Green Cycling ปั่นสานสัมพันธ์ ‘70 ปี ไทย-ปากีสถาน’
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 70 ปี ไทย-ปากีสถาน สะท้อนนัยแห่งมิตรภาพชวนติดตาม
ไทยกับปากีสถานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2494 นับถึงวันนี้ได้ 70 ปีแล้ว ที่มิตรภาพพัฒนาไปในหลากหลายมิติและลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เห็น จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และประชาชนกับประชาชน เห็นได้จากแค่การจัดกิจกรรมแรกที่กลายเป็นการปั่นจักรยานกลางสายฝน (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมงานและคนที่ดูข่าวผ่านสื่อท้องถิ่น กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยกับ จักรกฤดิ กระจายวงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ถึงกิจกรรมในวาระพิเศษนี้
ทูตจักรกฤดิเล่าว่า การเฉลิมฉลองเปิดฉากขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศไทยจัดพิธีเปิดตัวสัญลักษณ์ครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและปากีสถาน ผ่านระบบ VDO Conference โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์อันยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ หลังจากนั้น 10 ต.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 70 ปี มีการจัดกิจกรรมที่เรียกความสนใจได้ไม่น้อย
"วันที่ 10 ต.ค.ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์พอดี ผมก็เลยคิดกับน้องๆ ว่า น่าจะมีกิจกรรมสักอย่างที่ทำได้อย่างรวดเร็ว งั้นมาปั่นจักรยานกันมั้ย วันอาทิตย์สบายๆ" ทูตเล่า ด้วยเหตุนี้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัดร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน และสมาคมจักรยานกรุงอิสลามาบัดจึงจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน ภายใต้ธีม Green Cycling ในโอกาสวันครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ทุกฝ่ายอย่างลงตัว
ทูตจักรกฤดิอธิบายว่าที่เลือกการขี่จักรยานเพราะกีฬาเป็นกิจกรรมที่เข้าถึงได้ทุกคนไม่ว่าชาติไหน นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่านของปากีสถานนั้นเคยเป็นนักคริกเก็ตชื่อดังก้องโลกมาก่อน คนปากีสถานรักการออกกำลังกาย และรัฐบาลของเขามีโครงการ Green and Clean Initiative การปั่นจักรยานจึงเข้ากับนโยบายของปากีสถาน
“ผมเป็นคนต่างจังหวัด พอขี่จักรยานก็นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่กลับถึงบ้านต้องรีบคว้าจักรยานมาปั่น กว่าจะกลับก็ดึกๆ ดื่นๆ ได้ขี่จักรยานแล้วก็นึกถึงเพื่อน หนังไทยหลายเรื่องมีฉากปั่นจักรยานที่สะท้อนถึงมิตรภาพ ที่สำคัญคือไม่ค่อยมีคนปั่นจักรยานถอยหลังกันหรอกครับ ต้องปั่นไปข้างหน้าซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ที่มุ่งไปข้างหน้า" ทูตเฉลยถึงความหมายเบื้องหลัง
นัยของการขี่จักรยานยังไม่หมดแค่นี้ เส้นทางการปั่นก็เปี่ยมไปด้วยความหมายเพราะเริ่มต้นจากบ้านพักข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถานในกรุงอิสลามาบัด ขี่ผ่านเส้นทางบนถนนสายหลักที่เปรียบได้กับถนนราชดำเนินบ้านเรา ปลายทางอยู่ที่สถานทูตไทย
“เหมือนขี่จากบ้านเขามาบ้านเรา เหมือนชวนเพื่อนขี่จักรยานมาบ้าน” ทูตไทยเปรียบ
