่อน ย่อมส่งผลต่อการช่วงชิงตำแหน่งผู้นำโลก ใครได้วัคซีนก่อน ย่อมสามารถสร้างความมั่นใจและฟื้นเศรษฐกิจภายในได้ก่อน และยังจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นมหาศาลในสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ประเทศเจ้าของสูตรวัคซีนย่อมสามารถเดินเกม “การทูตวัคซีน” สวมบทผู้นำโลกเต็มตัว

ยุคสงครามเย็นครั้งก่อน สหรัฐกับสหภาพโซเวียตเปิดศึกแข่งกันไปอวกาศ แต่การแข่งขันยกแรกในสนามสงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐคือ เปิดศึกแข่งกันคิดค้นวัคซีนสู้โควิดครับ

การต่อสู้ในศึกนี้ของทั้งสองยักษ์มีความซับซ้อนกว่าภาพง่ายๆ ว่าใครจะคิดได้ก่อน อันดับแรก ยังไม่แน่เสมอไปนะครับว่ามนุษย์จะคิดวัคซีนปราบโควิดได้สำเร็จ เป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ว่าการคิดวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย จนปัจจุบันโรคติดต่อหลายโรคก็ยังไม่มีวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไข้เลือดออก หรือเชื้อไวรัส HIV

ใครๆ ก็รู้ว่าทรัมป์ใจร้อนแค่ไหน มีข่าวว่าทรัมป์สั่งให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการวิจัยทางการแพทย์ของสหรัฐไปปรับทบทวนลดทอนขั้นตอนในการทดลองวัคซีน เพื่อเปิดทางให้สามารถทดลองในคนได้เร็วขึ้น ตอนนี้ในสหรัฐมีโครงการพัฒนาวัคซีน 39 โครงการ และเริ่มทดลองในคนแล้ว 3 โครงการ

ส่วนชื่อเสียงของพี่จีนในเรื่องสปีดความเร็วและความกล้าเสี่ยงก็ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน ในจีนมีโครงการพัฒนาวัคซีนทั้งสิ้น 20 โครงการ เริ่มทดลองในคนแล้ว 5 โครงการ รัฐบาลจีนประกาศพร้อมทุ่มเงินทุนและสรรพกำลังเต็มที่ แถมจีนออกสตาร์ทเร็วกว่าเพื่อน เพราะเริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายมกราคม

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยเริ่มกังวลว่า การเร่งทดลองวัคซีนในมนุษย์ และการพยายามย่นเวลาการทดลองลดลงจากมาตรฐานสากลดั้งเดิม สุดท้ายอาจสร้างความเสี่ยงและผลร้าย เช่น เป็นไปได้ที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนทดลอง แต่ภายหลังติดเชื้อโควิด อาจมีอาการหนักกว่าปกติ ในประวัติศาสตร์การทดลองวัคซีนเชื้ออื่นๆ ในอดีตทั้งในสัตว์และมนุษย์ เคยมีตัวอย่างสัตว์ทดลองและอาสาสมัครที่รับวัคซีนบางสูตร สุดท้ายกลับมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะติดเชื้อ หรือเมื่อติดเชื้อในเวลาต่อมาแล้ว กลับพบว่ามีอาการหนักกว่าคนทั่วไป

ความเสี่ยงใหญ่กว่านั้นคือ เราคงไม่มีทางแน่ใจ 100% ว่าวัคซีนที่คิดค้นออกมานั้นในระยะยาวจะมีผลลบอื่นต่อร่างกายหรือไม่ วัคซีนสูตรหนึ่งที่เคยใช้ป้องกันไข้หวัดในปี 1976 ในเวลาต่อมาพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนบางคนผ่านไปหลายปีป่วยด้วยโรคทางสมองที่ชื่อ Guillain-Barré บรรดากลุ่มคนที่มีความเชื่อปฏิเสธการฉีดวัคซีนมักหยิบยกตัวอย่างนี้มาใช้เสมอ

สมมติถ้าจีนคิดวัคซีนได้ก่อน แต่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือมีการปั่นกระแสเรื่องคุณภาพสินค้าจากจีน แล้วเราจะกล้าฉีดวัคซีนเมดอินไชน่าไหม หรือถ้าเกิดทั้งสองประเทศคิดวัคซีนได้ทั้งคู่ เราจะเลือกฉีดของใคร หรือดูตามราคาที่เราจ่ายไหว หรือดูว่าใครเป็นมิตรแท้ให้วัคซีนเรา แล้วจะมีการแตกแยกแบ่งฝ่ายไหมว่าเราควรเข้าร่วมวงขอวัคซีนจากใคร เกิดสมมติฝ่ายหนึ่งราคาถูกกว่า แต่อีกฝ่ายคุยว่าถึงราคาแพง แต่คุณภาพความปลอดภัยมาตรฐานสูงกว่า จะใช้ของใคร

