UNDP จับมือ'ญี่ปุ่น'ส่งเสริม'การฟื้นตัว'ทางเศรษฐกิจและสังคมในไทย
UNDP เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมแก่กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น
การแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย ในขณะที่การสัญจรระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักลง ผู้ประกอบการท้องถิ่นกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีพ นับเป็นอีกเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ตกต่ำรุนแรงเป็นประวัติกาล แม้ว่ารัฐบาลไทยจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและดำเนินการไปสู่รูปแบบการเติบโตที่ยั่งยืน แต่วิกฤตนี้ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลากหลายกลุ่มชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เปราะบางและกลุ่มเสี่ยงที่ส่วนใหญ่มักถูกมองข้าม ในขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในสังคมทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
โครงการเพื่อการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 ถูกริเริ่มขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework ฉบับปี ค.ศ. 2017 – 2021 และแผนงานความร่วมมือของ UNDP สำหรับประเทศไทย (UNDP Country Programme for Thailand) ปี ค.ศ. 2017 - 2021 ที่สอดคล้องกับ “แผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมและรับมือกับโควิด – 2019” ขององค์การอนามัยโลก เป็นการสานต่อการดำเนินงานตามหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและรักษาพลวัตของความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ก่อนการเริ่มเปิดตัวโครงการนี้ ได้มีการเปิดรับข้อเสนอโครงการจากหน่วยงานที่สนใจ โดยมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมในกระบวนการคัดเลือกในครั้งนี้ อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เป็นต้น ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมจำนวนทั้งสิ้น 24 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือก ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ในการต่อสู้กับโควิด-19 ไทยและญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายเดียวกันคือ การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับพลเมืองของพวกเรา และการพยายามรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นาย ฟูมิฮิโกะ โกโตะ ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการประเทศญี่ปุ่นประจำคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ณ สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าว
“แม้ว่าพวกเรากำลังเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน แต่ผมก็รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่เราสามารถริเริ่มความร่วมมือใหม่กับองค์กรภาคีในพื้นที่ โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของเรามาอย่างยาวนาน”
โครงการที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 24 โครงการ ได้รับเงินสนับสนุนตั้งแต่ 10,000 – 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกำหนดดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ปี 2021 การดำเนินโครงการดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงประมาณ 16,000 ราย และโดยอ้อมประมาณ 100,000 ราย ทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ การสนับสนุนการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน และการส่งเสริมด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยมุ่งเน้นกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด โดยเฉพาะเยาวชน ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ ตลอดจนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้ ที่ทำให้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้มีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานของไทยในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดได้มากขึ้น ซึ่งเงินช่วยเหลือเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคประชาสังคมไทยในการให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนที่เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงจากการแพร่ระบาด เราขอขอบคุณพันธมิตรจากหน่วยงานภาครัฐและสมาชิกท่านอื่น ๆ ของคณะกรรมการคัดเลือกสำหรับการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการฟื้นฟูประเทศ ”
ภายใต้โครงการนี้ จะมีการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจากโควิด -19 ของประเทศไทย อาทิ โครงการจ้างงานผ่านการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสำหรับผู้พิการ การให้บริการการคุ้มครองทางสังคมกับกลุ่มพนักงานบริการ การแนะแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนสำหรับคนไร้สัญชาติ การสร้างโอกาสความและก้าวหน้าในสายอาชีพแก่ผู้ประกอบการสังคมหน้าใหม่
ความช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้ ซึ่งจะสามารถเข้าถึงประชากรในกลุ่มเปราะบางมากกว่า 100,000 คน ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสนับสนุนความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ขององค์การสหประชาชาติ