กต. เผย ไม่มีธุรกิจไทยใน 'เมียนมา' รับผลกระทบรัฐประหาร
"โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ" เผย ยังไม่มีรายงานธุรกิจและการลงทุนไทยในเมียนมา รับผลกระทบจากเหตุการณ์กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร เผย 6 จุดผ่านแดนส่งออกสินค้าได้ รวมถึงสนามบินทั่วประเทศให้บริการเป็นปกติ
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือคนไทยในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาว่า กระทรวงการต่างประเทศติดตามพัฒนาการในเมียนมาและประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง อย่างใกล้ชิด ได้แนะนำคนไทยในเมียนมาให้ติดตามสถานการณ์และข่าวสารต่างๆ หากมีประเด็นปัญหาใด สามารถโทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
คนไทยที่ยังอยู่ในเมียนมา จากฐานข้อมูลการลงทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูตฯมีจำนวน 356 คน ประกอบด้วยคนที่ประสงค์จะกลับไทย 137 คน และยังไม่ประสงค์กลับไทย 219 คน โดยทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดต่อสอบถามความเป็นอยู่และติดตามกับชุมชนไทยอย่างใกล้ชิด ทราบว่าชุมชนไทยยังดำเนินชีวิตตามปกติ และยังไม่มีรายงานว่ามีธุรกิจหรือการลงทุนของไทยได้รับผลกระทบ
นายธานี กล่าวว่า ข้อมูลณ วันที่ 4 ก.พ. 2564 จุดผ่านแดนไทย-เมียนมา ทั้ง 6 จุด 4 จังหวัด ประกอบด้วย แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก 2 จุด, แม่สอด-เมียวดี 2 จุด , บ้านพุน้ำร้อน-ทิกิ ที่กาญจนบุรี และระนอง-เกาะสองเปิดให้คนที่ได้รับอนุญาตและสินค้าผ่านได้ตามปกติ รวมถึงสนามบินทั่วประเทศ ก็เปิดให้บริการปกติโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ปฏิบัติมาในช่วงก่อนหน้านี้
"เมียนมามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไทยและเมียนมาได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partnership) บนพื้นฐานการเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีความท้าทาย และมีโอกาสในการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ
ส่วนการค้าการลงทุน ไทย-เมียนมา ในปี 2563 เมียนมาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทยในโลก และเป็นอันดับ 7 ในอาเซียนโดยในช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. 63 มีมูลค่าการค้ารวม 158,262.02 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 20,201.21 ล้านบาท สำหรับการค้าชายแดนไทย - เมียนมา ในช่วงเดือนม.ค. - ก.ย. ๖๓ มีมูลค่า 127,010.27 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การลงทุนไทยได้รับอนุมัติการลงทุนจากทางการเมียนมา ตั้งแต่ปี 2531 - 2563 คิดเป็น 11,407.228 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และจีนสาขาการลงทุนของไทยในเมียนมาที่สำคัญที่สุด คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