คามาลา แฮร์ริส 1 ปีที่โลกลืม
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 “คามาลา แฮร์ริส” กลายเป็นผู้หญิงคนแรกและคนผิวสีคนแรกที่ได้เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ แต่หนึ่งปีผ่านไปเธอยังพยายามแสวงหาบทบาทในตำแหน่งที่ถูกนิยามว่าไม่มีอะไร
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 78 ปี ร่วมทีมกับอดีตสมาชิกวุฒิสภารัฐแคลิฟอร์เนีย วัย 57 ปีรายนี้ เป็นการส่งสารชัดเจนไปถึงฐานเสียงว่า การบริหารประเทศของเขาต้องการมีตัวแทนอันหลากหลาย แต่การที่ไบเดนผู้เคยเป็นเบอร์สองของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกตลอดสองสมัยเลือกแฮร์ริสทำให้สปอตไลท์ส่องไปที่เธอเต็มๆ ขาลุยรายนี้เป็นผู้หญิงคนแรกและคนผิวดำคนแรกที่ได้เป็นอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งยังเป็นคนเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ได้เป็น ส.ว.
กระนั้น แฮร์ริส บุตรสาวของผู้อพยพชาวจาเมกาและอินเดียก็ยังไม่อาจทลายกรอบทั้งในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองและรัฐธรรมนูญสหรัฐที่สกัดตัวเธอเอาไว้ได้
“ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จของรองประธานาธิบดีหรอก รองฯ จะขึ้นหรือลงก็ขึ้นอยู่กับตัวประธานาธิบดีที่ตนทำงานให้” เอเลน คามาร์ค นักวิจัยอาวุโสสถาบันบรุคกิงส์ให้ความเห็น เธอเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทรองประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า บทบาทของรองฯ พัฒนาไปมากจากเดิมที่แทบจะเป็นตำแหน่งทางพิธีการเท่านั้น
กินข้าวเที่ยงกับไบเดน
เคยมีคนกล่าวติดตลกมานานแล้วว่า “รองประธานาธิบดีไปงานศพทั่วโลกในนามของประธานาธิบดี” คามาร์คอธิบาย แต่อัล กอร์เปลี่ยนโมเดลนี้ด้วยการทำงานใหญ่ที่ประธานาธิบดีบิล คลินตันมักให้ความสำคัญ
หลังจากนั้นก็ถึงคราวของดิค เชนีย์ อิทธิพลที่เขามีต่อจอร์จ ดับเบิลยู บุชนั้นชัดเจนถึงขนาดมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเชนีย์เรื่อง “Vice” ออกฉายในปี 2561
สำหรับโอบามา เขารักและนับถือไบเดนแบบมิตรภาพลูกผู้ชายและไบเดนเองก็เคารพบทบาทความเป็นผู้ช่วยของตนอย่างเต็มเปี่ยมขณะปรากฏตัวในที่สาธารณะ เมื่อไบเดนเป็นประธานาธิบดีโดยมีแฮร์ริสเป็นรองฯ เขารับประทานอาหารเที่ยงกับเธอสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ทีมงานของเขามักกล่าวถึง “รัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส” ในแถลงการณ์เสมอ แม้เมื่อออกสื่อจะเหลือแค่ “รัฐบาลไบเดน” อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ก็ตาม
ไม่เพียงเท่านั้น ไบเดนยังไว้ใจแฮร์ริส ผู้ครองเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ในประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองสุดๆ เช่น แก้ปัญหารากเหง้าของการลักลอบเข้าเมือง หลังจากผู้อพยพเข้ามาทางชายแดนภาคใต้พุ่งสูงขึ้นมาก
