วิกฤตหนี้ “เอเวอร์แกรนด์” บทพิสูจน์ความน่าเชื่อถือจีน
การส่อแววว่าจะผิดนัดชำระหนี้ของ “ไชนา เอเวอร์แกรนด์” บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน ถือเป็นบทพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนได้เป็นอย่างดีหากรับมือกับปัญหาของ “เอเวอร์แกรนด์” อย่างเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) มั่นใจว่า ทางการจีนมีความสามารถในการควบคุมวิกฤติหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ได้โดยไม่ปล่อยให้ลุกลามจนส่งผลกระทบในวงกว้าง
“เราคิดว่าจีนมีความสามารถด้านการเงินและการคลังในการบรรเทาภาวะตื่นตระหนกดังกล่าว ซึ่งจะช่วยจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้น ยกเว้นแต่เพียงบางบริษัทเท่านั้น” ลอเรนซ์ บูน หัวหน้านักวิเคราะห์ของโออีซีดี กล่าว
ขณะที่ "กิตา โกปินาธ" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งติดตามสถานการณ์ของบริษัทไชนา เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ปอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าจีนจะมีวิธีป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวไม่ให้กลายเป็นวิกฤติเชิงระบบ
อ่านข่าว : “ประธานเอเวอร์แกรนด์”ปลอบขวัญพนักงาน เชื่อมั่นรอดแน่
โกปินาถให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์คือภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีน และการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของจีน
“เรากำลังติดตามสถานการณ์ในจีนอย่างใกล้ชิดและเรายังเชื่อว่าจีนมีเครื่องมือและนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นวิกฤติเชิงระบบ” โกปินาธกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปด้านกฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินในระดับสูง
เอเวอร์แกรนด์ มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,780 ล้านบาท ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.ปี 2565 และมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,580 ล้านบาท ในวันที่ 29 ก.ย.ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.ปี2567
หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเมื่อถึงวันกำหนดชำระดังกล่าวได้ บริษัทจะมีเวลาอีก 30 วันเพื่อทำการชำระ และหากบริษัทยังคงไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ก็จะถือว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และคาดว่านักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์จะได้รับส่วนแบ่งการชำระคืนในสัดส่วนที่ต่ำ
ข้อมูลที่มีการยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือประมาณ1 ล้านล้านบาท นับจนถึงสิ้นปี 2563
อย่างไรก็ตาม “หลี่ เต้าคุย” อดีตที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน(พีบีโอซี)ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า วิกฤตของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งจะชะลอตัวลง ด้วยเหตุนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะฉุดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้า เนื่องจากการเงินในภาคส่วนดังกล่าวชะลอตัวลง
แต่หลี่ ก็มีความเห็นว่า การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบไม่มากนักต่อระบบการเงินของจีน เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์ไม่มีหนี้สินในรูปของตราสารอนุพันธ์
ขณะที่บริษัทเหิงต้า เรียล เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไชนา เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทจะชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ในวันพฤหัสบดี (23 ก.ย.) ซึ่งทำให้ตลาดทั่วโลกคลายความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์
เหิงต้าได้ยื่นรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้นโดยระบุว่า บริษัทจะชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ตรงเวลาในวันพฤหัสบดี ซึ่งคิดเป็นวงเงินรวม 232 ล้านหยวน (35.88 ล้านดอลลาร์)
หุ้นกู้ดังกล่าวซึ่งซื้อขายในตลาดหุ้นเสิ่นเจิ้นจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย. ปี 2568 และจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ 5.8% แต่เอเวอร์แกรนด์ ก็มีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ต่างประเทศสกุลดอลลาร์จำนวน 83.53 ล้านดอลลาร์ในวันเดียวกันด้วย แต่รายงานที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้น ไม่ได้ระบุถึงหุ้นกู้ต่างประเทศแต่อย่างใด