เปิดใจนักบิน 'ภารกิจเหินฟ้าหนีตาลีบัน'
ภารกิจอพยพคนออกจากกรุงคาบูล อัฟกานิสถานหลังตาลีบันยึดประเทศ จะสำเร็จลงไม่ได้เลย ถ้าไม่มี "นักบิน" ผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถในเที่ยวบินที่ไม่มีใครเหมือน
สงครามอัฟกานิสถานได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อเครื่องบินสหรัฐลำสุดท้ายออกจากสนามบินคาบูล ก่อนรุ่งสางวันอังคาร (31 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเส้นตายที่สหรัฐกำหนดไว้ โดยตั้งแต่ตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ภาพความโกลาหลผู้คนหลั่งไหลมายังสนามบินในกรุงคาบูลเพื่อหนีออกนอกประเทศ เป็นความทรงจำท้ายๆ ของสงครามครั้งนี้ สหรัฐและชาติตะวันตกเร่งอพยพพลเมืองของตนและพันธมิตรชาวอัฟกันที่เคยช่วยงานออกไป ด้วยเกรงจะถูกตาลีบันแก้แค้นเอาคืน
สำหรับนักบิน ผู้รับผิดชอบเที่ยวบินอพยพชาวต่างชาติและชาวอัฟกันออกจากกรุงคาบูล เที่ยวบินเข้าออกที่นี่เป็นการเดินทางที่ไม่เหมือนใครอื่น การเข้าประชิดสนามบินเต็มไปด้วยอันตราย สถานการณ์ภาคพื้นดินโกลาหล จำเป็นต้องใช้การจัดการและเวลาที่แม่นยำ ส่วนผู้โดยสารก็เครียดและหมดแรงไปตามๆ กัน
การจะลงจอด ณ สนามบินแห่งนี้ที่รายล้อมไปด้วยภูเขา แถมการจราจารทางอากาศยังหนาแน่นทั้งเครื่องบินทหารและเที่ยวบินอพยพคน จำเป็นต้องพึ่งพาระบบ Traffic Collision Avoidance System (TCAS) เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินชนกัน
การอพยพคนออกจากสนามบินคาบูลถือเป็นการอพยพพลเรือนที่ซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นักบินหลายคนเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีถึงประสบการณ์แลนดิงและเทคออฟที่สนามบินนานาชาติฮามิด คาไซ ในช่วงที่ทั่วประเทศเต็มไปด้วยความโกลาหล
กัปตันสตีเฟน ไม่เปิดเผยนามสกุล แห่งเครื่องบินขนส่งทหาร เอ400เอ็มของฝรั่งเศสกล่าวว่า กองทัพสหรัฐวางกำลังทหาร 5,800 นายที่สนามบิน ควบคุมการจราจรทั้งหมดทั้งทางอากาศ ภาคพื้นดิน หอควบคุม และเขตประชิดสนามบิน
“ด้วยเครื่องบินแบบนี้ ระบบของเราช่วยเราได้มาก แต่สุดท้ายก็ต้องใช้สายตา” กัปตันกล่าวกับเอเอฟพีที่ฐาน 104 ของฐานทัพอากาศอัล-ดาฟราในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จุดเปลี่ยนเครื่องของฝรั่งเศส
“ที่บอกว่า ระบบช่วยได้มากก็คือเราสามารถโฟกัสกับรอบนอกและจับตาอันตรายได้” กัปตันสตีเฟนขยายความ
เพื่อป้องกันการยิงขีปนาวุธ เครื่องบินเอ400เอ็มสามารถปล่อยตัวสะท้อนอินฟราเรดที่สามารถปล่อยความร้อนเข้มข้นหลอกล่อวิถีจรวดได้ เมื่อกำลังเข้าใกล้รันเวย์ เครื่องบินจะเปลี่ยนทิศเข้าหาพื้นทันทีเพื่อ “หลบอันตรายระหว่างประชิดสนามบิน”
การจราจรทางอากาศทั้งขาเข้าและขาออกแบบนี้ “ถูกกำหนดไว้เหมือนโน้ตเพลง” สตีเฟนเสริม “ทุกชาติต่างจะนำเครื่องขึ้นบิน ถ้าไม่จัดการให้ดีอาจไม่มีโอกาสได้บินเลยก็ได้” นักบินเองก็ต้องปฏิบัติตามสล็อตอย่างเคร่งครัด “การแลนดิงและเทคออฟห่างกันแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น” สตีเฟนย้ำว่า แม้มีเครื่องบินจอดมากมายแต่ทุกอย่างจัดการได้ดีเยี่ยม
“เรากำลังจะเทคออฟ”
