'จีน' จะรอดจาก 'Tech War' ได้อย่างไร?
จีนจะรอดจากสงครามเทคโนโลยี "Tech War" ระหว่างจีนกับสหรัฐได้อย่างไร? ซึ่งมีทีท่าว่าการแข่งขันชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศจะทวีความดุเดือดขึ้นในยุคของประธานาธิบดีไบเดน
ไฮไลท์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ของจีน (ปี 2021-2025) คือ แนวคิดสองหมุนเวียน (Dual Circulation) ใจความสำคัญคือ จีนจะเน้นหมุนเวียนเศรษฐกิจภายใน ขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายนอก โดยอาศัยตลาดขนาดใหญ่ภายในเป็นตัวดึงดูดและเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจภายนอก
นักวิเคราะห์หลายคนอธิบายว่านี่เป็นแนวคิดที่เตรียมใช้รับมือกับสงครามการค้ากับสหรัฐ ทางแก้ของจีนเมื่อส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ ก็คือหันมาพึ่งการบริโภคจากตลาดภายในประเทศให้มากขึ้น โดยปลุกพลังการบริโภคระลอกใหม่ของชนชั้นกลางใหม่ 400 ล้านคน ในขณะเดียวกันก็เดินหน้าเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เพื่อสร้างห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก แข่งกับห่วงโซ่สหรัฐเชื่อมโลก
แต่แท้จริงแล้ว ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือยุทธศาสตร์สองหมุนเวียนยังเป็นแนวคิดที่เตรียมมาใช้รับมือกับสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐอีกด้วย ซึ่งมีทีท่าว่าการแข่งขันชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศจะทวีความดุเดือดขึ้นในยุคของประธานาธิบดีไบเดน
ตั้งแต่ยุคของทรัมป์ การที่สหรัฐขู่จะจำกัดการค้าขายกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนอย่าง Huawei และ Tiktok ทำให้จีนต้องเริ่มวางแผนที่จะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ในเรื่องเทคโนโลยี เพราะหากเทคโนโลยีของจีนยังต้องอาศัยชิ้นส่วนหรืออาศัยเทคโนโลยีพื้นฐานจากสหรัฐ ย่อมจะเป็นปัญหาสำคัญด้านความมั่นคงทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นต่อไป
ใครเป็นผู้นำเทคโนโลยีย่อมจะเป็นผู้ชนะในสมรภูมิการค้าโลก เพราะย่อมสามารถผูกขาดตลาดและได้ส่วนแบ่งกำไรมหาศาลจากการค้า ตัวอย่างเช่นสมาร์ทโฟนของ Apple ซึ่งแม้ผลิตที่จีน แต่สัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจตกอยู่กับฝั่งจีนน้อยนิดเดียว ที่เหลือเป็นกำไรเข้ากระเป๋าบริษัท Apple ที่สหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี
คำถามใหญ่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็คือจีนจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้อย่างไร และจะแก้เกมอย่างไรในยุคสมัยที่สหรัฐพยายามตัดแข้งตัดขาและเตะจีนออกจากห่วงโซ่เทคโนโลยีสหรัฐ คำตอบก็คือแนวคิดสองหมุนเวียนนี่แหละครับ พูดให้ถึงแก่นก็คือ จีนจะใช้ประโยชน์จากขนาดของตลาดภายในประเทศที่ใหญ่โตมโหฬารมาเป็นตัวสร้างอำนาจต่อรอง
วงจรการพัฒนาเทคโนโลยี โดยทั่วไปเริ่มต้นจากการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากนั้นจึงพยายามยึดครองตลาดขนาดใหญ่ เมื่อได้รายได้มหาศาล ก็นำกลับเข้ามาลงทุนใน R&D เพื่อรักษาสถานะความเป็นผู้นำเทคโนโลยีต่อไป
เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลายต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล จึงจะครองความเป็นผู้นำในตลาดต่อไปได้ หากบริษัทเทคโนโลยีไม่สามารถครองตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ได้แล้ว ย่อมขาดรายได้และเม็ดเงินมหาศาลที่จะนำกลับมาลงทุนพัฒนา R&D เพื่อต่อวงจรครองความเป็นผู้นำเทคโนโลยีต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ตลาดภายในขนาดมหึมาของจีนจึงมีความสำคัญต่อสงครามเทคโนโลยี แผนของจีนคือจะต้องเริ่มสร้างวงจรเทคโนโลยีของตนเอง โดยอาศัยตลาดขนาดใหญ่ของจีนเป็นตลาดผู้บริโภค ส่งเสริมบริษัทเทคโนโลยีจีนให้ครองตลาดจีน สร้างรายได้มหาศาล และเอาเงินรายได้เหล่านั้นทุ่มกลับทำ R&D จนเกิดเป็นวงจรสร้างสรรค์ต่อไป
