วิกฤติ 'ชิพ' มีทางออก 'อินเทล' ผลิตให้ใน6เดือน
วิกฤติ 'ชิพ' มีทางออก 'อินเทล' ผลิตให้ใน 6 เดือน หลังประธานาธิบดีสหรัฐ เชิญซีอีโอบริษัทชั้นนำ ประชุมออนไลน์บรรเทาปัญหาอุตสาหกรรมการผลิต
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ประชุมร่วมกับบรรดาซีอีโอบริษัทชั้นนำของประเทศ เมื่อวันจันทร์(12 เม.ย.)ทั้งอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล, เอทีแอนด์ที, อินเทล และเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม)เพื่อผ่าทางตันในวิกฤติขาดแคลนชิพ หรือเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทอเมริกันในแทบทุกอุตสาหกรรม บริษัทอินเทล ก็ช่วยให้สถานการณ์ตึงเครียดในการประชุมบรรเทาลงเมื่อรับปากว่าจะผลิตชิพเพื่อใช้ในรถยนต์ที่โรงงานในสหรัฐในช่วง6-9เดือนข้างหน้านี้
“แพท เกลซิงเกอร์”ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) อินเทล บอกว่า บริษัทต้องการผลิตชิพที่โรงงานได้ภายใน6-9เดือนเพื่อแก้ปัญหาชิพขาดแคลน ซึ่งการขาดแคลนชิพที่ว่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเบาในสายการผลิตรถยนต์ในสหรัฐในปีนี้จำนวน 1.3 ล้านคัน
เมื่อเดือนที่แล้ว อินเทลประกาศแผนเพิ่มกำลังการผลิตชิพ ขณะเดียวกัน บริษัทก็เริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ทั้งในสหรัฐและยุโรป รวมทั้งหารือกับบรรดาซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งบริษัทปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าเป็นบริษัทใดบ้าง เพื่อให้แผนเพิ่มกำลังการผลิตบรรลุตามเป้า
ระหว่างการประชุมเมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีไบเดนบอกว่าทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างสนับสนุนให้ออกกฏหมายจัดตั้งกองทุนสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไบเดนได้ประกาศแผนลงทุน 50,000 ล้านดอลลาร์ในการผลิตและวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของการการผลักดันเพื่อให้สหรัฐกลับมาเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมอีกครั้งภายใต้แผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า2 ล้านล้านดอลลาร์
"ผมได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรสในการจัดหาทุนช่วยเหลืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยผมได้รับจดหมายจากวุฒิสมาชิก 23 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 42 คนทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน เพื่อสนับสนุนโครงการ"ชิพเพื่ออเมริกา" ประธานาธิบดีไบเดน กล่าว
ด้าน “จอห์น นูฟเฟอร์” ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ กล่าวว่า เงินทุนสนับสนุนในโครงการนี้ มุ่งเน้นกระตุ้นการผลิตและการลงทุนด้านการวิจัย จะช่วยส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐและสนับสนุนการนวัตกรรมในทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้ชิพ
“การประชุมในครั้งนี้ช่วยสร้างความต่อเนื่องด้านความสัมพันธ์ระหว่างคณะบริหารของปธน.ไบเดนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ผ่านการสนับสนุนด้านการผลิตชิพและการวิจัยจากรัฐบาลกลาง” นูฟเฟอร์ กล่าว
ขณะที่ทำเนียบขาวเปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า “ปัญหาชิพขาดแคลนซึ่งส่งผลกระทบต่อแทบทุกภาคส่วนในสหรัฐขณะนี้ ถือเป็นสิ่งที่คณะบริหารของปธน.ไบเดนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ บรรดาผู้บริหารของบริษัทที่เข้าประชุมต่างก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”
การขาดแคลนชิพทั่วโลกมีที่มาจากหลายปัจจัย ขณะที่บรรดาค่ายรถยนต์ ซึ่งปิดโรงงานชั่วคราวตั้งแต่โรคโควิด-19เริ่มระบาดเมื่อปีที่แล้ว ต้องแย่งซื้อชิพกับบรรดาบริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคจำนวนมาก แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใช้ชิพมากกว่าและอยู่ในคิวที่จะได้รับมอบสินค้าคือชิพก่อน เนื่องจากผู้บริโภคยุคนิว นอร์มอล เน้นทำงานจากที่บ้าน จึงมีความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นตามไปด้วย
ทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดนและคณะที่ปรึกษาชั้นนำ เห็นตรงกันว่าการขาดแคลนชิพเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งนอกจากจะมีผู้บริหารบริษัทชั้นนำตามที่ระบุไปแล้วยังมีผู้บริหารจากฟอร์ด, เอชพี, เดล รวมถึง ซัมซุง และไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (ทีเอสเอ็มซี)เข้าร่วมหารือกับตัวแทนฝั่งรัฐบาลคือ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ไบรอัน ดีส ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (เอ็นอีซี) และจีนา ไรมอนโด รมว.พาณิชย์สหรัฐ
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในขณะที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนเริ่มดำเนินการทบทวนห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์, แบตเตอรี่ความจุสูง, เวชภัณฑ์ และโลหะหายาก