“แพนโดรา เปเปอร์ส” แฉผู้นำปกปิดทรัพย์สินต่างแดน
ผลงานการสอบสวนครั้งใหม่ของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) พบประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลกว่า 12 คน ตั้งแต่จอร์แดน ไปจนถึงอาเซอร์ไบจาน เคนยา และสาธารณรัฐเช็กใช้บริษัทในต่างประเทศปกปิดทรัพย์สินหลายร้อยล้านดอลลาร์
รายงานการสอบสวนที่ชื่อว่า “แพนโดรา เปเปอร์ส” เกี่ยวข้องกับนักข่าวราว 600 คน จากสื่อหลายสำนัก อาทิ วอชิงตันโพสต์ บีบีซี และเดอะการ์เดียน ศึกษาเอกสารหลุดราว 11.9 ล้านฉบับจากบริษัทบริการการเงิน 14 แห่งทั่วโลก พบว่า ผู้นำโลกทั้งอดีตและปัจจุบันราว 35 คน พัวพันกับสินทรัพย์มหาศาลที่ถูกกล่าวหาว่าได้มาโดยมิชอบ ฟอกเงิน และเลี่ยงภาษี
ไอซีไอเจย้ำว่า ในประเทศส่วนใหญ่ถือว่าการมีสินทรัพย์ในต่างแดนหรือตั้งบริษัทบังหน้าเพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่รายงานชี้ให้เห็นว่า เหล่าผู้นำที่อาจจะเคยหาเสียงไม่เอาการเลี่ยงภาษี ต่อต้านการทุจริต หรือทุ่มเทกับมาตรการรัดเข็มขัดในประเทศ กลับทำสิ่งตรงข้ามอย่างหน้าไม่อาย
รายงานเผยว่า กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดนตั้งเครือข่ายบริษัทต่างแดนเพื่อหลบเลี่ยงภาษีสำหรับอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ 100 ล้านดอลลาร์ในมาลิบู แคลิฟอร์เนีย, วอชิงตัน และลอนดอน
สถานทูตจอร์แดนในกรุงวอชิงตันไม่ให้ความเห็นในกรณีนี้แต่สำนักข่าวบีบีซีรายงานอ้างคณะทนายความของพระองค์ว่า ทรัพย์สินทุกอย่างซื้อด้วยความมั่งคั่งส่วนพระองค์ นี่เป็นวิถีปฏิบัติทั่วไปของบุคคลสำคัญที่ต้องซื้อสินทรัพย์ผ่านบริษัทต่างชาติด้วยเหตุผลเพื่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย
ครอบครัวและคนใกล้ชิดกับประธานาธิบดีอิลฮาม อาลิเยฟของอาเซอร์ไบจาน ที่ถูกครหาเรื่องทุจริตมานาน ก็มีชื่อในรายงานด้วยเช่นกันว่าแอบซื้ออสังหาริมทรัพย์หลายร้อยล้านในอังกฤษ
นายกรัฐมนตรีอันเดรจ บาบิสของสาธารณรัฐเช็ก ที่ต้องเจอการเลือกตั้งในสัปดาห์นี้ ชี้แจงไม่ได้เรื่องการใช้บริษัทลงทุนต่างประเทศซื้อชาโตว์มูลค่า 22 ล้านดอลลาร์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
เจ้าตัวทวีตข้อความในภายหลัง “ผมไม่ได้ทำอะไรผิดหรือทำผิดกฎหมาย” ทั้งยังมองว่า เรื่องนี้เป็นความพยายามป้ายสีเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง
ในภาพรวมไอซีไอเจพบบริษัทเกือบ 1,000 แห่งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงอีก 336 คน ในจำนวนนี้เป็นประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ รัฐมนตรี นักการทูต และอื่นๆ อีกหลายสิบคน เกี่ยวข้องกับการเงินฉาวโดยบริษัทกว่า 2 ใน 3 ตั้งขึ้นที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
เจอราร์ด ไรล์ ผู้อำนวยการไอซีไอเจ กล่าวว่า คนที่ปกปิดเรื่องราวเหล่านี้ได้ก็เพราะตนเองได้ประโยชน์ เงินที่ปกปิดไว้มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์
คนอื่นๆ ที่ถูกรายงานแฉ เช่นอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ของอังกฤษ ที่เคยวิจารณ์ช่องโหว่เรื่องภาษี แต่กลับเลี่ยงการจ่ายอากรอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอนหลายล้านปอนด์ ตอนที่เขาและเชอรี ภริยา ซื้อบริษัทต่างแดนเจ้าของสินทรัพย์นั้น
คนวงในนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่านของปากีสถาน เช่น รัฐมนตรีและครอบครัว ว่ากันว่าแอบเป็นเจ้าของบริษัทและทรัสต์ที่ถือทรัพย์สินหลายล้านดอลลาร์ จนข่านต้องรัวทวีตให้คำมั่น “จะจัดการอย่างเหมาะสมถ้าพลเมืองปากีสถานทำผิดจริง”
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียไม่ได้ถูกระบุชื่อในเอกสารโดยตรง แต่มีส่วนพัวพันผ่านสินทรัพย์ลับในโมนาโก ที่ชัดเจนคือบ้านริมน้ำหลังหนึ่งของหญิงรัสเซียที่เชื่อกันว่ามีลูกกับปูตินหนึ่งคน ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์
ประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตาของเคนยา ผู้รณรงค์ต่อต้านการทุจริตเรียกร้องความโปร่งใสด้านการเงิน ถูกกล่าวหาร่วมกับสมาชิกในครอบครัวหลายคน แอบเป็นเจ้าของบริษัทหลายแห่งในต่างประเทศ
คนดังนอกแวดวงการเมืองก็มีเช่นกัน อาทิ ชากีรา นักร้องชาวโคลอมเบีย คลอเดีย ชิฟเฟอร์ ซูเปอร์โมเดลชาวเยอรมัน และซาชิน เทนดุลการ์ เจ้าตำนานคริกเก็ตอินเดีย ตัวแทนของทั้งสามคนแจ้งกับไอซีไอเจว่า การลงทุตของตนถูกต้องไม่มีการเลี่ยงภาษี