ผู้ผลิตอาหารอาเซียนเร่งแก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสหภาพยุโรป

ผู้ผลิตอาหารอาเซียนเร่งแก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสหภาพยุโรป

ท่ามกลางปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานทั่วภูมิภาคเอเชียที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด บรรดาผู้ผลิตอาหารในอาเซียนพยายามเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทานของตัวเองเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ทียู)บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของไทยให้คำมั่นสัญญาว่าจะติดตั้งระบบเฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์แก่ฝูงเรือประมงปลาทูนาทุกลำของบรรดาบริษัทซัพพลายเออร์ภายในปี 2568 เพื่อปราบปรามการละเมิดสิทธิแรงงาน ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่จะส่งผลกระทบอย่างมากในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมประมง

 ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่สุดของโลกจะใช้อุปกรณ์ต่างๆที่รวมถึงกล้อง  ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก(จีพีเอส)และระบบเซนเซอร์ ที่จะติดตามสภาพการทำงานบนเรือ เป็นส่วนหนึ่งของการให้คำมั่นของบริษัทที่จะทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานของบริษัทมีความโปร่งใส100%         

  ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นซัพพลายเออร์หลักด้านอาหารสำหรับโลก บรรดาบริษัทเกษตรกรรมและอาหารในภูมิภาคกำลังเร่งแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระบบห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเป็นข้อกังวลหลักของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

 10 ชาติสมาชิกอาเซียนมีสัดส่วนในการจับปลาในสัดส่วนหนึ่งในห้าของการจับปลาทั่วโลก โดยสัดส่วนนี้มากกว่าจีนและบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยเป็นผู้จัดหาน้ำมันปาล์มในสัดส่วนประมาณ 90% ของปริมาณน้ำมันปาล์มทั่วโลก

 เว็บไซต์นิกเคอิ  เอเชีย ระบุว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานในรูปแบบต่างๆในอุตสาหกรรมประมงอย่างกว้างขวาง โดยบรรดาลูกเรือที่เป็นแรงงานอพยพถูกบังคับใช้แรงงานภายใต้สภาพความเป็นอยู่ที่ไร้มนุษยธรรม ขณะที่กิจกรรมเฝ้าระวังนอกน่านน้ำก็เป็นความท้าทายอย่างมาก  
 

สหภาพยุโรป(อียู)ขู่ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยในปี 2558 แต่พอถึงปี 2562 “เคอเมนู เวลลา” กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ประกาศว่า อียูตัดสินใจปลดใบเหลืองปะมงไอยูยูของประเทศไทยและให้ใบเขียว เนื่องจากไทยได้แก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูตามหลักสากลแล้ว จากการร่วมมือทำงานกันมาตลอด3ปีจนสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาไอยูยูในโลกและภูมิภาคเอเชีย

“ในเรื่องการปลดใบเหลืองและให้ใบเขียว ยืนยันว่าอียูไม่มีเรื่องการเมือง จากนี้อียูกับไทยจะทำงานใกล้ชิดกันเพื่อแก้ไขในประเทศอื่นๆที่ยังมีการทำประมงผิดกฎหมายเช่นกัมพูชา ไต้หวัน ศรีลังกา ซึ่งอียูเห็นว่า การเตือนโดยการให้ใบเหลือง หรือใบแดง กับประเทศที่ทำประมงผิดกฎหมาย งดการนำเข้าสินค้าเข้ากลุ่มอียูถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดีและได้ผล จึงขอแสดงความยินดีกับประเทศไทย”เวลลา กล่าว

นอกจากนั้น อียูยังแสดงความยินดีที่ไทยได้แสดงท่าทีในการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์โดยการลงนามในอนุสัญญา C188 ซึ่งจากนี้ป อียูจะดำเนินการให้นานาประเทศแสดงท่าทีเหมือนกับประเทศไทยด้วย

 ขณะที่บริษัทด้านเกษตรกรรมอื่นๆเริ่มใช้แนวทางนี้กันมากขึ้น  เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ปัญหาขีดความสามารถในการผลิตย่ำแย่และรายได้ลดลงจนนำไปสู่พฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น  

ตัวอย่างเช่น ระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มก็มีปัญหาอื้อฉาวว่าเอาเปรียบแรงงาน โดยเมื่อปีที่แล้ว สำนักงานคุ้มครองชายแดนและศุลกากรสหรัฐประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มจากผู้ผลิตชาวมาเลเซียรายใหญ่สองรายเพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน

อะพิคัล กรุ๊ป  หนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของอินโดนีเซียที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ และเอเชียน อะกริ บริษัทปลูกปาล์ม จัดทำโครงการร่วมกับบริษัทคาโอ ผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ภายในบ้านสัญชาติญี่ปุ่น ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มในท้องถิ่นรายเล็กปรับปรุงผลผลิตปาล์มและกระตุ้นยอดขาย  โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อนสนับสนุนสวนปาล์มกว่า 5,000 แห่ง ภายในปี 2573 ผ่านทางการเจรจา ให้ความรู้และให้แนวปฏิบัติทางด้านเทคนิค 

 “โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล” บริษัทเทรดดิงสัญชาติสิงคโปร์ ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตมะม่วงหิมพานต์ของบรรดาซัพพลายเออร์ในเวียดนามและที่อื่นๆทั่วโลกประมาณ 50% ภายในปี2573 พร้อมทั้งปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินชีวิตของบรรดาเกษตรกร

 ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ตอกย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งยังช่วยสร้างหลักประกันด้านเสถียรภาพอาหารและการเติบโตอย่างยั่งยืนของตลาดอาหารทั่วโลก