"สหรัฐ" ชูต้นแบบ "เน็ต ซีโร่" ดึง "ไทย" ร่วมลดปล่อยมลพิษ

"สหรัฐ" ชูต้นแบบ "เน็ต ซีโร่" ดึง "ไทย" ร่วมลดปล่อยมลพิษ

"สหรัฐ" โชว์ความเป็นต้นแบบ มุ่งขับเคลื่อนสู่ Net Zero หวังดึงประเทศไทย ร่วมลดปล่อยมลพิษ โดยมอบความช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดำเนินการตาม COP26 เพราะเชื่อว่าไม่มีประเทศใดแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศได้เพียงลำพัง

สหรัฐ” ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นแบบอย่างแก่ประเทศต่างๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญเพื่อรับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาท้าทายทั่วโลก

“ไมเคิล ฮีธ” อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า สหรัฐทุ่มเทเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยกให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของนโยบายด้านการบริหารประเทศและการต่างประเทศของสหรัฐ

ทั้งยังแต่งตั้ง“จอห์น แคร์รี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของประธานาธิบดีสหรัฐ หวังเดินหน้าด้วยพลังแห่งการเป็นต้นแบบสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

 

\"สหรัฐ\" ชูต้นแบบ \"เน็ต ซีโร่\" ดึง \"ไทย\" ร่วมลดปล่อยมลพิษ

ในการประชุมสุดยอดผู้นำ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวันคุ้มครองโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีบรรดาผู้นำจากหลายประเทศ รวมถึงไทยเข้าร่วม ระหว่างการประชุม สหรัฐประกาศว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลง 50-52% ภายในปี 2573 

นอกจากนี้ สหรัฐยังมุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

“สหรัฐกำลังลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อดำเนินการในด้านที่ท้าทายเหล่านี้ให้สำเร็จ” อุปทูตฮีธกล่าว 

รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมในทุกภาคส่วน ด้วยการเชื้อเชิญให้หลากหลายประเทศ เมือง ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ กลุ่มประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมกันสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อันจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั่วกัน

 

\"สหรัฐ\" ชูต้นแบบ \"เน็ต ซีโร่\" ดึง \"ไทย\" ร่วมลดปล่อยมลพิษ

ขณะนี้ หลายประเทศประกาศความมุ่งมั่นด้านสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายยิ่งขึ้น หรือมีแผนเพิ่มเป้าการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ก่อนถึงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่26 (UN Climate Change Conference : COP26)

แต่สหรัฐต้องการเห็นความพยายามมากกว่านี้  และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ก็ย้ำมาตลอดว่า ต้องจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา

สหรัฐมอบความช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดำเนินการตาม COP26 ภายใต้ความเชื่อว่าไม่มีประเทศใดที่สามารถแก้ไขสถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศได้เพียงลำพัง และสหรัฐจะทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากเพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนารับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศว่า สหรัฐจะมอบความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มจากเดิมเป็น 2 เท่า นั่นคือเพิ่มเป็นมูลค่า 11,400 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2567 

สหรัฐ มีโครงการความช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐ (USTDA) รวมไปถึงโครงการในไทยที่มุ่งเน้นทั้งการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สหรัฐสนับสนุนให้ทุกประเทศยกระดับความมุ่งมั่นดำเนินการและเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศก่อนการประชุม COP26 ในเดือน พ.ย.ปีนี้

“สหรัฐยกย่องความพยายามของไทยในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมไปถึงโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)” อุปทูตฮีธ กล่าวและว่า การดำเนินการระดับทวิภาคีที่หลากหลายของสหรัฐ ครอบคลุมประเด็นมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการเกษตร พลังงาน การคมนาคม และภาคส่วนอื่นๆ 

 

\"สหรัฐ\" ชูต้นแบบ \"เน็ต ซีโร่\" ดึง \"ไทย\" ร่วมลดปล่อยมลพิษ

สหรัฐให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่หน่วยงานภาครัฐของไทย เช่น โครงการระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ส่งเสริมการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในโครงข่ายไฟฟ้าของไทย และสหรัฐยังเป็นสะพานเชื่อมโยงไทยกับบริษัทอเมริกัน ผ่านสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เข้าถึงเงินทุนผ่านหน่วยงานความร่วมมือทางการเงิน เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (DFC) ซึ่งมีสำนักงานระดับภูมิภาคในกรุงเทพฯโดยเป็นสำนักงานที่นำเสนอเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ฮีธ ยกตัวอย่างโครงการสีเขียวของสหรัฐในไทยหลายโครงการ โดยขณะนี้สหรัฐกำลังสนับสนุนโครงการสีเขียวในหลายภาคส่วนของไทย หนึ่งในนั้นคือภาคยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) บริษัทวิศวกรรมแถวหน้าของสหรัฐอย่าง Black and Veatch กำลังช่วยเปลี่ยนยานพาหนะ 14,500 คันของบริษัทเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้การสนับสนุนจาก USTDA 

นอกจากนี้ USAID ยังช่วยองค์กรกำกับดูแลด้านไฟฟ้าของไทยกำหนดอัตราค่าชาร์จไฟฟ้า และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ก็ช่วยเหลือการไฟฟ้านครหลวงพัฒนาแผนเตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า 

สหรัฐมีนโยบายที่ครอบคลุม ซึ่งสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ เช่น หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ ที่ส่งเสริมโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาตลาดไฟฟ้าของชาติ การค้าพลังงานข้ามพรมแดน การอำนวยการส่งพลังงานข้ามพรมแดน การขับเคลื่อนและการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด

 

\"สหรัฐ\" ชูต้นแบบ \"เน็ต ซีโร่\" ดึง \"ไทย\" ร่วมลดปล่อยมลพิษ