เปิดแผน ‘การทูตเชิงเศรษฐกิจ’ ปักหมุด CLMV หลังโควิด

เปิดแผน ‘การทูตเชิงเศรษฐกิจ’ ปักหมุด CLMV หลังโควิด

เปิดแผน "การทูตเชิงเศรษฐกิจ" ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กับภารกิจเร่งการฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด-19 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับภาคเอกชน 3 สถาบัน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย

ในระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่โควิค-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมไทยในทุกด้าน รวมไปถึงภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่ ขนาดเล็ก และขนาดย่อมที่เข้าไปค้าขายลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า 

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับภาคเอกชน 3 สถาบันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย จัดตั้งคณะทำงานเดินหน้าขับเคลื่อน “การทูตเศรษฐกิจ” ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วม เพื่อเร่งการฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด-19 โดยเน้นส่งเสริมภาคประกอบการ การค้าการลงทุนชายแดน การเชื่อมโยงโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน แบบเข้มแข็งและยั่งยืน

กระทรวงการต่างประเทศ เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผนึกกำลังฝ่าฟันอุปสรรคโควิด-19 ไปให้ได้ และเมื่อรัฐบาลมีเริ่มผ่อนปรนมาตรการเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินงาน เหมือนสัญญาณให้ขับเคลื่อนการค้ากับประเทศในอนุภูมิภาค CLMV ให้เกิดการต่อเนื่อง 

1594494245100

กระทรวงฯ จึงได้จัดการหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานพันธมิตรและภาคเอกชนทั้งสามสถาบันโดยมี บุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการทูตเชิงเศรษฐกิจกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในยุคหลังโควิด-19 นับเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือเชิงบูรณาการอย่างจริงจังในยุคนิวนอร์มัล (new normal) ตามแนวทางการทำงาน “รวมไทยสร้างชาติ” ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กัน

บุษยา ในฐานะหัวหอกสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การทูตเชิงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบจากโควิด-19 ในอนุภูมิภาคที่มีต่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจของไทย ตลอดจนผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ โดยเฉพาะการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน และย้ำถึงความสำคัญของอนุภูมิภาคต่อเศรษฐกิจไทย

ขณะที่มีรายงานจากบรรดานักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์ กิมเอ็งคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ CLMV จะลดลงเหลือ 3% ในปีนี้ จาก 6.9% ในปี 2562 แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ในเชิงเศรษฐกิจก็เลี่ยงรับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสไม่ได้

“ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในบรรดาประเทศที่เป็นหุ้นส่วนในอาเซียน เช่น กรณีของไทยจะสร้างแรงกดดันด้านการส่งออกแก่กลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะเมียนมาและลาว ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจะส่งผลในเชิงลบอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563” ลินดา หลิว และชัว ฮัก บิน ระบุในรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง

159449426383

สำหรับปีนี้ เมย์แบงก์ กิมเอ็งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวแค่ 3.6% จาก 7% ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่างกัมพูชาจะขยายตัวแค่ 0.5% เทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัว 7% เมียนมาจะขยายตัว 2% ลดลงจากปีที่แล้วที่ขยายตัว 6.8% ส่วนลาวจะขยายตัว 2.4% ลดลงจากที่เคยขยายตัว 4.7% เมื่อปีที่แล้ว

เมย์แบงก์ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั้ง 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะฟื้นตัวในปี 2564 แต่ในปี 2563 เศรษฐกิจทั้ง 4 ประเทศยังต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนัก

นิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนให้เร่งเปิดการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนหลังระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังแสดงความพร้อมทำงานร่วมกับ “ทีมประเทศไทยและสภาธุรกิจไทย” ภายใต้การนำของเอกอัครราชทูตไทยในประเทศเพื่อนบ้าน 

ไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เห็นพ้องกับ กอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ผลักดันประเด็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการทำธุรกิจ การส่งเสริมการใช้เงินตราสกุลท้องถิ่น และการใช้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อเป็นกลไกดำเนินการบรรลุแผนที่วางไว้ 

ขณะที่ ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวคิดการปรับภาพลักษณ์ (re-branding) ของไทยให้เป็นสังคมที่สะอาด (Hygienic Society) และมีมาตรฐาน เพื่อต่อยอดจากความสำเร็จและความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและการแพทย์ไทย ในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ อีกทั้งควรพัฒนาต่อยอดไปในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ การพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ การพัฒนาห้องปฏิบัติการ (test lab) เพื่อตรวจสอบมาตรฐานสินค้าให้แก่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน 

159449429778

แผนดำเนินการดังกล่าว ยังสอดคล้องกับแนวคิด "3-Re" เพื่อการฟื้นตัวหลังยุคโควิด-19 ของกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ “Re-start” การเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยและของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง “Re-boot” การเริ่มประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนในสภาวะนิวนอร์มัล เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ “Re-connect” การเชื่อมต่อเศรษฐกิจไทยกับอนุภูมิภาคและตลาดโลกเพื่อให้ฟื้นตัวและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่ไทยกำลังประสบอันเกิดจากโควิด-19 และเห็นควรดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการระยะสั้น อาทิ การค้าชายแดน การฟื้นฟูและเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ การเสริมสร้างสภาพคล่องให้เอกชน การฟื้นฟูการท่องเที่ยว และมาตรการระยะยาว อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ การใช้สกุลเงินท้องถิ่น การต่อยอดจุดแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ตลอดจนเร่งพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่มีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภาหรือรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน