ลุ้นทีมไทย-เยอรมัน-อิตาลีประกวด“นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม”

ลุ้นทีมไทย-เยอรมัน-อิตาลีประกวด“นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม”

โครงการ Earthshot Prize ประกาศชื่อผู้เข้ารอบสุดท้าย 15ทีม แต่ละทีมมีสิทธิ์คว้าเงินรางวัลชนะเลิศมูลค่า1ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญครั้งใหญ่นี้

โครงการประกวด Earthshot Prize เป็นโครงการในพระราชดำริของเจ้าชายวิลเลียมและมูลนิธิ The Royal Foundation ที่ริเริ่มเมื่อเดือนตุลาคมปีพ.ศ. 2563 นับเป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เช่นเดียวกับโครงการไปดวงจันทร์ของประธานาธิบดีเคนเนดีเมื่อ 60ปีที่แล้ว รางวัลนี้มุ่งที่จะปลดปล่อยความสามารถด้านนวัตกรรมและความเป็นผู้นำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเพื่อจัดการกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามต่อท้องทะเล อากาศและพื้นดินของเรา

รางวัลดังกล่าวนับเป็นการเรียกร้องให้เกิดการดำเนินการเร่งด่วนและมุ่งที่จะเติมความหวังให้กับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการให้รางวัลกับผู้นำที่น่าเอาเยี่ยงอย่างในด้านนี้ รวมทั้งมอบเงินรางวัลเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ขยายการดำเนินการได้มากขึ้น โครงการนี้จะรวบรวมผู้ชนะได้ 50 ทีมในระยะเวลา10ปีเพื่อเป็นพลังในการฟื้นฟูโลก

เจ้าชายวิลเลียมกล่าวว่า “กว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว โครงการไปดวงจันทร์‘Moonshot’ของประธานาธิบดีเคนเนดีรวมพลังผู้คนทั่วโลกหลายล้านคนให้ร่วมกันบรรลุเป้าหมายที่จะไปพิชิตดวงจันทร์ นั่นคือแรงบันดาลใจให้เราจัดโครงการประกวด Earthshot Prize ขึ้นเพื่อระดมพลังทั่วโลกร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมที่แปลกใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูโลกของเรา”

“เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้แนะนำให้ทุกคนรู้จักนักนวัตกรรม ผู้นำ และผู้มีวิสัยทัศน์ทั้ง15ทีมที่ได้รับเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายในการประกวดEarthshot Prizeปีแรกนี้ พวกเขากำลังเร่งทำงานในช่วงทศวรรษหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะชี้ชะตาชีวิตบนโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคนด้วยทัศนคติที่ว่าเรามีความสามารถที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความท้าทายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์นี้”

โครงการ Earthshot Prizeเป็นโครงการระดับโลกโดยแท้จริง โดยThe Royal Foundationได้พัฒนาโครงการนี้ขึ้นด้วยการรวบรวมทั้งกลุ่มผู้เสนอโครงการที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลและระดับองค์กรรวมกว่า200รายจากหลากหลายแวดวงทั่วทุกทวีปรอบโลก มีคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้มีอิทธิพลในวงการที่มุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้ชนะเลิศ 5 ทีมในบรรดาผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 15 ทีมจะได้รับรางวัล Earthshot Prize  พร้อมเงินรางวัลมูลค่า1ล้านปอนด์ (ราว45ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมาย5ประการของโครงการ ได้แก่ ปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ ฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ ชุบชีวิตมหาสมุทร สร้างโลกที่ปลอดขยะ และแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ การประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศจะมีขึ้นในวันที่17 ต.ค. ณ อเล็กซานดรา พาเลส (Alexandra Palace) กรุงลอนดอน และจะถ่ายทอดสดในสหราชอาณาจักรผ่านช่อง BBC Oneและทั่วโลกผ่านช่องDiscovery

ผู้เข้ารอบสุดท้าย15ทีมในการประกวดปีแรกนี้ได้รับการคัดเลือกโดยที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของโครงการซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผลงานของผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายแต่ละรายได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกที่เข้มข้นและได้รับการประเมินศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบระดับเปลี่ยนโลก ความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายของโครงการ Earthshotในขณะที่ยังสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับผู้คน ชุมชนและธรรมชาติในโลกได้

ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายโครงการEarthshot Prizeประจำปีพ.ศ. 2564ได้แก่

สาขาการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ:

 มูลนิธิPole Pole Foundationจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โครงการอนุรักษ์กอริลล่าและสัตว์พื้นถิ่นโดยชุมชน

 สาธารณรัฐคอสตาริกา โครงการนำร่อง จ้างชาวบ้านในท้องถิ่นฟื้นคืนระบบนิเวศตามธรรมชาติซึ่งทำให้ป่าฝนชุกฟื้นกลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่ง

 Restorจากสวิตเซอร์แลนด์ การใช้แพลทฟอร์มออนไลน์เชื่อมต่อและสร้างพลังแก่โครงการอนุรักษ์ในท้องถิ่น

สาขาการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์:

 The Blue Mapจากประเทศจีน แอพฯ แรกที่รวบรวมฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเปิดเผยสู่สาธารณะ ทำให้คนทั่วไปสามารถตรวจสอบผู้ปล่อยมลพิษได้และรายงานได้

 Takacharจากประเทศอินเดีย การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างผลิตภัณฑ์จากเศษเหลือทางการเกษตรให้กลายเป็นรายได้และหยุดการเผาขยะทางการเกษตรเหล่านี้

 Vinisha Umashankarจากประเทศอินเดีย เด็กหญิงอายุ14ปี นักสร้างสรรค์และนักเคลื่อนไหวผู้ออกแบบรถเข็นรับจ้างรีดผ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งอาจช่วยพัฒนาคุณภาพอากาศในประเทศอินเดียได้

สาขาการชุบชีวิตมหาสมุทร:

 โครงการCoral Vitaจากเครือรัฐบาฮามาส โครงการปลูกปะการังทดแทนเพื่อฟื้นคืนแนวประการังที่กำลังจะตายลงให้กลับคืนมา

 Living Seawallsจากออสเตรเลีย

 นวัตกรรมกำแพงกั้นน้ำทะเลที่ช่วยนำสัตว์ทะเลกลับมาสู่ชายฝั่ง

 Pristine Seasสหรัฐอเมริกา

 โครงการอนุรักษ์ระดับโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน ปกป้องพื้นที่มหาสมุทรโลก6.5ล้านตารางกิโลเมตร

สาขาการสร้างโลกที่ปราศจากของเสีย

 The City of Milan Food Waste Hubsประเทศอิตาลีโครงการลดปริมาณขยะอาหารทั่วเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่จะช่วยแก้ปัญหาคนอดอยากในเวลาเดียวกัน

 Sanergyจากประเทศเคนย่า ระบบกำจัดของเสียแบบหมุนเวียนที่เปลี่ยนของเสียจากมนุษย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยให้แก่เกษตรกรท้องถิ่น

 WOTA BOXจากประเทศญี่ปุ่นหน่วยบำบัดน้ำเสียขนาดพกพาที่สามารถบำบัดน้ำเสียร้อยละ98ให้เป็นน้ำสะอาดได้

สาขาการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ

 AEM Electrolyserประเทศไทย เยอรมนี และอิตาลีเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอาคารบ้านเรือน

 Reeddi Capsulesจากประเทศไนจีเรียแคปซูลพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำให้ชุมชนที่ขาดแคลนพลังงานสามารถเข้าถึงไฟฟ้าในราคาถูก

 SOLbazaarจากประเทศบังกลาเทศเครือข่ายแลกเปลี่ยนพลังงานแบบPeer-to-peerครั้งแรกของโลกในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง

ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง15ทีมจะได้รับทรัพยากรและการสนับสนุนที่ตรงต่อความต้องการจากEarthshot Prize Global Alliance Membersซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจเอกชนครั้งแรกของโลกที่จะช่วยผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมดให้ได้ขยายผลงานนวัตกรรมเปลี่ยนโลกของพวกเขาให้เกิดผลในวงกว้างยิ่งขึ้น

5ใน15ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้รับเลือกเป็นผู้ชนะเลิศโดยคณะกรรมการโครงการEarthshot Prizeซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีอิทธิพลและผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเจ้าชายวิลเลียม สมเด็จพระราชินีราเนีย อัล-อับดุลลาห์ แห่งจอร์แดน เซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ ดร.โงซี โอคอนโจ-อิเวอาลา อินทรา นูยี ชากีรา เมบารัก คริสเตียนา ฟิเกเรส ลุยซา นอยเบาเออร์ เคต แบลนเชตต์ เหยาหมิง แจ๊ค หม่า ฯลฯ