มีการเปรียบเทียบว่าการที่สหรัฐกดดันไม่ให้จีนใช้เทคโนโลยีสหรัฐในปัจจุบันนั้น อาจส่งผลไม่คาดคิดกลายเป็นเสมือน “Sputnik Moment” ของจีน คำว่า “Sputnik Moment” เป็นคำที่แต่เดิมเคยใช้ในสหรัฐ ตอนที่คนสหรัฐพบว่าสหภาพโซเวียตยิ่งดาวเทียมสปุตนิกไปโคจรรอบโลกเรียบร้อยแล้ว ว่ากันว่าทำให้เกิดกระแสผลักให้สหรัฐต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตน จนเป็นที่มาของการประกาศเป้าหมายไปดวงจันทร์ของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ในทศวรรษ 1960
สมัยก่อน บริษัทเทคโนโลยีจีนมองว่าไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนคิดเทคโนโลยีพื้นฐานอะไรเอง เพราะอาศัยเทคโนโลยีต่างชาติได้ จากนั้นค่อยต่อยอดและประยุกต์ขั้นถัดไป ตัวอย่างเช่น Huawei ในสมัยก่อน ไม่เคยมีความคิดว่าจะต้องผลิตชิปให้ได้ด้วยตนเอง และไม่เคยคิดจะต้องสร้างระบบปฏิบัติการ (OS) ของตนเอง ดังที่เลือกใช้ระบบแอนดรอยด์มาโดยตลอด
แต่มาถึงวันนี้ เมื่อสหรัฐกดดันจะไม่ให้ผู้ผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานของสหรัฐ ค้าขายกับหัวเว่ยและห้ามกูเกิล ซึ่งเป็นเจ้าของแอนดรอยด์ให้สิทธิหัวเว่ย กลับกลายเป็น “Sputnik Moment” ที่ทำให้หัวเว่ยและจีนตาสว่างว่าต้องเริ่มวางแผนพัฒนาและพึ่งพาตัวเองให้ได้ในเรื่องเทคโนโลยี โดยเลิกยืมจมูกคนอื่นหายใจ และเลิกคิดเพียงจะต่อยอดบนฐานเทคโนโลยีของคนอื่น
สมัยก่อน บริษัทผลิตชิปของจีนไม่มีทางพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาได้ เพราะไม่มีตลาด เนื่องจากบริษัทจีนเองก็ไม่ซื้อชิปของจีน แต่ในวันนี้ จีนจำเป็นต้องเริ่มอุดหนุนของจีนเอง เพื่ออาศัยพลังจากตลาดขนาดใหญ่ เริ่มสร้างวงจรสร้างสรรค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานของจีนขึ้นมา
นอกจากจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเองแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง จีนยังจะอาศัยตลาดภายในของจีนเป็นตัวดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐต่อไปอีกด้วย เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใดจะทิ้งตลาดจีนได้ เพราะหากทิ้งตลาดจีน ก็ย่อมจะเสียความได้เปรียบในเรื่องขนาดของตลาด ทำให้รายได้ลดลง และมีเงินทุนกลับไปทุ่มให้ R&D เพื่อครองความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีลดลงด้วย
หากมองให้ลึกซึ้งแล้ว จึงจะพบว่ารัฐบาลจีนมีแผนซ้อนสองชั้น ด้านหนึ่งก็พยายามให้จีนพึ่งพาเทคโนโลยีของตนให้มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็พยายามอาศัยอำนาจต่อรองจากตลาดขนาดใหญ่ ทำให้สุดท้ายบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ ยังจำเป็นจะต้องพึ่งพาตลาดจีน และในอนาคตจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจีนด้วยเช่นกัน
กล่าวคือเมื่อจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของจีนได้เองแล้ว จีนจะพยายามเชื่อมโยงกับสหรัฐและโลกต่อไปด้วย เพื่อที่จะสร้างอิทธิพลและอำนาจต่อรอง ดังเช่นที่สหรัฐมีอำนาจต่อรองกับจีนในวันนี้ เพราะเทคโนโลยีจีนหลายอย่างสร้างอยู่บนฐานของเทคโนโลยีสหรัฐ
ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าจีนจะกลับมาพึ่งพาตัวเองและอยู่แต่ในการหมุนเวียนภายในแต่เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อหมุนเวียนภายในจนได้ผลลัพธ์ออกมาแล้ว จีนจะยังเชื่อมโยงเข้ากับการหมุนเวียนภายนอกด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือยุทธศาสตร์เทคโนโลยีของจีนเลียนแบบมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ซึ่งแต่เดิมก็เริ่มจากใช้ประโยชน์จากตลาดภายในขนาดใหญ่ 300 ล้านคนของสหรัฐก่อน
จากนั้นจึงขยายไปยึดตลาดโลก เอารายได้มหาศาลกลับมาทุ่มเป็นวงจรสร้างสรรค์ในการพัฒนา R&D จนครองความเป็นผู้นำเทคโนโลยี จากนั้นยังเปิดเทคโนโลยีให้จีนและทุกคนใช้ต่อยอด จนสหรัฐมีอำนาจต่อรองและอิทธิพลด้านเทคโนโลยีสูงสุดนั่นเอง
แผนเทคโนโลยีของจีนก็คือพยายามทำให้ได้อย่างสหรัฐนั่นเอง