ถอดบทเรียน ‘ชางงี’ สนามบินดีสุดในโลก รับมือวิกฤติโควิดอย่างไร?

ถอดบทเรียน ‘ชางงี’ สนามบินดีสุดในโลก รับมือวิกฤติโควิดอย่างไร?

ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤติ “โควิด-19” สนามบินในหลายประเทศจำต้องหาวิธีลดต้นทุนเพื่อชดเชยการขาดรายได้ครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ ไม่เว้นแม้แต่ “สนามบินชางงี” ของสิงคโปร์ ซึ่งครองแชมป์ “สนามบินดีที่สุดในโลก” หลายปีซ้อน

เมื่อต้นเดือน ต.ค. สนามบินชางงี ศูนย์กลางการบินแห่งเอเชีย เตือนว่า วิกฤติจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไม่มีแนวโน้มที่จะทุเลาลง มิหนำซ้ำ วิกฤตินี้ยัง “เพิ่งเริ่มต้น” และสนามบินจะเผชิญกับ “ช่วงเวลาอันท้าทายอย่างยิ่ง” ตั้งแต่หลังจากนี้เป็นต้นไป

“การต่อสู้กับโควิด-19 เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น” บริษัทชางงี แอร์พอร์ต กรุ๊ป (CAG) ซึ่งดำเนินการสนามบินดังกล่าว ระบุในรายงานประจำปี “ดูเหมือนอนาคตข้างหน้าเป็นเรื่องน่าวิตกในช่วงที่สถานการณ์นี้ยังไม่มีสัญญาณสิ้นสุด”

สนามบินชางงีเริ่มเห็นผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่โรคดังกล่าวเริ่มระบาดนอกประเทศจีนซึ่งเป็นจุดกำเนิดของไวรัส บริษัท CAG เผยว่า ยอดการเดินทางผ่านสนามบินชางงีทั้งปีงบการเงินนับถึงสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ร่วงลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552

160198216077

จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงทั้งหมดมาจากช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีงบการเงิน โดยร่วงลง 32.8% และ 70.7% ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. ตามลำดับ ผลจากการคุมเข้มการเดินทางที่บังคับใช้ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก โดยรัฐบาลออกคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวระยะสั้นบินเข้าประเทศและต่อเครื่องในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 มี.ค.

แต่ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างใหญ่หลวง ทำให้ผลกำไรของ CAG หายวับถึง 36% เทียบกับปี 2562 เหลือเพียง 435 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 10,040 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าสัมปทานพื้นที่ในสนามบินชางงีลดลง 57.5% ในเดือน ก.พ. และ มี.ค.

เพื่อเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มเติม CAG ได้ระงับการดำเนินงานที่อาคารผู้โดยสาร 2 แห่งจากทั้งหมด 4 แห่งของสนามบินชางงี เนื่องจากเที่ยวบินเข้าออกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และต้องพักการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 5 ไว้อย่างน้อย 2 ปี

รายงานประจำปียังระบุด้วยว่า เพื่อเป็นการรักษาเงินสดหมุนเวียน บริษัท CAG ได้ใช้มาตรการปรับลดเงินเดือนพนักงานและฝ่ายบริหารลงมากถึง 30% และไม่จ่ายปันผลในปีนี้

สถานการณ์ที่สนามบินชางงีกำลังเผชิญ แม้ไม่ได้แตกต่างกับสนามบินอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ด้วยความที่ชางงีครองแชมป์ “สนามบินดีที่สุดในโลก” 8 ปีซ้อนรวมถึงปีนี้ จากการจัดอันดับโดย “สกายแทรกซ์” (Skytrax) เว็บไซต์วิเคราะห์ด้านการบิน ทำให้ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะรับมือกับภาวะวิกฤตินี้อย่างไร ซึ่งอาจเป็นกรณีศึกษาสำหรับสนามบินหลายประเทศด้วย

 

  • “จีเวล” ช่วยชดเชยรายได้

ปีที่แล้ว สนามบินชางงีเปิด “จีเวล” (Jewel) ศูนย์ช้อปปิ้งและความบันเทิงสุดกว้างขวางด้วยพื้นที่ 1.5 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นโซนร้านค้าและจุดเช็คอินมากมาย รวมถึงป่าฝนจำลอง สวนหย่อมเขาวงกต และน้ำตกในร่มสูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงประมาณ 40 เมตร

160198248826

การเปิดอาคารแห่งใหม่นี้ช่วยบรรเทาความเสียหายจากภาวะขาลงของจำนวนผู้มาเยือน โดยเพิ่มรายได้รวมให้สนามบินชางงี 2.6% เป็น 3,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 71,150 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายรวมของ CAG เพิ่มขึ้น 6% ส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการเปิดจีเวลและโครงการขยายอาคารผู้โดยสาร 1 ที่เพิ่งแล้วเสร็จ

“จีเวลถือเป็นไอคอนแห่งใหม่สำหรับสิงคโปร์ และพลิกโฉมความเป็นสนามบิน” CAG เผย

 

  • ผลพวงโควิดอยู่ยาว 4 ปี

อย่างไรก็ตามกลุ่ม CAG มองว่า ภาพรวมการเดินทางระหว่างประเทศจะยังซึมไปอีกยาว และคาดว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ วิธีการคุมเข้มพรมแดนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก, การผ่อนคลายข้อกำหนดด้านการเดินทางด้วยเครื่องบิน และความคืบหน้าของวัคซีนรักษาโรคโควิด-19

สัปดาห์ที่แล้ว สายการบินหลายรายของสหรัฐเริ่มเลิกจ้างพนักงานนับพันคน หลังจากความพยายามเจรจาแผนเยียวยาทางเศรษฐกิจชุดใหม่ในสภาคองเกรสหยุดชะงัก

160198217019

ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขการเดินทางด้วยเครื่องบินลง 2 ใน 3 หรือ 66% สำหรับปี 2563 จากครั้งก่อนที่คาดว่าจะลดลงประมาณ 63% หลังจาก “สิ้นสุดฤดูกาลการเดินทางหน้าร้อนอันสิ้นหวัง” สำหรับอุตสาหกรรมการบิน

ในเดือน ส.ค. ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลก ร่วงลง 75% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เทียบกับที่ลดลง 79.5% ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ IATA คาดว่า ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จะอยู่ไปจนถึงปี 2567 เป็นอย่างน้อย ก่อนที่การเดินทางทั่วโลกจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดระบาดอีกครั้งในปี 2568

----------------------

อ้างอิง: BBC, Asian Aviation, Flight Global