ทั้งหมดนี้อยู่บนฐานคิดว่าวัคซีนใช้ได้ผล สามารถป้องกันโควิดได้อยู่หมัด แต่ถ้าเกิดประสิทธิภาพของวัคซีนคล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งเราต้องฉีดคลุมหลายๆ เชื้อที่ระบาดในแต่ละฤดูกาล แต่ถึงฉีดวัคซีนแล้ว เราก็ยังมีโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่ได้อยู่ดี เพราะตัววัคซีนไม่มีทางคลุมเชื้อได้หมด ปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สูตรวัคซีนใดๆ อาจไม่ได้ผล 100% (ขณะเดียวกัน ก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่เห็นว่าการกลายพันธุ์จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความแตกต่างกันมาก)

มีการพูดกันว่ามีเชื้อสายพันธุ์ที่ระบาดในเอเชียกับเชื้อสายพันธุ์ที่ระบาดทางยุโรป ข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อโควิดสองสายมีความแตกต่างกันอยู่ อย่างนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกันนะครับว่า อาจมีสูตรวัคซีนสำหรับจัดการเชื้อเอเชีย กับสูตรวัคซีนสำหรับจัดการเชื้อยุโรป ถ้าเราจะเอาให้แน่นอนว่าไม่ป่วยเป็นโควิดแน่ จะต้องฉีด (และวิ่งหา) วัคซีนทั้งสองสูตร

ถัดมาที่คนพูดคุยกันเยอะคือเรื่องของเวลา มีคนบอกว่ากว่าจะได้วัคซีน เร็วสุดคือสิ้นปี บางคนบอกอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 2 ปี คนที่กลับไปอ่านประวัติศาสตร์การพัฒนาวัคซีนบอกว่าที่เร็วสุดคือ ปีด้วยซ้ำ

มีคนตั้งข้อสังเกตเพิ่มอีกว่า พอคิดวัคซีนได้ ก็ยังจะไม่มีวัคซีนให้ใช้ในไทยหรอก เพราะวัคซีนคิดเสร็จ ยังมีกระบวนการผลิตอีก และมีลำดับในการแจกจ่าย คนจีนมีมากกว่า 1,400 ล้านคน คนสหรัฐก็ 320 ล้านคน สองชาตินี้ใครคิดได้ก่อน เขาคงต้องเร่งผลิตให้คนในชาติเขาใช้ก่อน กว่าจะผลิตและแจกจ่ายทั่วโลก อาจใช้เวลาเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือจะลำดับกันอย่างไรว่าจะให้สูตรและเทคนิคการผลิตแก่ประเทศไหนก่อน คราวนี้ก็ต้องเลือกที่รักมักที่ชังกันแล้วใช่หรือไม่ ประเทศต่างๆ คงแยกวงเลือกข้างใครเห็นชัดกันคราวนี้

เป็นไปได้เหมือนกันนะครับว่า สองยักษ์อาจจะคว้าน้ำเหลวทั้งคู่ อาจจะมีตาอยู่มาคว้าพุงปลาไป อาจจะเป็นอังกฤษหรือเป็นเยอรมนี ส่วนพี่ทรัมป์จะรีบกว้านเงินซื้อสิทธิบัตรไปได้หรือไม่ หรือตาอยู่อย่างประเทศที่สามนี้จะกลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่จากความสำเร็จนี้

ใครๆ ก็พูดว่าโลกจะไม่กลับมาเป็นปกติจนกว่าจะมีวัคซีน ผมขอเรียนเพิ่มเติมว่าถึงมีวัคซีนแล้ว โลกและการเมืองโลกก็น่าจะยุ่งเหยิงพอดูทีเดียว

ที่เขียนมาอาจดูเหมือนไม่คิดในแง่บวกเลย วัคซีนก็คิดยาก แถมมีความเสี่ยง แถมใช้เวลา แถมจะได้วัคซีนมาใช้หรือไม่ต้องอยู่ที่ว่าเป็นพวกเขาไหม ฯลฯ ท่านผู้อ่านอ่านแล้วอาจจะหดหู่

ขอจบแบบคิดบวกบ้างนะครับ เรื่องของโรคภัยบางทีก็คาดเดายากครับ โรค SARS ที่ระบาดเมื่อปี 2003 ผ่านไป 7-8 เดือน อยู่ๆ ก็หายสิ้นไปเสียอย่างนั้น หลายท่านฟังแล้วบอกผมอย่ามาหลอกให้ดีใจ เพราะโควิดไม่เหมือน SARS โควิดซ่อนอาการได้ และผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการแพร่เชื้อได้ เราจึงรับมือลำบากและกำจัดไม่สิ้นเสียที

แต่ที่มีลักษณะคล้ายกับโควิด-19 คือ ไข้หวัดสเปน เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งความเหมือนคือเป็นเชื้อที่ความรุนแรงโดยทั่วไปต่ำ แต่ในบางกลุ่มจะรุนแรงสูง และพลังการแพร่ระบาดสูง ไข้หวัดสเปนเมื่อ 100 ปีที่แล้วก็ไม่มีวัคซีนนะครับ และในกรณีนั้น การระบาดก็สิ้นสุดลงภายในเวลา 1 ปี 8 เดือน เมื่อถึงจุดหนึ่งเชื้อก็หายไปจากโลกเสียอย่างนั้น หรืออาจผันตัวมามีความรุนแรงต่ำลง จนกลายเป็นเชื้อประจำถิ่นและประจำฤดูกาลแทน

ภาวนาขอให้โควิดหายไปเช่นนั้น และหายไปเร็วกว่านั้นอีกครับ