'สิงคโปร์'ขึ้นแท่น'ฮับ'ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลแห่งเอเชีย

'สิงคโปร์'ขึ้นแท่น'ฮับ'ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลแห่งเอเชีย

ขณะที่การลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ในบิทคอยน์ของเทสลาเพิ่มความตื่นเต้นแก่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอย่างมากเมื่อไม่นานมานี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ตอกย้ำการใช้เงินบิทคอยน์ของเหล่านักลงทุนกำลังสร้างโอกาสใหม่ในตลาดทุนและสิงคโปร์ก็มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้

สิงคโปร์ หนึ่งในศูนย์กลางการเงินขนาดใหญ่ของเอเชียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าหลักทรัพย์ดิจิทัล หรือ หลักทรัพย์ทางการเงินที่ถูกเปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปแบบเหรียญ คริปโตที่มีสินทรัพย์ทางการเงินเป็นตัวหนุน ซึ่งการเทรดหลักทรัพย์นวัตกรรมเหล่านี้ดำเนินการโดยผู้เล่นในท้องถิ่นและผู้เล่นจากต่างประเทศที่หวังว่าจะดึงดูดบรรดานักลงทุนเข้ามาลงทุนนแพลทฟอร์มนี้

การเติบโตทางเศรษฐกิจในสิงคโปร์เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดข้อริเริ่มต่างๆในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งไทยและญี่ปุ่น ยิ่งช่วยยืนยันว่าสิงคโปร์เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าหลักทรัพย์ดิจิทัลของภูมิภาค ขณะที่การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งสร้างบัญชีแยกประเภทที่มีความปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรมดิจิทัล การแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ดิจิทัล

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งสร้างฐานเก็บข้อมูลธุรกรรมดิจิทัล จะทำให้ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลสามารถดำเนินการด้วยต้นทุนต่ำ เช่นเดียวกับการถือครองกรรมสิทธิ์แบบสัดส่วนในสินทรัพย์สำคัญ และบ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่จะไม่ได้จดทะเบียน เช่น หุ้นนอกตลาด หรือกองทุนเฮดจ์ฟันด์

ข้อเรียกร้องหรือข้อกำหนดในการจดทะเบียนโดยทั่วไปจะถูกกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์แบบดั้งเดิม ให้มีโอกาสในการระดมทุนได้มากขึ้นสำหรับบรรดาผู้ออกหุ้น หรือนักลงทุน อาทิ สตาร์ทอัพหน้าใหม่ หนึ่งในบริษัทชั้นนำคือ iSTOX แพลทฟอร์มเอกชนมีฐานอยู่ในสิงคโปร์ ดำเนินงานโดยบริษัทท้องถิ่นอย่าง"ICHX Tech" ซึ่งจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์(เอสจีเอ็กซ์)และบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลเทมาเส็ก โฮลดิงส์ ในฐานะผู้ถือหุ้น เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา iSTOX ระบุว่า บริษัทระดมทุนได้ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)เพื่อเพิ่มฐานะการเงินในต่างประเทศให้แข็งแกร่งและเพื่อดึงดูดบรรดานักลงทุนให้เข้ามาลงทุนกับบริษัทเพิ่มขึ้น

“ชู อี้ หยี”หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของ iSTOX ระบุว่า ตั้งเป้าที่จะมีบริษัทจดทะเบียบ20แห่งบนแพลทฟอร์มของ iSTOX เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 7แห่ง ภายในปลายปีนี้ และต้องการดึงดูดบริษัทสตาร์ทอัพขนาดใหญ่ของภูมิภาคที่ยังไม่ได้จดทะเบียนที่ไหนมาก่อน เช่น บริษัทแกร๊บ ซูเปอร์แอพฯบริการเรียกรถรับจ้าง เข้ามาที่แพลทฟอร์มของบริษัทเพื่อระดมทุนผ่านหลักทรัพย์ดิจิทัล

"สำหรับบริษัทน้องใหม่ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบริษัทอีกมากมายที่ยังไม่คุ้นเคยหรือยังไม่รู้จักกันดี พวกเขาอยากมีช่องทางในการระดมทุนและเห็นว่าเราเป็นแหล่งระดมทุนที่สะดวกสบาย ขณะนี้มีบริษัทหลายแห่งทั้งจากอินโดนีเซียและเวียดนามที่ iSTOXอยากร่วมงานด้วย"ชู กล่าวและว่าหนึ่งในข้อได้เปรียบของแพลทฟอร์มดิจิทัลคือ การเข้าถึงง่ายทั้งในมุมของนักลงทุนและผู้ออกหุ้นกู้

ขณะที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดั้งเดิมกำหนดระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมประมาณ1ปีหรือมากกว่านั้น ส่วน iSTOX กำหนดไว้ประมาณ3เดือน และตลาดหลักทรัพย์ทั่วไปอนุญาตให้บริษัทและนักลงทุนรายย่อยเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดได้นั้นในส่วนของนักลงทุนรายย่อยต้องมีสินทรัพย์ส่วนบุคคลสุทธิมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์และขณะนี้มีนักลงทุนประมาณ 1,000คนจากกว่า 20 ประเทศที่จดทะเบียนเพื่อเข้าทำการซื้อขาย

ส่วนอีลิท พาร์ทเนอร์ แคปิตัล กองทุนของสิงคโปร์ ซึ่งออกหุ้นดิจิทัลสองตัวบน iSTOX เมื่อปีที่แล้ว บอกว่าการจดทะเบียนในเอเชียเป็นเรื่องสมเหตุสมผลสำหรับพวกขา


“เราออกหุ้นตัวแรกของเราในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพราะการระบาดของโรคโควิด-19ดำเนินมาถึงจุดสูงสุด เราออกจากบ้านไม่ได้ เราจึงต้องพยายามเข้าถึงบรรดานักลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีและความเร็วในการเข้าถึงตลาดเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของการออกหุ้นดิจิทัล” อีนอช ตัน ผู้อำนวยการพอร์ทการลงทุน กล่าวและว่า การออกหุ้นดิจิทัลเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าถึงสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลายและเข้าถึงบรรดานักลงทุนที่มีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นพิเศษมากกว่า

นอกจาก iSTOX แล้ว ยังมีธนาคารขนาดใหญ่สุดของสิงคโปร์ ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ ที่กำลังอยู่ระหว่างเปิดตัวแพลทฟอร์มที่เรียกว่า "DBS Digital Exchange"เพื่อออกหุ้นดิจิทัลและเทรดเหรียญดิจิทัลที่ได้รับการหนุนหลังจากหุ้นในบริษัทที่ยังไม่จดทะเบียน พันธบัตรและกองทุนเพื่อการลงทุนเอกชน(ไพรเวท อีควิตี้)

“ศักยภาพของสินทรัพย์ดิจิทัลมอบโอกาสอันมหาศาลในการแปลงโฉมตลาดทุน”พิยุท กุปตา ซีอีโอดีบีเอส ระบุ

ส่วน“จัสติน ถัง ”หัวหน้าแผนกวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียจากยูไนเต็ด เฟิร์สต์ พาร์ทเนอร์ส ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า สิงคโปร์ถูกมองว่าเป็นศูนย์ทดสอบด้านนวัตกรรมในภูมิภาคอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความทะเยอทะยานของสิงคโปร์ในการก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าหลักทรัพย์ดิจิทัลจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจและจริงๆแล้วเป็นส่วนเสริมให้กับสถานภาพการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคที่สิงคโปร์ดำเนินบทบาทนี้อยู่แล้ว