การที่ตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้เมื่อวันที่ 15 ส.ค. อย่างรวดเร็วชนิดที่ประชาคมโลกไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ทำให้ประชาชนหลายพันคนมุ่งหน้าไปยังสนามบิน เพราะนี่คือวิธีเดียวที่จะออกจากประเทศนี้ได้
มัคซุด บาร์จานี นักบินจากปากีสถาน อินเตอร์เนชันแนล แอร์ไลน์ (พีไอเอ) เล่าว่า ตอนเขานำเครื่องบินโดยสารลำหนึ่งลงจอดในเช้าวันนั้น ทุกอย่างยังดูปกติ เขารออยู่บนลานบินเพื่อนำเครื่องบินกลับ
“ผมเริ่มสังเกตเห็นความตื่นตระหนกด้านนอก และสถานการณ์ไม่ปกติแล้ว ประชาชนเร่งเข้ามาในสนามบิน ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นด้วย”
บาร์จานีเริ่มถอยเครื่องบินก่อนนำเครื่องเทคออฟ แต่หอควบคุมการบินแจ้งว่าระงับเที่ยวบินโดยสารและเขาไม่ได้รับอนุญาตให้นำเครื่องขึ้น บาร์จานีจึงต้องตัดสินใจครั้งใหญ่สุดในวิชาชีพนักบินของตน
“ผมคุยกับผู้ช่วยนักบินว่าเราต้องเทคออฟแม้ไม่ได้รับอนุญาต สถานการณ์ไม่ปกติแล้ว หลังจากสังเกตการณ์อยู่หนึ่งชั่วโมง สุดท้ายผมก็เอาเครื่องขึ้น ทัศนวิสัยดีช่วยให้ผมหลบเครื่องบินทหารได้ ตอนนั้นมีเฮลิคอปเตอร์ชีนุค กันชิพ และเครื่องบินขนส่งสินค้าจำนวนหนึ่ง ถ้าเราช้าอีกสัก 2-3 นาทีล่ะก็ เราคงไม่ได้ออก เราเป็นเที่ยวบินพาณิชย์เที่ยวสุดท้ายของวันนั้น”
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย อูซาอีร์ ข่าน นักบินจากพีไอเอเพื่อนร่วมงานของบาร์จานีเพิ่งเทคออฟจากสนามบินคาบูล เขาจำได้ว่าต้องนั่งสงบจิตสงบใจอยู่บนเครื่อง ขณะที่ผู้โดยสารพากันตื่นตระหนก
“ผู้โดยสารส่วนใหญ่ถ้าไม่อยู่ในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดี (อัชราฟ) กานี ก็เป็นใครสักคนในรัฐบาล พวกเขาออกนอกประเทศไปพร้อมกับครอบครัว และเร่งเร้าให้เราเทคออฟเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนั้นไม่มีการติดต่อสื่อสาร ผมเคลียร์เทคนิคทุกอย่างด้วยตนเอง ได้รับแจ้งให้จัดการสถานการณ์เอง ผู้โดยสารพร้อมที่จะบินและออกจากอัฟกานิสถานไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เมื่อเครื่องบินมาถึงอิสลามาบัดทุกคนโล่งใจไปตามๆ กัน ”
ทำหน้าที่ของเรา
ความโกลาหลเพิ่มขึ้นในวันต่อๆ มา กองทัพอากาศอังกฤษเผยภาพเครื่องบิน ซี-17 ลำหนึ่ง ประชาชนนั่งขัดสมาธิบนพื้นเป็นแถวๆ ละ 7-8 คน มีเชือกหนึ่งเส้นขึงกลางห้องโดยสารให้ยึด
“คุณต้องอยู่กับเหตุผล วิเคราะห์สมรรถนะของเครื่องบิน รับผู้โดยสารได้ไม่เกินขีดสูงสุดเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย” นายพลยานนิค เดสบัวส์ ผู้บังคับการฐานทัพ 104 ของฝรั่งเศสกล่าว
ปกติแล้วเครื่องบินเอ400เอ็มของฝรั่งเศสมี 110 ที่นั่่ง “แต่เรารับมากถึง 235 คน ต้องนั่งกันบนพื้นแต่ก็ปลอดภัย”
เครื่องบินซี-17 ของสหรัฐนั้นออกแบบมาให้รับผู้โดยสารได้ 400 คน แต่เที่ยวบินหนึ่งของการอพยพคนชั่วโมงแรกๆ มีผู้โดยสารถึง 829 คน
“ไม่ต้องถามเลยเรื่องน้ำหนักบรรทุก” เดสบัวส์กล่าว ขณะเดียวกันเมื่อผู้โดยสารมีจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย
แต่หลังจากเทคออฟแล้วงานก็ง่ายขึ้น “ผู้คนเหนื่อยล้า ความกดดันลดลง โดยทั่วไปพวกเขาหลับ เราก็ทำงานของเราไป” ผู้บังคับการสตีเฟนสรุปบรรยากาศเที่ยวบินประวัติศาสตร์