'Supermoon' ช่วยเรือคลองสุเอซ หลุดตลิ่งได้อย่างไร
นอกจากความร่วมใจทำงานหนักของทีมงานกู้เรือแล้ว ปรากฏการณ์ "Supermoon" ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรือ Ever Given หลุดตลิ่งในคลองสุเอซได้สำเร็จ หลังขวางคลองอยู่เกือบสัปดาห์ แล้วทำไม "พระจันทร์เต็มดวง" ถึงมีผลกระทบกับเหตุการณ์นี้
เมื่อไม่นานนี้ เว็บไซต์นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า เรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ที่ยาวกว่า 400 เมตรและน้ำหนักกว่า 200,000 ตัน ได้รับกอบกู้ให้กลับมาลอยลำและหลุดจากการเกยตื้นคลองสุเอซของอียิปต์แล้วเมื่อวันจันทร์ (29 มี.ค.) หลังเรือดังกล่าวปิดกั้นการจราจรขนส่งสินค้าทางน้ำที่พลุกพล่านที่สุดในโลกนานเกือบสัปดาห์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก
โอซามา ราบี ประธานองค์การคลองสุเอซ (เอสซีเอ) แถลงคาดว่าภายในวันนี้ (30 มี.ค.) เรือจากปลายคลองทั้งสองด้านจำนวน 113 ลำจะเคลื่อนผ่านไปได้ ส่วนเรือที่ติดอยู่ 422 ลำน่าจะผ่านไปหมดภายใน 3 วันครึ่ง
หลังจากนี้ ทีมงานของบริษัทเอเวอร์กรีน มารีน (Evergreen Marine) จากไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเดินเรือเอเวอร์ กิฟเวน จะลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพเรือ ควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอียิปต์ ในการสอบสวน “สาเหตุที่แท้จริง” ของอุบัติเหตุครั้งนี้
ช่วงกว่า 6 วันที่ผ่านมา ทีมปฏิบัติงานกู้เรือทำงานทั้งบนบก และกลางแม่น้ำมาตลอด 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง ในที่สุดเรือเอเวอร์ กิฟเวน ได้รับความช่วยเหลือจากอิทธิพลทางธรรมชาติคือ พระจันทร์เต็มดวง (Supermoon) และกระแสน้ำ ที่ทรงพลังเหนือกว่าเครื่องจักรขนาดใหญ่ใด ๆ ช่วยปลดปล่อยเรือเอเวอร์ กิฟเวน
อิทธิพลจากพระจันทร์เต็มดวง ได้เพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำให้เพิ่มสูงขึ้นชั่วข้ามคืนเนื่องจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ ขณะโคจรรอบโลกประกอบกับกระแสน้ำ และเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการขุดดินหลายตันรอบ ๆ เรือเอเวอร์ กิฟเวน ได้ทำให้เรือใหญ่ยักษ์ค่อย ๆ ปรับลอยขึ้น และเริ่มเป็นอิสระหลังเกยตื้นคลองสุเอซ
2 เหตุการณ์เกิดขึ้นประจวบเหมาะ
ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ควันนี้ (30 มี.ค.) ว่า ปรากฏการณ์ Supermoon หรือ Super Fullmoon นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เหตุการณ์สองอย่างเกี่ยวกับดวงจันทร์เกิดขึ้นพร้อมกันพอดี นั่นก็คือ ดวงจันทร์เต็มดวง กับดวงจันทร์ใกล้โลก
แท้จริงแล้วทั้งดวงจันทร์เต็มดวง และดวงจันทร์ใกล้โลกนั้นเกิดขึ้นอยู่ทุกเดือน เนื่องจากดวงจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นจากการที่ดวงจันทร์ไปอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ จึงเกิดขึ้นทุก ๆ 29.5 วัน แต่วงโคจรของดวงจันทร์นั้นเป็นวงรี จึงมีระยะห่างใกล้ไกลจากโลกเปลี่ยนไปตามวงโคจร ซึ่งใช้เวลา 27 วัน ด้วยเหตุที่สองคาบนี้ (เรียกว่า คาบ กับ คาบซินอดิก) ไม่เท่ากัน ทำให้สองปรากฏการณ์เกิดขึ้นเหลื่อมกันไปเรื่อย ๆ แต่จะกลับมาประจวบเหมาะกันอีกครั้งประมาณทุก ๆ 14 รอบจันทร์เต็มดวง และเมื่อวานนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้มาประจวบเหมาะกันพอดี
ปรากฏว่า สองเหตุการณ์นี้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ประจวบเหมาะมาก กับการพยายามที่จะกู้เรือ Ever Given ออกมาจากคลองสุเอซ ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าดวงจันทร์นั้นมีผลโดยตรงกับน้ำขึ้นน้ำลง และการเกิด Supermoon นั้นเป็นกรณีที่จะช่วยให้เกิดแรงน้ำขึ้นน้ำลงได้สูงที่สุดแล้ว
แรงน้ำขึ้นน้ำลงนั้น เกิดขึ้นจากแรงที่เรียกว่าแรงไทดัล ซึ่งก็มาจากแรงโน้มถ่วงนั่นเอง เนื่องจากแรงโน้มถ่วงนั้นจะเปลี่ยนแปลงตามระยะห่าง พื้นโลกส่วนที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์จะได้รับแรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์มากกว่าศูนย์กลางของโลก ของเหลวจึงมักจะถูกดึงไปกองรวมกันส่วนที่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่า เกิดเป็นน้ำขึ้น ขณะเดียวกัน พื้นโลกด้านตรงข้ามหรือไกลดวงจันทร์ได้รับแรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์น้อยกว่าศูนย์กลางของโลก น้ำในบริเวณตรงข้ามหรือไกลดวงจันทร์จึงเปรียบได้กับการยืนอยู่บนพื้นที่กำลังตกลงด้วยอัตราสูงกว่า จึงมีระดับที่สูงกว่า เป็นเหตุให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงวันละสองรอบ
2 เงื่อนไข น้ำเกิด-น้ำตาย
แต่นอกจากดวงจันทร์แล้ว อีกวัตถุท้องฟ้าหนึ่งที่ส่งแรงไทดัลต่อโลกด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ ดวงอาทิตย์ แม้ว่าดวงอาทิตย์จะมีมวลมากกว่าดวงจันทร์เป็นอย่างมาก แต่ว่าดวงอาทิตย์นั้นอยู่ไกลกว่าดวงจันทร์มาก แรงไทดัลที่มาจากดวงอาทิตย์จึงอ่อนกว่าจากดวงจันทร์ โดยมีแรงเพียงประมาณ 1 ใน 3
แต่สิ่งที่ทำให้ซับซ้อนขึ้นไปอีกก็คือ แรงไทดัลจากวัตถุทั้งสองนี้นั้นไม่ได้ออกแรงไปในทิศทางเดียวกันเสมอ เปรียบได้กับเด็กสองคนที่พยายามจะดึงหนังยางไปในคนละทาง เมื่อไรก็ตามที่แรงไทดัลจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เสริมกัน ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "น้ำเกิด" (spring tide) ซึ่งจะเกิดน้ำขึ้น-น้ำลงได้สูงสุด แต่หากแรงไทดัลทั้งสองนั้นกระทำในทิศตั้งฉากกัน แรงไทดัลก็จะหักล้างกันในบางส่วน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "น้ำตาย" (neap tide) ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับน้ำขึ้น-น้ำลงต่างจากค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
ปรากฏการณ์ "น้ำเกิด" จะเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ อยู่ในทิศทางเดียวกัน หรือตรงข้ามกันพอดี เช่น ในวันเพ็ญที่ดวงจันทร์อยู่ตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี นอกจากนี้ เนื่องจากระยะห่างของดวงจันทร์จากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรี ดวงจันทร์จะส่งแรงไทดัลต่อโลกได้มากที่สุดเมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด
ทั้งสองเงื่อนไขนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคมพอดี เนื่องมาจากเป็นปรากฏการณ์ supermoon ทำให้ทางทีมงานกู้เรือในคลองสุเอซ พยายามใช้โอกาสที่ระดับน้ำขึ้นลงสูงสุดในช่วงนี้ ในการพยายามกู้เรือเฮือกสุดท้าย
ด้วยระดับน้ำที่ขึ้นสูงกว่า 2 เมตรในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด เมื่อคิดจากขนาดเรือ 400x56 เมตร เราจะพบว่าน้ำที่ขึ้นมา 2 เมตรนี้เทียบเท่าได้กับแรงลอยตัวที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 45,000 ตัน พูดง่าย ๆ ว่า หากเราไม่สามารถลากเรือออกมาได้ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุดในวัน supermoon แล้ว คงจะไม่มีวันที่จะสามารถลากเรือออกมาได้อีกต่อไป ซึ่งก็คงจะต้องหันไปใช้ทางเลือกอื่น เช่น การยกตู้คอนเทนเนอร์ออกจากเรือ ก่อนที่จะพยายามลากออกไปอีกครั้ง
แต่แล้วในที่สุด เรือ Ever Given ก็สามารถกลับมาลอยลำได้อีกครั้ง และในที่สุดคลองสุเอซก็สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้งหนึ่ง
ดร.มติพล ย้ำว่า แน่นอนว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้นั้น ไม่ได้มาจากผลของ supermoon เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากการทำงานแก้ปัญหาไม่หยุดหย่อนของทีมงานกู้เรือ ตั้งแต่การขุดลองคลองบริเวณใต้เรือ การขุดดินด้วยรถตักคันจิ๋ว (ที่เรามักจะเอาไปทำเป็นมีมกัน) ไปจนถึงเรือลากจำนวนมากที่คอยผลักดัน
แต่อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ก็คือการที่ทีมงานมีความรู้ความเข้าใจทางด้านดาราศาสตร์เกี่ยวกับ supermoon และน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ทีมงานมั่นใจได้ว่าเขาสามารถใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
------------
ที่มา: WSJ, เพจเฟซบุ๊ค มติพล ตั้งมติธรรม