กต. ยืนยันสัมพันธ์ ไทย - จีน ไร้รอยต่อ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงข้อกล่าวหาหนุนยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก ต้านอำนาจจีน ยืนยันไม่มีปัญหาความสัมพันธ์กับจีน รวมถึงรถไฟจีน-ไทย
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไทยกับจีน มีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างกันหลายประการ ว่า ไทยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีและใกล้ชิดกับนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งกับมหาอำนาจ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ อินเดีย สหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร และรัสเซีย
"ไทยได้รักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของนโยบายการต่างประเทศไทยมาโดยตลอด" โฆษก กต.ระบุ
นอกจากนี้ นายธานีได้ปฏิเสธว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับการสนับสนุนยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก เพื่อต่อต้านรัสเซีย จีน อิหร่านและเกาหลีเหนือ ไทยมีนโยบายที่สนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกภูมิภาคภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) มิใช่การสนับสนุนการดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์ต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ AOIP จึงเป็นมุมมองของอาเซียนเองที่มิได้ยึดโยงกับนโยบายหรือยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกอื่นใด
นายธานี กล่าวอีกว่า ไทยไม่มีปัญหาใด ๆ ในความสัมพันธ์กับจีน รวมทั้งในเรื่องข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ซึ่งการที่กล่าวอ้างว่าเป็นข้อตกลงพร้อมกับข้อตกลงที่รัฐบาลจีนจะซื้อ “ข้าวเน่า” “ข้าวใหม่” และยางพาราจากรัฐบาลไทย โดยระบุว่า ไทยดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวล่าช้า ขณะที่จีนปฏิบัติตามข้อตกลงซื้อข้าวและยางพาราจากไทยแล้ว จนทำให้จีนไม่พอใจ
เรื่องนี้ ขอชี้แจงว่า ข้อตกลงรถไฟความเร็วสูงเป็นคนละข้อตกลงกันกับที่รัฐบาลจีนจะซื้อข้าวและยางพาราจากรัฐบาลไทย
นายธานี ชี้แจงไล่เรียงตั้งแต่กรณีโครงการรถไฟไทย - จีน รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจและบันทึกความร่วมมือกันรวม 4 ฉบับระหว่างปี 2557 - 2559 และปัจจุบันทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งดำเนินการตามข้อตกลงต่าง ๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่ 1 ของโครงการก่อสร้างระหว่างกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ซึ่งก็มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ
ขณะที่ในกรณีการซื้อขายข้าวและยางพาราระหว่างรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศก็ได้หารือกันมาโดยตลอดเพื่อให้การซื้อขายเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ไม่มีการระบุถึง “ข้าวเน่า” ในข้อตกลงแต่อย่างใด
สำหรับเรื่องปฏิญญาซานย่าและการขุดลอกแม่น้ำโขง นายธานีย้ำว่า "ปฏิญญาซานย่า" เป็นปฏิญญาระดับผู้นำที่รับรองในที่ประชุมแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) ครั้งแรกที่เกาะไหหลำของจีน เมื่อ 5 ปีก่อน ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยรับรองโดย “ไม่ต้องมีการลงนาม” โดยครอบคลุมความร่วมมือหลากหลายด้าน แต่ไม่มีเรื่องการขุดลอกแม่น้ำโขง
ส่วนแผนปฏิบัติการตามปฏิญญาซานย่า ไทยก็ได้ให้การรับรองเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่น และก็ไม่มีเรื่องขุดลอกแม่น้ำโขงแต่อย่างใดเช่นกัน
ไทยดำเนินนโยบายในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างสมดุลกับหุ้นส่วนภายนอกผ่านกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สำคัญ ทั้งกับจีน (Mekong - Lancang Cooperation-MLC) สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership ที่ยกระดับมาจาก Lower Mekong Initiative) ญี่ปุ่น (Mekong - Japan Cooperation) อินเดีย (Mekong - Ganga Cooperation) และเกาหลีใต้ (Mekong-ROK Cooperation) อันสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของไทยที่ใช้แนวทางการทูตแบบสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ไทยกับจีนยังมีความร่วมมือกันอย่างดีและใกล้ชิดในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ทั้งกรอบ GMS (Greater Mekong Subregion) และแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ซึ่งมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการ cross-border e-commerce (การให้สิทธิพิเศษทางภาษี) ระหว่างไทย-ลาว-จีน ซึ่งจีนสนับสนุนเงินทุนสำหรับการจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ของโครงการด้วย