ส่วนหนึ่งของภารกิจที่แฮร์ริสได้รับมอบหมายคือเดือนมิ.ย. เธอเดินทางไปกัวเตมาลาและเม็กซิโก แต่ผลงานยังไม่เข้าตา ภารกิจต่างประเทศครั้งแรกของแฮร์ริสถูกวิจารณ์มากมาย
ฝ่ายก้าวหน้าในพรรคเดโมแครตประณามว่าแฮร์ริสหยาบกระด้างเกินไป หลังจากเธอบอกผู้ต้องการอพยพโดยไม่มีเอกสาร “อย่ามาสหรัฐ” แต่พรรครีพับลิกันกลับบอกว่า เธอยังกร้าวไม่พอ ทั้งยังมีเสียงลือเรื่องการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ในประเด็นการเข้าเมือง ที่เธอดูเหมือนประหม่าและไม่ได้เตรียมตัว
เว็บไซต์ข่าวสายอนุรักษนิยม Washington Examiner ได้ทีขุดแคมเปญหาเสียงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของแฮร์ริสขึ้นมาล้อเลียน
“ในฐานะผู้ท้าชิง เธอคือเสือกระดาษ ในฐานะนักการเมือง เธอกลับไปกลับมาไร้หลักการ เธอล้มเหลว ณ จุดนี้ เห็นได้ชัดว่าเธอไปไม่พ้นเพดานของตัวเอง”
แต่เมื่อกรุงคาบูลตกอยู่ในเงื้อมมือของตาลีบันและสหรัฐเร่งถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานเมื่อเดือน ส.ค. ทุกสายตาก็หันไปจับจ้องที่ไบเดนอีกครั้ง
มีแต่คนมุ่งร้าย
“เพราะเธอเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรก ฉันคิดว่าเธอจึงถูกมุ่งร้ายและจับตามากขึ้น ฉันไม่คิดว่าเธอทำอะไรผิดพลาดร้ายแรง เดี๋ยวพวกเขาก็ลืมกันแล้ว” คามาร์ค นักวิจัยรองประธานาธิบดีกล่าว
ถึงตอนนี้แฮร์ริสเองนั่นล่ะที่ดูเหมือนว่าถูกลืม เหมือนรองประธานาธิบดีอีกหลายคนก่อนหน้าเธอ
แฮร์ริสเดินทางไปงานราชการบ่อยครั้ง เดือน พ.ย.เธอจะไปกรุงปารีสสานต่อความพยายามปรองดองของไบเดน หลังจากทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจกรณีที่ออสเตรเลียลงนามข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์กับสหรัฐ ฉีกสัญญาเรือดำน้ำแบบเดิมมูลค่ามหาศาลที่เคยทำไว้กับฝรั่งเศส
งานอื่นๆ ของแฮร์ริสมีทั้งแสดงสุนทรพจน์ เป็นประธานงานต่างๆ และรับรองแขกคนสำคัญ บางครั้งเธอทวีตข้อความน่ารักๆ โต้ตอบกับสามี “สุภาพบุรุษหมายเลขสอง” ดัก เอ็มฮอฟฟ์ ให้เห็นอยู่ประปราย แต่ในที่สาธารณะแฮร์ริสยึดมั่นในพิธีการและไม่คุยกับผู้สื่อข่าว ซึี่งไม่น่าแปลกใจในทำเนียบขาวที่ควบคุมการสื่อสารทุกชนิดโดยละเอียด
ฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยเรียกแฮร์ริสว่า “ปีศาจ” กระพือความสงสัยไร้มูลด้วยท่าทีเหยียดเชื้อชาติเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองอเมริกันของเธอก็โดดลงมาร่วมวงล้อเลียนการวางตัวของรองประธานาธิบดีว่าฝืนทำ
เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับชาวรีพับลิกันที่ต้องโจมตีกันหนักขนาดนี้เพราะแฮร์ริสไม่ใช่แค่รองประธานาธิบดี แต่เป็นไปได้อย่างมากว่าเธอคือตัวแทนพรรคเดโมแครตถ้าไบเดนตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2567 และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยบอกเป็นนัยว่า อาจกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง