ธุรกิจโบกมือลา "เมียนมา" ตั้งแต่บริษัทยุโรป-อินเดีย
ในขณะนี้บริษัทต่างชาติจำนวนมาก ตั้งแต่บริษัทในยุโรป ไล่เรียงไปจนถึงบริษัทอินเดีย พากันถอนตัวออกจากเมียนมา
ส่วนบริษัทญี่ปุ่นก็อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไป ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของเมียนมาที่ชะงักงันเพราะปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหารในเดือนก.พ. ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน จากการปราบปรามผู้เห็นต่าง
เมโทร บริษัทค้าส่งสัญชาติเยอรมนีก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ตัดสินใจถอนตัวจากเมียนมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทประกาศดำเนินธุรกิจในประเทศนี้วันที่31ต.ค.เป็นสุดท้าย โดยให้เหตุผลเรื่องการลงทุน และบรรยากาศทางธุรกิจที่ไม่แน่นอน
“บรรยากาศทางธุรกิจและการเมืองในเมียนมาขณะนี้ ทำให้เราไม่สามารถดำเนินธุรกิจที่มีมาตรฐานสูงในรูปแบบของเราได้อีกต่อไป”แถลงการณ์ของบริษัทเมโทร ระบุ
เมโทร เริ่มเข้ามาทำธุรกิจค้าส่งในเมียนมาตั้งแต่ปี 2562 โดยทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์อาหารให้แก่ร้านอาหารและโรงแรมต่างๆในเมียนมา ผ่านทางการร่วมทุนกับโยมา สตราติจิก โฮลดิงส์ หน่วยงานในเครือบริษัทโยมา กรุ๊ป และบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ก็ได้รับเงินทุนจากอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ คอร์ป ของเวิลด์แบงก์ กรุ๊ป ซึ่งคาดหวังว่าเมโทรและบริษัทหุ้นส่วนจะช่วยพัฒนาคุณภาพระบบห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทั้งระบบของเมียนมาให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้แก่บรรดาเกษตรกรในเมียนมา
“เมลวิน พุน” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)โยมา สตราติจิก โฮลดิงส์ กล่าวว่า รายได้ที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและคาเฟ่เพราะปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทตัดสินใจถอนตัวจากธุรกิจในประเทศนี้
“เราขอยุติการทำธุรกิจทั้งหมดในเมียนมารวมทั้งธุรกิจร่วมทุน จากนั้นเราจะขายสินทรัพย์และธุรกิจที่เหลืออยู่ให้หมดเป็นอันดับต่อไป”พุน กล่าว
การตัดสินใจของเมโทร มีขึ้นหลังจากบริษัทยุโรปเผชิญหน้ากับแรงกดดันมากขึ้นจากบรรดาผู้ถือหุ้นที่ให้ความสำคัญกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะทุกวันนี้ ทหารเมียนมายังคงเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง
เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เทเลนอร์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ ได้ตัดสินใจขายหน่วยงานด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่ในเมียนมา ในวงเงิน 105 ล้านดอลลาร์ ส่วนบริษัทบริติช อเมริกัน โทแบคโค กำลังวางแผนที่จะถอนตัวจากธุรกิจในเมียนมาภายในปลายปีนี้เช่นกัน
แต่การถอนตัวจากเมียนมาไม่ได้เกิดกับบริษัทยุโรปเท่านั้น บริษัทสัญชาติอินเดียอย่าง “อะดานิ พอร์ท แอนด์ สเปเชียล อีโคโนมิค โซน”ของอินเดีย ก็ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะถอนธุรกิจออกจากเมียนมา โดยบริษัทที่บริหารท่าเรือของอินเดียแห่งนี้ กำลังสร้างเทอร์มินอลสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่า 290 ล้านดอลลาร์ บนที่ดินที่เช่าจาก“เมียนมา อีโคโนมิค คอร์พอเรชัน” ซึ่งเป็นของกองทัพเมียนมา และถูกวิจารณ์ว่าสนับสนุนท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพเมียนมา
ขณะที่ในมิติการเมืองนั้น เมื่อวันที่ 28 ต.ค. สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากบรูไน ถือเป็นการปิดฉากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ โดยไม่มีตัวแทนจากเมียนมาเข้าร่วม
ในครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจของเมียนมา และไม่สามารถบอกได้ว่าเมียนมาจะเข้าร่วมการประชุมอาเซียนในครั้งต่อไปหรือไม่ ส่วน"เอรีวัน ยูซอฟ"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบรูไน ก็ย้ำว่า เมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอาเซียน หลังจากถูกถามว่า เมียนมาจะถูกขับออกจากอาเซียนหรือไม่
ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับแถลงการณ์ประธานอาเซียน ที่ย้ำถึงสถานะเมียนมาในเวทีอาเซียน และยอมรับว่า เมียนมาต้องการเวลาและพื้นที่ทางการเมือง เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อน นอกจากนี้อาเซียนยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม เพื่อถ่วงดุลระหว่างการรักษาหลักการอาเซียนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา