'จีน' เจ้าตลาดพลังงานลม-ติดตั้งกังหันลม 90% ของเอเชีย

'จีน' เจ้าตลาดพลังงานลม-ติดตั้งกังหันลม 90% ของเอเชีย

สภาพลังงานลมโลก (จีดับเบิลยูอีซี) ที่ถือเป็นสมาคมการค้าพลังงานลม มีฐานดำเนินงานในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ระบุว่าเมื่อปี 2563 จีนได้ติดตั้งแหล่งกำเนิดพลังงานลมแห่งใหม่ขนาด 52 กิกะวัตต์ ซึ่งผลิตพลังงานลมได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

การติดตั้งตัวกำเนิดพลังงานลมของจีนเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีการเร่งติดตั้งเครื่องกำเนิดพลังงานลมในนาทีสุดท้ายก่อนที่จะยกเลิกมาตรการอุดหนุนด้านภาษีสำหรับการติดตั้งแหล่งกำเนิดพลังงานลมในชายฝั่งทะเลในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งผลพวงนี้ ทำให้จีนติดตั้งกังหันเพื่อผลิตพลังงานลมในสัดส่วนกว่า 90%ของจำนวนกังหันผลิตพลังงานชนิดนี้โดยรวมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการติดตั้งกังหันผลิตพลังงานลมบนบกที่กระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ

การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของกังหันผลิตพลังงานลมในจีน ทำให้การติดตั้งกังหันใหม่ๆ เพื่อผลิตพลังงานลมในเอเชีย-แปซิฟิกพลอยขยายตัวตามไปด้วย โดยขยายตัวประมาณ 78% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และการติดตั้งเครื่องกำเนิดพลังงานลมใหม่ๆ ที่ผลิตพลังงานลมได้โดยรวม 56 กิกะวัตต์ในภูมิภาคช่วยผลักดันการเติบโตด้านพลังงานลมของโลก โดยมีสัดส่วน 60% ของการติดตั้งกังหันผลิตพลังงานลมใหม่ที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากจีดับเบิลยูอีซี ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทและองค์กรกว่า 1,500 แห่ง รวมทั้งบริษัทเวสทาส ของเดนมาร์ก ซึ่งผลิตกังหันลมและเซี่ยงไฮ้ อิเล็กทริกของจีน ระบุว่า ในภาพรวม ตอนนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีขีดความสามารถในการผลิตพลังงานลมได้ 347 กิกะวัตต์ ทำให้ครองส่วนแบ่งใหญ่ที่สุดในตลาดโลก เฉพาะจีนประเทศเดียวก็สามารถผลิตพลังงานชนิดนี้ได้มากกว่าในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริการวมกัน

ผลผลิตพลังงานลมเติบโตอย่างต่อเนื่องอานิสงส์จากต้นทุนการผลิตที่ลดลง และการให้คำมั่นของประเทศต่างๆ ที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการประมาณการเมื่อปีที่แล้วของลาซาร์ด บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอเมริกัน ระบุว่า ต้นทุนโดยเฉลี่ยของการผลิตพลังงานลมบนบกอยู่ที่ 26-54 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งถูกกว่าการผลิตพลังงานจากถ่านหินที่ 65-159 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือแก๊ซ ที่ 44-73 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ต่อชั่วโมง

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (ไออาร์อีเอ) ระบุว่า ในปี 2561 พลังงานลมมีสัดส่วนประมาณ 19% ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานจากน้ำ

"แม้จีนจะไม่ได้อุดหนุนพลังงานลมบนบกแล้ว แต่อุตสาหกรรมพลังงานลมในจีนยังคงเติบโตต่อไป เพราะการติดตั้งกังหันผลิตกระแสลมจุดใหม่ๆ ในปีนี้จะผลิตพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 40 กิกะวัตต์และผลิตพลังงานได้เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป ขณะที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2603" วั่นเหลียง เหลียง ผู้อำนวยการจีดับเบิลยูอีซี กล่าว

วั่นเหลียง กล่าวเสริมว่า ฟาร์มกังหันผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีที่แล้ว และมีสัดส่วนอย่างน้อย 10% ของกังหันที่ติดตั้งใหม่ในปีต่อๆ ไป

ประเทศที่อุตสาหกรรมพลังงานลมขยายตัวมากที่สุดอันดับ 2 คือ อินเดีย ซึ่งติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าในจุดใหม่ๆ ขนาด 1.1 กิกะวัตต์ แต่ถึงแม้จะติดตั้งกังหันลมเพิ่มแต่การเติบโตกลับชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากการติดตั้งกังหันลมใหม่ในปีที่แลวลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2547

ออสเตรเลีย อยู่อันดับ 3 ในส่วนของการติดตั้งกังหันลมใหม่ โดยผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 กิกะวัตต์ ส่วนญี่ปุ่น อยู่อันดับ 4 ด้วยขีดความสามารถในการผลิตกระแสลมได้ 449 เมกะวัตต์ อันดับ 6 คือเกาหลีใต้ ผลิตกระแสลมได้ 160 เมกะวัตต์ โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งปีที่แล้วตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0% ภายในปี2593 ประกาศเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานลม โดยญี่ปุ่นตั้งเป้าติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งให้ได้ 45 กิกะวัตต์ภายในปี 2583 ส่วนเกาหลีใต้ วางแผนสร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งทะเลใหญ่สุดของโลก ภายในปี 2573 โดยมีความสามารถในการผลิตพลังงาน 8.2 กิกะวัตต์

“เราเริ่มจะได้เห็นตลาดพลังงานลมเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเวียดนามที่ผลิตพลังงานลมเพิ่มขึ้น 125 เมกะวัตตต์ในปี 2563 ถือเป็นตลาดที่มีอนาคต” หลี่หมิง เฉียว หัวหน้าจีดับเบิลยูอีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว