โฆษก กต. ออกโรงโต้คำวิจารณ์แรง ไทยตัวถ่วงอาเซียน
โฆษก กต. โต้กรณีมีบุคคลกล่าวหา มีผู้ทำให้กระทรวงการต่างประเทศตกตํ่า และนโยบายต่างประเทศของไทยล้มเหลว ตัวถ่วงอาเซียน โดยมองเป็นเรื่องไร้สาระ วิจารณ์บนพื้นฐานความไม่เข้าใจการต่างประเทศแบบถ่องแท้ ขาดความรู้ข้อเท็จจริง
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีมีบุคคลกล่าวหาว่า มีผู้ทำให้กระทรวงการต่างประเทศตกตํ่า และนโยบายต่างประเทศของไทย ล้มเหลวว่า เป็นคํากล่าวที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงแม้แต่น้อย และที่จริงแล้วไม่สมควร แม้แต่จะมีการนํามากล่าวถึงอีกเพราะเป็นความไร้สาระโดยแท้ กระทรวงการต่างประเทศ ขอนําเสนอข้อเท็จจริงโดยหวังว่าเรื่องทํานองนี้จะไม่เกิดซํ้าอีก
ส่วนต่อคํากล่าวที่ว่า ประเทศไทยทําให้องค์กรอาเซียน ตกตํ่าจนทําอะไรไม่ได้นั้น ไม่มีอะไรที่ห่างไกลจากความเป็นจริงยิ่งกว่านี้อีกแล้ว โดยนายธานี กล่าวว่า คํากล่าวนี้น่าจะมาจากการที่มีผู้ติติงการดําเนินการของอาเซียนในเรื่องเมียนมา ซึ่งไม่ยุติธรรม และไม่ถูกต้อง
“การดําเนินการต่าง ๆ ของอาเซียนบางคนอาจดูว่าไม่ทันใจนั้น ต้องมาทําความเข้าใจให้ถ่องแท้ เสียก่อนว่าอาเซียนมีที่มาที่ไปอย่างไร” โฆษก กต. ระบุ
ก่อนที่ประเทศไทย และอีก 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมาประชุมกันที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2510 เพื่อก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 นั้น ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งวุ่นวายระหว่างประเทศต่าง ๆ จนมีผู้เรียกภูมิภาคนี้ว่า Balkan of the Orient ซึ่งผู้ก่อตั้งทุกคน ตระหนักดีและพยายามหาจุดร่วมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนได้
นี่คือที่มาของกฎบัตรอาเซียน เมื่อปี 2550 ที่ประกอบด้วยการเคารพอธิปไตยและไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน (non-interference in internal affairs) การเป็นวางตัวเป็นแกนกลางของภูมิภาค (Centrality) คือมีบทบาทหรือเป็นเวทีหลักในการหารือตัดสินใจเรื่องสำคัญในภูมิภาค, การตัดสินใจแบบฉันทามติ (Consensus) คือทุกประเทศต้องเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนั้น ๆ จึงจะออก มาตรการหรือดําเนินการใด ๆ ได้ และการส่งเสริมสันติสุขในภูมิภาคด้วยการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี
ทั้งหมดนี้ ทําให้อาเซียนฝ่าฟันความยากลําบากและปัญหาขององค์กรและของประเทศสมาชิกมาได้สําเร็จจนทุกวันนี้ แน่นอนว่า หลายคนอาจวิพากษ์วิจารณ์การทํางานของอาเซียนว่า ล่าช้า ไม่ทันใจในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะปัญหาเมียนมา แต่นี่คือสิ่งที่เรียกว่า วิถีของอาเซียน (The ASEAN Way) ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ทําให้อาเซียนยังรวมตัวกันได้อยู่ถึงทุกวันนี้ และยังมีบทบาทในเวทีภูมิภาคและประชาคมโลกขึ้นทุกขณะ จึงมีประเทศใหญ่ ๆ มาขอเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียน เป็นจํานวนมาก มิใช่เป็นองค์กรที่ตกตํ่าอย่างที่บางคนโจมตี
“กรณีสถานการณ์ในเมียนมา ข้อกล่าวหาที่ว่าการทำรัฐประหารในไทยส่งผลให้เกิดรัฐประหารในเมียนมาตามมานั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ขาดความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นอันมาก และที่สำคัญไม่มีประเด็นภายในของเมียนมาใดที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประเทศไทยหรือด่วนสรุปว่าเป็น causal relationship กันได้เลย” โฆษก กต. กล่าวย้ำ
นโยบายของไทย ต่อเมียนมาตั้งอยู่บนพื้นฐานข องการมองปัญหารอบด้านอย่างรอบคอบ เนื่องจากเรามีชายเเดน ที่ติดกับเมียนมายาวกว่า 2,400 กิโลเมตร มีการค้าขายตามชายแดนในยามปกติกว่า 1.31 ล้านล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบและยังมีปัญหาผู้หนีภัยความไม่สงบหรือการสู้รบที่เข้ามาในไทย มีประเด็นเรื่องแรงงาน การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ยาเสพติดและอีกหลายประเด็นที่ส่งผลต่อประเทศไทย ดังนั้นเหตุการณ์ในเมียนมาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง และมีหลากหลายมิติ
ถ้าจะเปรียบเทียบประเทศว่าเป็นบ้าน ขณะนี้บ้านข้าง ๆ เรากําลังมีไฟไหม้ บ้านเราก็ตกอยู่ในอันตรายไปด้วย ขณะเดียวกันก็มีคนมาร่วมด้วยช่วยกันโยนเชื้อเพลิงซํ้าเติมเข้าไปในบ้านหลังที่กําลังไฟไหม้อีก บ้านเราก็ยิ่งตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น และเราจะไปสกัดรถดับเพลิงที่จะมาดับไฟข้างบ้านก็ไม่ใช่การกระทําที่มีสติและปัญญา หรือถ้าจะบอกว่าข้างบ้านเรานิสัยไม่ดี เราจะต้องถือวิสาสะวิ่งเข้าไปในบ้านของเขา เพื่อขนเอาสมาชิกคนในบ้านเขาออกมาโดยไม่บอกกล่าวผู้ที่ดูแลบ้านอยู่ เราก็จะถูกเจ้าบ้านนั้นไล่ออกมา และอย่าลืมว่ากฎของหมู่บ้านที่กําหนดไว้ว่า สมาชิกในหมู่บ้านต้องไม่เข้าไปจุ้นจ้านเรื่องในบ้านของคนอื่น
นี่คือความท้าทายในการดําเนินกุศโลบายการต่างประเทศ ของไทยที่ต้องรอบคอบและประกอบทั้งสติและปัญญาและการตีโจทย์ให้แตก ซึ่งขณะนี้สมาชิกของอาเซียน ต่างก็ยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ยึดเป็นหลักได้ จนมีการยอมรับว่า ไทยควรมีบทบาทในการตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียน เพื่อหาทางแก้ปัญหาในเมียนมาด้วยสันติวิธีด้วย สืบเนื่องจากข้อเสนอ 4D ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศดอน ปรมัตถ์วินัยผลักดันที่กรุงจาการ์ตาเองจนตกลงกันเป็น 5-point consensus ของอาเซียน นอกจากนี้ ไทยยังใช้ทุกเวทีทุกช่องทางนอกเหนือจากอาเซียนทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยในการสนับสนุนการแก้ปัญหาในเมียนมาและลดผลกระทบต่อไทยและภูมิภาค
นอกจากปัญหาเมียนมา ไทยยังมีบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนและผนึกกำลังกับอาเซียนในประเด็นสำคัญอีกหลายเรื่องในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นผลักดันการเจรจาความตกลง RCEP จนสำเร็จ ซึ่งจะเปิดตลาดการค้าอีกมากหรือประเด็นความยั่งยืนหรือ sustainability ที่ไทยผลักดันในกรอบอาเซียนอย่างต่อเนื่องรวมทั้งในช่วงไทยเป็นประธานในปี 2562 จนบัดนี้ได้รับการยอมรับไปทั่วและเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก
นายธานี กล่าวเน้นในตอนท้ายว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าไทยเป็นตัวถ่วงอาเซียน “ถือเป็นความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศไทยในยุคปัจจุบัน” นั้น จึงเป็นเรื่องที่ขาดพื้นฐานข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง