ถอดบทเรียนออสเตรเลีย ใครๆ ก็อยากได้“เรือดำน้ำ”
การตัดสินใจของออสเตรเลียซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐและอังกฤษ ตอกย้ำความกังวลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อขีดความสามารถทางทะเลของจีนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศเอเชียแปซิฟิกล้วนอยากได้เรือดำน้ำ
จากกรณีที่ออสเตรเลียทำข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส แล้วมาเปลี่ยนใจยกเลิกดีลทีหลัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน แจงเหตุผลว่า ไม่ได้ “เปลี่ยนใจ แต่ความจำเป็นเปลี่ยนแปลง” ชวนให้คิดถึงการแข่งขันขีดความสามารถทางทะเลในเอเชียแปซิฟิก สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมการสร้างสมดุลแห่งอำนาจในเอเชียแปซิฟิกไว้อย่างน่าสนใจ
จำนวนเรือรบโดยรวม
จำนวนเรือรบทั้งเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐระบุว่า จีนมีกองทัพเรือใหญ่สุดในโลก ขณะที่ตัวเลขจากหน่วยข่าวกรองทัพเรือสหรัฐบอกว่า เมื่อสิ้นปี 2563 ขนาดของกองทัพเรือจีน (จำนวนเรือรบ) อยู่ที่ราว 360 ลำ เทียบกับสหรัฐ 297 ลำ คาดว่าจีนน่าจะเพิ่มเรือรบเป็น 400 ลำในปี 2567 และ 425 ลำในปี 2573
อ่านข่าว “สหรัฐ” เสียใจ “ฝรั่งเศส” เรียกทูตกลับ ปมสัญญาซื้อ "เรือดำน้ำ"
อัตราการขยายกองทัพเรือ
แม้เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ 11 ลำ ประจำการอยู่ในแปซิฟิก 5 ลำ แต่จีนก็สร้างเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 เรียบร้อยแล้วและกำลังสร้างเรือพิฆาตเพิ่มอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมกล่าวว่า ระหว่างปี 2558-2562 จีนต่อเรือรบ 132 ลำ เทียบกับสหรัฐ 68 ลำ อินเดีย 48 ลำ ญี่ปุ่น 29 ลำ และออสเตรเลีย 9 ลำ
ในช่วงเวลาเดียวกันฝรั่งเศสต่อเรือรบใหม่ 17 ลำ อังกฤษ 4 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง พลเรือเอกปิแอร์ แวนดิเยร์ ระบุว่า ในเวลา 4 ปีจีนต่อเรือรบเท่ากับกองเรือฝรั่งเศสทั้งหมด การพัฒนากองทัพเรือจีนคิดเป็น 55% ของงบประมาณกลาโหมแดนมังกร
เรือดำน้ำ
รายงาน Military Balance ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (ไอไอเอสเอส) ให้ข้อมูลว่าปักกิ่งมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ (เอสเอสบีเอ็น) 6 ลำ เรือดำน้ำโจมตีราว 40 ลำ ในจำนวนนี้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ 6 ลำ
วอชิงตันมีเรือดำน้ำโจมตี 21 ลำ เอสเอสบีเอ็นในแปซิฟิก 8 ลำ ส่วนใหญ่ปฏิบัติการในเพิร์ลฮาร์เบอร์
ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำดีเซลชั้นคอลลินส์ออกแบบโดยสวีเดน 6 ลำ ประจำการมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 90 จำต้องทดแทนด้วยเรือดำน้ำโจมตีผลิตในฝรั่งเศส 12 ลำ แต่ดีลมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ถูกยกเลิกไปด้วยฝูงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์โดยความช่วยเหลือของสหรัฐ
นอกเหนือจากออสเตรเลีย ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคล้วนเร่งเสริมขีดความสามารถกองทัพเรือของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดซื้อเรือดำน้ำของตนเอง เวียดนามมีเรือดำน้ำออกแบบโดยรัสเซีย 6 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ อินโดนีเซียสั่งจากเกาหลีใต้ 6 ลำ ฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาด้วยเช่นกัน
ประเทศเหล่านี้ล้วนมีข้อพิพาทน่านน้ำกับจีนมายาวนาน ขณะที่ญี่ปุ่นมีเรือดำน้ำ 23 ลำ เกาหลีใต้ 18 ลำ สิงคโปร์ 2 ลำ รัสเซีย 12 ลำ
อีกหนึ่งสัญญาที่ชี้ว่าความตึงเครียดในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นทุกขณะคือ ต้นปีนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544 ที่ฝรั่งเศสส่ง “Emeraude”เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์เข้ามายังแปซิฟิกด้วย