ระหว่างทำกิจกรรมที่เริ่มต้นขึ้นในยามแดดร่มลมตก 16.00 น. เพื่อให้ได้บรรยากาศสวยงาม แต่ปั่นกันได้ไม่เท่าไหร่ ฝนก็ตกลงมาแบบไม่มีใครตั้งตัว กระนั้นแขกทุกคนรวมถึง อะศิม อิฟติคัร อะห์มัด รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเอเชียแปซิฟิกและโฆษกกระทรวง (อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย) Nabeel Munir รองปลัดฯ ฝ่ายสหประชาชาติ และ Aamer Ahmed Atozai อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกกลับไม่มีใครหวาดหวั่น
"สักพักฝนก็เริ่มลงเม็ด เจ้าหน้าที่เขาก็เริ่มห่วงเรา กลัวไม่รอด เขาก็ถามท่านอะศิมว่าจะเลิกหรือไปต่อ เราก็มองหน้ากัน พยักหน้า 'ลุย' ฝนก็ลงมาเรื่อยๆ หนักบ้าง เบาบ้าง ผมปั่นไปก็มองคนไป เพราะเราเป็นเจ้าภาพก็เป็นห่วง แต่เขาบอกว่า สนุกมาก รองปลัดฯ ประจำยูเอ็นบอกว่า เรารักประเทศไทยมาก มาปั่นจักรยานกันกลางสายฝน ส่วนอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกหัวเราะใหญ่ ถามว่า จำได้มั้ย เราปั่นจักรยานกันกลางสายฝนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ตอนเป็นเด็กๆ ไม่มีเด็กคนไหนเจอฝนตกแล้วบอกว่า เรากลับบ้านกันดีกว่า เราก็พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เป็นเรื่องน่าจดจำที่เล่าขานกันได้ไม่รู้จบ ปั่นธรรมดาโลกไม่จำ ต้องปั่นแบบนี้" ทูตไทยเล่าพลางยิ้มพลางเมื่อนึกถึงความสนุกสนาน
ครั้นขบวนจักรยานถึงที่หมายก็มีอาหารไทยและรำไทยต้อนรับกันตามธรรมเนียม ทูตจักรกฤดิเล่าว่า งานนี้ได้นักศึกษาไทยและลูกหลานข้าราชการมาช่วย นักศึกษาคนหนึ่งสาธิตการทำชาชัก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าชาวปากีสถานที่มีชาอร่อยอยู่แล้วจะชื่นชอบชาชักของไทยถึงกับขอเพิ่ม จากนั้นก็มีรำวงเชื่อมสัมพันธไมตรี
"เราอยู่กระทรวงคุ้นกับการไปประชุมต่างประเทศ ใส่สูท เตรียมเอกสาร แต่ไม่มีประโยชน์เลยถ้าประชาชนไม่ร่วมด้วย วันนั้นมีทั้งสมาคมจักรยานมาช่วย สื่อมาทำข่าวบอกว่าไม่เคยเห็นสถานทูตที่จัดงานแบบนี้ ผมไปงานมีคนมาทักว่า วันก่อนยูไปปั่นจักรยานมาใช่มั้ย มีคนทักกันใหญ่ ทำให้คนรู้จักเมืองไทย และรู้เรื่อง 70 ปีความสัมพันธ์สองประเทศมากขึ้น"
นั่นแค่กิจกรรมแรก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัดยังมีแผนจัดกิจกรรมในวาระสำคัญนี้อีกมากมาย ได้แก่ การสร้างที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่เดิมเก็บไว้ในตักสิลา โดยออกแบบร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับศิลปะคันธาระ ที่ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ปากีสถานเห็นแบบแล้วอนุมัติทันที เพราะปากีสถานก็อยากส่งเสริมแหล่งอารยธรรมในประเทศเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ปากีสถานยังขึ้นชื่อเรื่องการผลิตลูกฟุตบอลและถุงมือจากยางและลาเท็กซ์คุณภาพระดับโลกของไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ได้สั่งผลิตลูกฟุตบอลที่มีสัญลักษณ์ 70 ปีความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน เป็นของขวัญราคาไม่แพงนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ ทั้งในไทยและปากีสถาน
กิจกรรมต่อไปกลางปีหน้าจะมีการจัดไทยเฟสติวัลที่เมืองละฮอร์ นำภาคธุรกิจไทยและปากีสถานมาร่วมงานเพื่อสานต่อความสัมพันธ์ด้านธุรกิจไม่ให้ขาดหาย จัดงานประกวดภาพถ่าย ให้คนปากีสถานที่เคยไปเที่ยวเมืองไทยส่งภาพมาประกวด เพื่อแสดงความคิดถึงเมืองไทย จัดการแข่งขันกีฬาระหว่างกัน เชิญบุคคลสำคัญฝ่ายปากีสถานมาปลูกต้นไม้ในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด เพื่อสร้างความร่มรื่นตามแนวทางกรีน
"สถานทูตเรากำลังดูศิลปินชาวปากีฯ ที่ทำศิลปะบนรถบรรทุก จะเชิญชวนมาทำงานศิลปะบนกำแพงสถานทูตเรา อยากให้เขาเห็นว่า เราชื่นชมศิลปะของเขา ให้คนปากีสถานที่มาขอวีซ่ารู้สึกดี ต้นปีหน้าน่าจะทำได้ จะเป็นกำแพงสถานทูตที่สวยงามเข้ากับบรรยากาศของคนพื้นเมือง"
หากมองย้อนกลับมาที่เมืองไทยในมุมของทางการปากีสถานชาวไทยปาทานเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน แล้วสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด มีตัวช่วยใดบ้าง ทูตจักรกฤดิกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมองในภาพรวม ตั้งแต่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศปากีสถานก็เป็นตัวช่วย ที่สำคัญคือประเทศไทยของเราเอง
“ประเทศเราเป็นที่ที่คนปากีสถานชอบมาเที่ยว ประเทศเขาเองก็สวยงาม คนก็ชอบมาเที่ยวคันธาระ อุปนิสัยใจคอระหว่างคนไทยกับคนปากีสถานก็คล้ายคลึงกัน นี่ก็เป็นตัวช่วยสำคัญ คนปากีฯ อัธยาศัยดีมาก เห็นคนต่างชาติก็อยากต้อนรับ” ทูตจักรกฤดิกล่าวพร้อมสรุปว่า ทั้งตัวประเทศไทย ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลกับรัฐบาล ประชาชนกับประชาชน ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนมิตรภาพระหว่างสองประเทศ
อีกหนึ่งความประทับใจที่ชาวปากีสถานมีให้กับประเทศเราคือ “มวยไทย” ทูตจักรกฤดิเคยติดต่อสมาพันธ์มวยไทยปากีสถานที่เมืองละฮอร์ พบว่า ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายสนใจมาเรียนมวยไทยเป็นจำนวนมาก เด็กผู้หญิงเตะได้สวยงาม จุดสูงสุดของเด็กๆ ที่มาเรียนมวยไทยคืออยากมาเมืองไทย วันชาติไทยปีนี้ทูตจึงมีแผนเชิญเด็กๆ ชาวปากีสถานมาแสดงมวยไทยด้วย
ส่วนความเป็นอยู่ของคนไทย เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด เล่าว่า คนไทยในปากีสถานมีประมาณ 800 คน ส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษา มาเรียนในมหาวิทยาลัย ที่มาเรียนหลักสูตรอินเตอร์ก็มี ในกรุงอิสลามาบัดมีคนไทยประมาณ 170 คน เป็นนักศึกษา 110 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ และมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่แต่งงานกับเจ้าหน้าที่สถานทูตอื่นๆ หรือเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ที่ทำงานโรงแรมและร้านอาหารก็มีอยู่บ้าง
ที่การาจีมีคนไทยที่แต่งงานกับคนปากีสถาน ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นชุมชนกลืนกับสังคมท้องถิ่นแล้ว โดยเฉพาะในเมืองบัตตากราม ทั้งนี้ การติดต่อสถานทูตทำได้ใกล้ชิด มีไลน์กรุ๊ปติดต่อกันได้ง่าย หรือมาติดต่อด้วยตนเองเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการ ที่ผ่านมาคนไทยในปากีสถานไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนในอัฟกานิสถานซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัดด้วยนั้น ขณะนี้ไม่มีคนไทยอยู่แล้ว
ด้านโอกาสการลงทุนขณะนี้ไทยกับปากีสถานกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ถ้าประสบความสำเร็จก็เป็นโอกาสดี ปากีสถานมีวัตถุดิบที่ดีโดยเฉพาะสินค้าประมง โอกาสการมาทำธุรกิจด้านประมงจึงมีมาก
"ปากีสถานกำลังทำโครงการ CPEC (China-Pakistan Economic Corridor) สร้างท่าเรือและเส้นทางคมนาคมไปถึงจีน ก็เป็นโอกาสอันดีของนักลงทุนชาวไทย" ทูตจักรกฤดิกล่าวทิ้งท้ายถึงนักลงทุน