เปิดลิสต์ 2000 บมจ.ชั้นนำโลก-ไทยติด 14 บริษัท ปตท.นำ

เปิดลิสต์ 2000 บมจ.ชั้นนำโลก-ไทยติด 14 บริษัท ปตท.นำ

นิตยสารฟอร์บสจัดอันดับ 2000 บริษัทมหาชนชั้นนำทั่วโลก ประจำปี 2564 ธนาคารไอซีบีซีของจีนครองอันดับ 1 ขณะที่ บมจ.ไทยติดลิสต์ 14 แห่ง ปตท.ครองเบอร์ 1 ไทย อันดับ 234 โลก

การจัดอันดับบริษัทมหาชนชั้นนำของโลก 2000 แห่งของนิตยสารฟอร์บส ประจำปี 2564 พบว่า บริษัทมหาชนของไทยติดอันดับฟอร์บส 14 แห่ง เริ่มต้นจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อยู่ในอันดับ 234 ของโลก ด้วยยอดขาย 5.16 หมื่นล้านดอลลาร์ กำไร 1.2 พันล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 8.49 หมื่นล้านดอลลาร์ และมูลค่าตลาด 3.64 หมื่นล้านดอลลาร์

บมจ.อันดับ 2 ของไทย อันดับ 675 ของโลกคือปูนซิเมนต์ไทย ยอดขาย 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์ กำไร 1.1 พันล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 3 เป็นของธนาคารกสิกรไทยที่ครองอันดับ 705 ของโลก ยอดขาย 8.2 พันล้านดอลลาร์ กำไร 916.9 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.22 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์

อันดับ 4 ธนาคารไทยพาณิชย์ อันดับ 791 ของโลก ยอดขาย 5.6 พันล้านดอลลาร์ กำไร 869.7 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.09 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์

อันดับ 5 ซีพีออลล์ อันดับ 840 ของโลก ยอดขาย 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ กำไร 482.5 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์

อันดับ 6 ซีพีเอฟ ครองอันดับโลกไม่ต่างจากซีพีออลล์มากนักที่ 859 ยอดขาย 1.88 หมื่นล้านดอลลาร์ กำไร 812.3 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 2.54 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 7.9 พันล้านดอลลาร์

อันดับ 7 ธนาคารกรุงเทพ อันดับโลก 1113 ด้วยยอดขาย 5.2 พันล้านดอลลาร์ กำไร 549 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.27 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 7.5 พันล้านดอลลาร์

อันดับ 8 ไทยเบฟ ครองอันดับ 1129 ของโลก ยอดขาย 8.1 พันล้านดอลลาร์ กำไร 729.9 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์ และมูลค่าตลาด 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์

อันดับ 9 ธนาคารกรุงไทย อันดับโลก 1161 ยอดขาย 4.9 พันล้านดอลลาร์ กำไร 534.6 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.11 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 5.1 พันล้านดอลลาร์

อันดับ 10 เอไอเอส อันดับโลก 1242 ยอดขาย 5.5 พันล้านดอลลาร์ กำไร 876.6 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์ และมูลค่าตลาด 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์

อันดับ 11 ธนาคารทหารไทย อันดับโลก 1703 ยอดขาย 2.9 พันล้านดอลลาร์ กำไร 323.1 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 6.04 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 3.6 พันล้านดอลลาร์

อันดับ 12 พีทีที โกลบอล เคมิคอล อันดับโลก 1780 ยอดขาย 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ กำไร 6.4 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 9 พันล้านดอลลาร์

อันดับ 13 บริษัทท่าอากาศยานไทย อันดับโลก 1884 ยอดขาย 551 ล้านดอลลาร์ ขาดทุน 206.3 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 6.9 พันล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 3 หมื่นล้านดอลลาร์

อันดับ 14 อินโดรามาเวนเจอร์ส อันดับโลก 1956 ยอดขาย 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ กำไร 53.2 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 1.51 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาด 8.3 พันล้านดอลลาร์

ในระดับโลกจีนที่รวมฮ่องกงด้วยครองความเป็นเจ้า มีบริษัทจดทะเบียนติด Global 2000 ของฟอร์บส 350 บริษัทเพิ่มขึ้น 26 บริษัทจาก 324 บริษัทเมื่อปี 2563 ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว การรุกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยี ส่วนสหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มีบริษัทติดอันดับมากที่สุด 590 บริษัทแต่เพิ่มจากปี 2563 เพียง 2 บริษัทเท่านั้น

สถาบันการเงินของรัฐจีนทำผลงานได้ดีตอกย้ำว่ารัฐบาลมีบทบาทมากมายในเศรษฐกิจจีน ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์จีน (ไอซีบีซี) ครองอันดับ 1 ของโลกเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน อันดับ 4 เป็นของธนาคารก่อสร้างจีน ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาลอีกเช่นกัน (ตกลงมาจากอันดับ 2 เมื่อปี 2563) ผิงอันอินชัวรันซ์ ขยับขึ้นจากอันดับ 7 มาอยู่ที่อันดับ 6 และธนาคารเพื่อการเกษตรจีนยังติดกลุ่มท็อปเท็นในอันดับ 9 แต่ร่วงจากอันดับ 5 ในปี 2563

บริษัทอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซของอภิมหาเศรษฐีและคนดังแดนมังกรก็ทำผลงานดีเช่นกัน อาลีบาบา ที่ผู้ก่อตั้งหลักอย่างแจ็ค หม่า เก็บเนื้อเก็บตัวในปีที่ผ่านมาหลังจากแสดงความเห็นฮือฮาเมื่อปลายปี 2563 ขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มท็อป 25 โดยอยู่ในอันดับ 23 ในปีนี้จากอันดับ 31 ในปีก่อน

เทนเซ็นต์พุ่งจากอันดับ 50 มาอยู่ที่ 29 ของโลก เจดีดอทคอมพลาดท็อป 100 ไปแบบฉิวเฉียด อันดับโลกอยู่ที่ 101 ดีขึ้นมากจากอันดับ 238 ในปีก่อน ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน “เสี่ยวหมี่” จาก 384 มาอยู่ที่ 222 เสิร์ชเอ็นจินอย่างไป่ตู้กระโดดจาก 705 มาอยู่ที่ 242 ส่วนพินตั่วตั่วจากอันดับโลกที่ 1,649 มาอยู่ที่ 864

ในภาพรวม 10 บริษัทมหาชนจาก 2021 Global 2000 ของฟอร์บส์ อันดับ 1 ได้แก่ ไอซีบีซีจากจีน ยอดขาย 1.90 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 2 เจพีมอร์แกนเชสของสหรัฐ ยอดขาย 1.36 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 3 เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ของสหรัฐ ยอดขาย 2.45 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 4 ธนาคารก่อสร้างจีน ยอดขาย 1.73 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 5 บริษัทน้ำมันซาอุดีอาระเบีย (ซาอุดีอารามโค) ยอดขาย 2.29 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 6 ร่วม 3 บริษัท ได้แก่ แอ๊ปเปิ้ลของสหรัฐ ยอดขาย 2.94 แสนล้านดอลลาร์ แบงก์ออฟอเมริกา ยอดขาย 9.88 หมื่นล้านดอลลาร์ และผิงอันอินชัวรันซ์กรุ๊ปของจีน ยอดขาย 1.69 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 9 ตกเป็นของธนาคารเกษตรจีน ยอดขาย 1.53 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 10 อเมซอนของสหรัฐ ยอดขาย 3.86 แสนล้านดอลลาร์